การกรนเป็นเรื่องปกติที่พบได้เวลานอน ส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบได้มากขึ้นในคนที่มีน้ำหนักตัวมาก การกรนมีหลายระดับ คุณอาจเคยได้ยินเพื่อนหรือแฟนของคุณกรนเสียงดังจนนอนไม่หลับ บางคนกรนแบบไล่ระดับเสียงก็มีเหมือนกัน นอกจากการกรนจะเป็นปัญหาต่อการนอนของเพื่อนร่วมห้องแล้ว การกรนบางแบบยังเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตรายได้ด้วย
ทำไมถึงกรน?
เสียงกรนที่เราได้ยินกันเป็นผลมาจากการที่ทางเดินหายใจส่วนบนแคบลง เช่น เยื่อบุโพรงจมูกบวมทำให้คัดจมูก กล้ามเนื้อขากรรไกร ลิ้น และเพดานอ่อนหย่อนตัวลงจนปิดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นทางที่ลมหายใจเข้าและออก พอแรงลมถูกดันออกมาก็ต้องผ่านอวัยวะที่หย่อนตัวและเบียดเสียดกันอยู่ เลยทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนและเกิดเสียงกรนขึ้นนั่นเอง
ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจทำให้คุณกรนได้มากกว่าคนอื่น เช่น
- เพศ ผู้ชายมักมีโอกาสกรนมากกว่าผู้หญิง
- น้ำหนักตัวมาก
- โรคหวัด โรคภูมิแพ้ โรคหอบทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวม ลมจึงผ่านได้ยาก
- การดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์กระตุ้นให้กล้ามเนื้อคลายตัวมากกว่าปกติ
- ภาวะผนังโพรงจมูกคดที่เป็นแต่กำเนิด
- เนื้องอกในโพรงจมูก
- ปัญหาด้านการนอนหลับส่งผลให้หลับลึก กล้ามเนื้อจึงคลายตัวมากขึ้น
- การนอนหงาย เพราะทำให้ลิ้นและอวัยวะหย่อนตัวและไปปิดกั้นทางเดินหายใจได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ใครที่พ่อแม่หรือพี่น้องนอนกรนก็อาจจะนอนกรนด้วยเหมือนกัน
กรนแบบไหนควรไปหาหมอ?
การนอนกรนแบ่งได้ 2 แบบ กรนแบบปกติและกรนแบบอันตราย คนส่วนใหญ่มักกรนแบบปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้ตื่นมาเจ็บคอ คอแห้ง นอนหลับได้ไม่เต็มที่ และอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์จากการนอนกรนด้วย
ส่วนกรนแบบอันตรายเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ชื่อว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) ลักษณะเป็นการกรน ๆ หยุด ๆ เป็นช่วง โดยช่วงที่หยุดกรนเป็นผลมาจากทางเดินหายใจส่วนบนถูกปิดกั้นทั้งหมด หมายความว่าลมหายใจไม่สามารถผ่านไปได้เลย ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจนหยุดไปชั่วขณะ สมองและร่างกายจึงขาดออกซิเจน
ความรุนแรงขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่หยุดหายใจ โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5 ครั้ง/ชั่วโมง ในรายที่รุนแรงอาจหยุดหายใจถึง 30 ครั้ง/ชั่วโมงเลยทีเดียว หากเกิดภาวะหยุดหายใจถี่ขึ้นก็ยิ่งเป็นอันตราย เพราะเท่ากับว่าสมองขาดออกซิเจนมากขึ้นเรื่อย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพเรื้อรังได้หลายโรค หากรู้ว่ามีอาการนี้ ควรไปพบหมอเพื่อรักษา
สัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ควรไปหาหมอ
การกรนเพียงอย่างเดียวอาจบอกไม่ได้ชัดเจน และบางคนอาจนอนเหงาเปล่าเปลี่ยวอยู่คนเดียวเลยไม่มีใครช่วยฟังเสียงกรนให้ Hack for Health เลยเอาวิธีสังเกตภาวะหยุดหายใจขณะหลับมาให้ลองเช็กกัน
- ได้รับผลกระทบจากการนอนกรน: ง่วงตอนกลางวัน ไม่มีสมาธิ ปวดหัวหลังตื่นนอน หงุดหงิดง่าย เจ็บคอ อารมณ์ทางเพศลดลง
- กรนเสียงดังจนปลุกคนอื่นกลางดึก
- กรน ๆ หยุด ๆ ซึ่งเวลาหยุดมักจะหยุดไปหลายวินาทีและกลับมาพร้อมการหายใจเข้าเสียงดังเหมือนคนขาดอากาศ
- ตื่นกลางดึก เพราะหายใจไม่ทัน ขาดอากาศ หายใจเฮือก หรือสำลัก
หากคุณมีอาการเหล่านี้ ไม่ว่าจะจากการสังเกตด้วยตัวเองหรือเพื่อนร่วมห้องบอก ควรไปตรวจและวางแผนการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาที่อาจตามมา เช่น โรคนอนไม่หลับ โรคหัวใจ ปัญหาการนอนหลับของคนใกล้ตัวที่นำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์
สำหรับใครที่กรน แต่ไม่ได้กรนหนัก แนะนำว่าให้ลดปัจจัยเสี่ยง เช่น ลดน้ำหนัก ลดการดื่มแอลกอฮอล์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ นอนตะแคง ส่วนใครที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการกรน การใช้ยาและดูแลตัวเองตามที่หมอแนะนำอาจช่วยให้กรนน้อยลงได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส