ใครเคยมีอาการตัวสั่น มือชา ใจเต้นเร็ว พูดไม่ออก หรือมีอาการเสียงสั่น โดยเฉพาะเวลาที่ต้องออกไปพูดต่อหน้าสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน/นักศึกษา ที่ต้องออกไปนำเสนองานหน้าห้อง หรือแม้แต่วัยทำงานที่ต้องนำเสนองานในที่ประชุม อาการเหล่านี้ไม่เพียงแต่รบกวนคุณแต่ยังทำให้บุคลิกและความน่าเชื่อถือของคุณลดน้อยลงด้วย
ซึ่งอาการที่กล่าวมาเป็นอาการปกติที่สามารถเจอได้ทุกคน เมื่อต้องพูดหรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นชิน จึงเกิดความตื่นเต้น แต่หากคุณมีอาการเหล่านี้ตลอดเวลา และเป็นมายาวนานหลายเดือนแม้ว่าจะคุ้นชินกับสถานการณ์นั้น ๆ แล้วก็ตาม บางทีคุณอาจจะกำลังเผชิญกับ ‘โรคกลัวการเข้าสังคม’ อยู่ก็เป็นได้
ทำความรู้จัก โรคกลัวการเข้าสังคม
โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder หรือ Social Phobia) เป็นความผิดปกติของจิตใจที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล หรือกลัวการเข้าสังคม ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีปัญหาต่อเมื่อต้องพูดคุยกับผู้อื่น หรือการได้พบปะผู้คนใหม่ ๆ และกลัวการต้องเข้าสังคมเพราะกังวลว่าจะถูกผู้อื่นมองหรือตัดสินตนเอง ซึ่งแม้จะรู้ว่าความกังวลและความกลัวเหล่านั้นไม่มีเหตุผลอะไร แต่ก็ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตนเองได้
เป็นคนขี้อายหรือเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม
ความขี้อายอาจทำให้การเข้าสังคม การเรียน หรือการทำงานยากขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเหมือนกับการเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม เพราะความขี้อายอาจหายไปได้เมื่อเกิดความเคยชินกับสถานการณ์นั้น ๆ หรืออาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่ง หรือเกิดขึ้นกับตัวเฉพาะบุคคลเท่านั้น และอาการนี้จะหายไปเมื่อรู้สึกคลายความตื่นเต้น หรือคุ้นเคยกับผู้คนมากขึ้น
อาการของโรคกลัวการเข้าสังคม
1.อาการที่แสดงออกผ่านทางร่างกาย
- หน้าแดง
- คลื่นไส้
- เหงื่อออก
- ตัวสั่น
- ตัวแข็งเกร็ง
- พูดลำบาก
- รู้สึกจิตใจว่างเปล่า
- มีอาการวิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด
- มีอัตราการเต้นของหัวใจอย่างรวดเร็ว
2.อาการที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ
- ความวิตกกังวลอย่างรุนแรงทั้งก่อน ระหว่าง และหลังสถานการณ์ทางสังคม
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ทางสังคม หรือปลีกตัวเองอยู่ในที่ที่มีผู้คนไม่มาก
- เกิดความประหม่าและความกลัวที่จะทำสิ่งที่น่าอาย
- กังวลว่าคนอื่นจะสังเกตเห็นว่าคุณเครียดหรือวิตกกังวล
- รู้สึกว่าต้องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อช่วยให้กล้าเผชิญกับสถานการณ์ตรงหน้า
- ขาดเรียนหรือขาดงานเพราะความวิตกกังวล
- กลัวว่าจะถูกตัดสินโดยผู้อื่นหรือถูกทำให้อับอายต่อหน้าคนอื่น
โดยผู้ที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคมมักจะหาทางเลี่ยงสถานการณ์ต่าง ๆ และส่งผลกระทบในชีวิตประจำวันมากมาย เช่น ไม่กล้าถามคำถามในการสัมภาษณ์งาน การใช้ห้องน้ำสาธารณะ การคุยโทรศัพท์ การรับประทานอาหารในที่สาธารณะ ซึ่งคนเหล่านี้มักจะเกิดอาการกระวนกระวายใจเมื่อต้องรับประทานอาหารต่อหน้าคนแปลกหน้า เป็นต้น
สาเหตุของโรคกลัวการเข้าสังคม
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกลัวการเข้าสังคมมีด้วยกันหลายปัจจัย และปัจจัยทางกายภาพ ชีวภาพ และพันธุกรรมน่าจะมีบทบาทเกี่ยวข้องเช่นกัน รวมไปถึงความสมดุลของฮอร์โมนเซโรโทนิน โดปามีน และกลูตาเมต ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับสมองและมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะอารมณ์ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่อาจช่วยส่งเสริมให้เกิดอาการของโรคกลัวการเข้าสังคม ดังนี้
- เคยถูกล่วงละเมิดในรูปแบบต่าง ๆ
- มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนน้อยทำให้ขาดความมั่นใจ
- การเลี้ยงดูของครอบครัวที่เข้มงวด ขาดอิสระทางความคิด
- ประสบการณ์เลวร้ายในอดีต ที่อาจทำให้เกิดโรคเครียด และเกิดความวิตกกังวลทางสังคมตามมา
โรคกลัวการเข้าสังคมต้องรักษาอย่างไร?
หากคุณกังวลว่าตนเองอาจจะเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม ขั้นตอนแรกให้คุณปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายของคุณก่อนว่ามีอาการของโรคอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ พร้อมทั้งให้ข้อมูลประวัติของคุณเพื่อให้แพทย์มั่นใจว่าไม่มีปัจจัยเกี่ยวกับโรคทางร่างกายอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
จากนั้นแพทย์อาจแนะนำให้คุณได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพื่อรักษาด้วยวิธีการจิตบำบัดต่อไป
นอกจากนี้ ตัวผู้ป่วยอาจลองสังเกตและรู้เท่าทันอาการของตนเองพร้อมไปกับการฝึกฝนควบคุมจิตใจ ไม่ให้กังวลหรือประหม่าในสถานการณ์ที่ต้องพบเจอกับผู้คน โดยกำลังใจจากบุคคลใกล้ชิดถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้น
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส