ในแต่ละช่วงวัยของมนุษย์มักมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นและเกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแต่รูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไป แต่ยังหมายรวมถึงความรู้สึกนึกคิดกังวล และความแข็งแรงของร่างกายที่เริ่มถดถอยตามอายุ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นปกติที่ทุกคนต้องเจอ แต่สำหรับบางคนอาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่จนกระทบกับการใช้ชีวิต เราเรียกอาการเหล่านี้ว่า ‘วิกฤติวัยกลางคน’
วิกฤติวัยกลางคน (Midlife Crisis) คืออะไร
วิกฤติวัยกลางคน คือ ช่วงวัยที่คุณรู้สึกสับสนกับตัวเอง ไม่มีความสุข และกระวนกระวายใจกับทุกความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายและปัญหาอื่น ๆ จนหมกมุ่น โดยอาการนี้จะเกิดขึ้นในช่วงอายุ 40-60 ปี และเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด
คุณอาจเริ่มรู้สึกหงุดหงิดกับความอ่อนแกของร่างกายตนเอง จากที่แต่ก่อนเคยทำงานได้เยอะกว่านี้ แต่ตอนนี้กลับทำได้น้อยลงเนื่องจากอายุที่มากขึ้น และเริ่มถามหาเป้าหมาย ความมั่นคงต่าง ๆ ในชีวิตของตนเอง หรือเริ่มมีความรู้สึกกังวลกับสุขภาพร่างกายไปจนถึงคิดว่าตนเองเริ่มแก่แล้วกลัวว่าจะใกล้ถึงเวลาต้องเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ซึ่งหากปล่อยไว้นาน ๆ อาการเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดความเครียดและภาวะซึมเศร้าตามมาได้
วิกฤติวัยกลางคนเกิดจากอะไร
- ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของช่วงวัย
เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุที่มากขึ้น ร่างกายของคุณก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลง และอาจประสบกับปัญหาสุขภาพที่มักพบในคนที่มีอายุมาก ผู้หญิงจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เลยทำให้ฮอร์โมนแปรปรวนส่งผลต่ออารมณ์ที่อาจจะไม่คงที่ ในขณะที่ผู้ชายอาจพบว่าฮอร์โมนเพศชายลดลง ทำให้เกิดอาการเศร้า นอนหลับยาก และความต้องการทางเพศลดลง
- สถานการณ์ครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป
หลายคนเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุกลางคน สิ่งที่เริ่มเปลี่ยนแปลงนั่นคือ ช่วงวัยนี้ลูก ๆ ของคุณอาจเริ่มออกไปใช้ชีวิตด้วยตนเอง ซึ่งคุณต้องเผชิญกับความรู้สึกที่ต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงนี้ หรือบางคนอาจเกิดภาวะเครียดกับการต้องดูแลพ่อแม่ที่อยู่ในวัยชรา และอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดอาการของวิกฤติวัยกลางคนได้ นั่นคือ ปัญหาการหย่าร้าง หรือการต้องเผชิญการสูญเสียบุคคลที่รักในครอบครัว
- เป้าหมายในชีวิตไม่สำเร็จ
บางคนอาจตั้งเป้าหมายว่าก่อนอายุเท่านี้จะต้องมีหน้าที่การงานที่ดี หรือต้องมีเงินเก็บเยอะ ๆ แต่เมื่อพอถึงวัยกลับทำไม่ได้ จึงทำให้รู้สึกผิดหวังในตนเอง และเริ่มรู้สึกเป็นกังวลกับอนาคตข้างหน้า
คุณกำลังประสบปัญหาวิกฤติวัยกลางคนหรือไม่
สำหรับคนที่กำลังอยู่ในช่วงวัยที่เสี่ยงต่อวิกฤติวัยกลางคน ให้ลองสังเกตตนเองดูว่าช่วงนี้ภาวะอารมณ์เป็นอย่างไร ซึ่งอาการที่เข้าข่ายการประสบปัญหาวิกฤติวัยกลางคนมี ดังนี้
- รู้สึกเศร้า ขาดความมั่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดความเศร้าหลังจากได้รับความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ และเศร้าในวันเกิดของตนเอง
- รู้สึกไร้ค่า สิ้นหวัง และผิดหวังกับหลายอย่างในชีวิต
- คิดถึงเรื่องราวในอดีตมากเกินไป
- เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นอยู่เสมอ
- เบื่ออาหาร
- เครียดจนเกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว
- อยากกลับไปมีรูปร่างหน้าตาเหมือนตอนสมัยที่ยังวัยรุ่น
- ตัดสินใจบางเรื่องอย่างโดยขาดการไตร่ตรองให้ดี
- ไม่สามารถจดจ่อกับงานที่ทำได้
วิกฤติวัยกลางคนต่างจากภาวะซึมเศร้าอย่างไร
อาการของวิกฤติวัยกลางคนจะมีความคล้ายกับคนที่เป็นภาวะซึมเศร้า บางคนที่เกิดอาการวิตกกังวลมาก ๆ หดหู่ ไม่มีความสุขกับหลายสิ่งในชีวิต หรือมีอาการหลายอย่างที่คล้ายกับวิกฤติวัยกลางคนอาจจะสงสัยว่าหรือตนเองเป็นโรคซึมเศร้ากันแน่
โดยอาการของวิกฤติวัยกลางคนจะมีความต่างจากอาการซึมเศร้าคือ บางครั้งอาการของวิกฤติวัยกลางคนจะเกิดขึ้นเป็นระยะสั้น ๆ และก่อให้เกิดการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เช่น คุณอาจจะรู้สึกกังวลเรื่องหน้าที่การงานของตนเองขึ้นมา แต่จู่ ๆ ความกังวลเหล่านั้นก็หายไป ในขณะที่ภาวะซึมเศร้าจะเป็นอาการที่ต่อเนื่อง และมีความคงเส้นคงวามากกว่า แต่ไม่ว่าอย่างไรทั้งสองอาการนี้ต่างก็ส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของคุณทั้งสิ้น จึงจำเป็นต้องได้รับคำปรึกษาหรือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
รับมือกับวิกฤติวัยกลางคนอย่างไร
หากคุณรู้สึกว่าตนเองอาจกำลังเผชิญกับวิกฤติวัยกลางคน อย่าปล่อยผ่านเด็ดขาดเพราะอาการเหล่านี้ท้ายที่สุดอาจจะทำให้คุณเกิดโรคเครียด หรือกลายเป็นโรคซึมเศร้าตามมาภายหลังได้ โดยคุณสามารถรับมือกับวิกฤติวัยกลางคนได้ ดังนี้
- ยอมรับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเองทั้งด้านรูปลักษณ์ และสุขภาพที่อาจจะเสื่อมถอยลง แต่ให้ค่อย ๆ บริหารจัดการวิธีการดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอีกครั้ง
- พบปะกับเพื่อนที่ส่งต่อพลังบวกให้กับคุณ พร้อมกับออกไปสังสรรค์บ้างเพื่อให้ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายมากเกินไป
- หางานอดิเรกที่คุณชื่นชอบทำ อาจจะเป็นความชื่นชอบในอดีต หรือการลองทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อให้รู้สึกว่าชีวิตยังมีเรื่องตื่นเต้นให้ทำอยู่
- ออกกำลังกายและกินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
- ปรึกษาแพทย์หรือนักบำบัดถึงอารมณ์และความรู้สึกของคุณ เพื่อให้นักบำบัดได้หาแนวทางช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพให้กับคุณ
อย่างไรก็ตาม หากคุณยังไม่มั่นใจว่าอาการที่เป็นอยู่ใช่อาการของวิกฤติวัยกลางคนหรือไม่ และอาการเหล่านั้นเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทบกับการใช่ชีวิตของคุณ ให้คุณไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา และป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าที่อาจตามมาได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส