เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืนของ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด หรือ BDMS ที่หลายคนรู้จักได้ให้สัมภาษณ์ในหัวข้อ ‘เป้าหมายของ BDMS สู่นวัตกรรมทางการแพทย์อย่างยั่งยืน’ ณ ริมคลองคาเฟ่ Mövenpick Hotels & Resorts ถนนวิทยุ
โดยในช่วงเริ่มสัมภาษณ์ ดร.พัชรินทร์ ได้เผยหมุดหมายใหม่ของ BDMS ว่าจะมุ่งหน้าสู่ความเป็นเลิศด้าน Health Tech แม้เพิ่งประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ทาง BDMS ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานมาเป็นเวลาหลายปีเพื่อพัฒนานวัตกรรมสุขภาพที่ช่วยส่งเสริมและรักษาสุขภาพของคนไทย โดยมุ่งเน้นการดูแลเชิงป้องกัน (Preventive care) เพื่อลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยในแนวคิดการให้บริการแบบ Faster, Better, and Cheaper รวมทั้งเทคโนโลยีที่ช่วยให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น
ดร.พัชรินทร์ ได้ให้นิยามความยั่งยืนในหัวข้อการสัมภาษณ์นี้ว่าต้องเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยให้ทุกฝ่ายเติบโตไปด้วยกันได้ ทั้งผู้รับบริการ สังคมไทย บุคลากรทางแพทย์ และ BDMS เองด้วย ในการสัมภาษณ์ ดร.พัชรินทร์ ได้พูดถึง Health Tech จาก BDMS ที่เปิดตัวแล้วและกำลังจะเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้ เช่น
Ooca (อูก้า) แอปพลิเคชัน Telehealth หรือการปรึกษาแพทย์ทางไกลที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพจิตของผู้คนด้วยการบริการจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผ่านแอปพลิเคชัน ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพจิตของผู้คนที่เพิ่มสูงขึ้น
คนที่มีปัญหานี้จำนวนไม่น้อยไม่ต้องการเปิดเผยสถานะการเจ็บป่วย การได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญทางออนไลน์จึงสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แอปพลิเคชันนี้เป็นการออกแบบมาเพื่อคนทุกคน โดยมีจุดมุ่งหมายในเชิงป้องกันภาวะทางอารมณ์ที่รุนแรงขึ้นตั้งแต่เนิ่น
ดังนั้น คนที่จะใช้แอปพลิเคชัน Ooca ไม่จำเป็นต้องมีภาวะทางอารมณ์ แค่เครียด รู้สึกเศร้า หรือต้องการวิธีจัดการกับความรู้สึกที่รบกวนจิตใจก็สามารถใช้ได้ หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปเป็นโรคทางอารมณ์ แพทย์ผู้ให้บริการในแอปพลิเคชันสามารถแนะนำและส่งต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาลในเครือ BDMS ได้ด้วย โดยแอปพลิเคชัน Ooca (อูก้า) สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง iOS และ Android
Perceptra (เพอร์เซ็ปตร้า) เทคโนโลยี AI ที่ช่วยอ่านฟิล์มเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อตรวจหารอยโรคจากฟิล์มเอกซเรย์ได้อย่างรวดเร็ว โดย BDMS ได้เล็งเห็นว่ารังสีแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านภาพถ่ายรังสีในประเทศไทยไม่เพียงพอ ซึ่ง Perceptra ช่วยได้ ยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการวิเคราะห์ผลด้วยการอ่านฟิล์มเอกซเรย์เป็นจำนวนมาก
ซึ่งการมาของ Perceptra ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดย Perceptra เป็นหนึ่งใน Startup ที่ทาง BDMS ได้ให้การผลักดันและมีการร่วมกับมือกับโรงพยาบาลศิริราชในการฝึก AI ด้วยภาพเอกซเรย์ทรวงอกเป็นล้านภาพเพื่อความแม่นยำในการวิเคราะห์ ในเฟสต่อไปจะเริ่มฝึก AI ในการตรวจ Mammogram เพื่อการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม
Mineed (ไมนีด) นวัตกรรมการนำยาเข้าสู่ร่างกาย โดยที่เข็มสามารถละลายใต้ชั้นผิวหนังได้ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที โดยไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง ซึ่งเข็มละลายแบบเดิมใช้เวลา 6–8 ชั่วโมง Mineed สามารถนำมาปรับใช้ทั้งกับหัตถการด้านความสวยความงาม อย่างการฉีดโบท็อกซ์ และการรักษาโรค อย่างการใช้อินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน
Sukha (สุขา) การคิดค้นแผ่นปิดแผลด้วยการใช้เซลลูโลส (Cellulose) ชนิดพิเศษจากพืช ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีกว่าแผ่นปิดแผลด้วยเซลลูโลสแบบเดิม เพราะโดยปกติแผ่นแปะแผลชนิดนี้มักต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งโปรเจกต์ Sukha สามารถช่วยให้โรงพยาบาลในไทยสามารถใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและทดแทนการนำเข้าแผ่นปิดแผล
นอกจากนี้ BDMS เตรียมปล่อยแอปพลิเคชันสุขภาพแบบ One-Stop service ที่ชื่อ BeDee (บีดี) ซึ่งเป็นการนำระบบ Ecosystem ของโรงพยาบาลมาอยู่บนแอปพลิเคชัน ตั้งแต่การปรึกษาแพทย์ออนไลน์ การส่งยาแบบ Delivery และการติดตามอาการผู้ป่วย (Follow up)
ดร.พัชรินทร์ ได้บอกต่อไปว่าแอปพลิเคชันนี้สามารถช่วยในการตรวจโรคทั่วไปเบื้องต้น จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและยืดหยุ่นสำหรับคนที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา ซึ่งทาง BDMS เองก็กำลังพัฒนาวิธีที่จะช่วยให้การปรึกษาแพทย์ผ่านแอปพลิเคชันสามารถวินิจฉัยโรคที่ซับซ้อนได้ละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้นไม่ต่างจากการไปโรงพยาบาล โดยแอปพลิเคชัน BeDee สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง iOS และ Android
ดร.พัชรินทร์ ได้กล่าวว่า “การพัฒนานวัตกรรมไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยการทำงานเพียงลำพัง และ BDMS ก็เช่นกัน” ซึ่ง BDMS ได้เปิดรับความร่วมมือจากภาครัฐ มหาวิทยาลัยการแพทย์ บริษัท Startup เพื่อยกระดับบริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะในด้าน Health Tech ที่ไม่ใช่แค่ให้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการเท่านั้น บุคลากรทางแพทย์และพนักงานในโรงพยาบาลก็ต้องทำงานได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีงบประมาณในการผลักดัน Startup ที่มีศักยภาพและมีแนวทางร่วมกันถึง 1,500 ล้านบาทในระยะเวลา 2 ปี
ซึ่งถือว่าเป็นก้าวใหม่ก้าวสำคัญของเครือผู้ให้บริการด้านการแพทย์ชั้นนำของไทย ที่นอกจากจะเป็นการยกระดับบริการทางแพทย์ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืนแล้ว ยังมีช่วยเพิ่มโอกาสให้ไทยเข้าใกล้การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical hub) ที่สำคัญในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติอีกด้วย