ปัจจุบัน คนไทยจำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตอยู่บนตึกสูงมากขึ้น ทั้งในแง่ของการพักอาศัยและการทำงาน โดยเฉพาะคนเมือง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการกระจุกตัวกันของความเจริญภายในพื้นที่ที่จำกัด ซึ่งนอกจากปัญหาเรื่องความหนาแน่นของผู้คนและค่าครองชีพที่สูงแล้ว การใช้ชีวิตอยู่กับตึกสูงอยู่ตลอดเวลาส่งผลต่อสุขภาพของคุณได้ด้วย ‘โรคตึกเป็นพิษ’ คือหนึ่งในนั้น
โรคตึกเป็นพิษ (Sick Building Syndrome) เป็นชื่อการเจ็บป่วยที่ฟังดูแปลก ไม่คุ้นหู แต่มีอยู่จริงและคนจำนวนไม่น้อยเผชิญกับโรคนี้แบบไม่รู้ตัว โดยโรคตึกเป็นพิษอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติได้หลายอาการและอาจเป็นคำตอบของการเจ็บป่วยบางอย่างที่เกิดขึ้นกับคุณแบบไม่มีที่มาที่ไป
ทำไมตึกถึงเป็นพิษ?
หากได้ยินเพียงชื่ออย่างเดียวก็ฟังดูไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่และอาจสงสัยว่าทำไมตึกถึงเป็นพิษ ซึ่งชื่อนี้มีที่มา โดยตึกรามบ้านช่องที่เราอาศัยหรือทำงานอยู่ต่างถูกสร้างขึ้นด้วยองค์ประกอบทางเคมีสารพัด อย่างแร่ใยหินจากปูน สารเคมีจากสีทาภายใน สารเคมีจากกาวใต้แผ่นวอลล์เปเปอร์ติดผนัง หรือสารเคมีจากน้ำยาทำความสะอาด
แม้ว่าสารเคมีเหล่านี้ผ่านกระบวนการตรวจสอบแล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่การสัมผัสกับสารเคมีที่ระเหยและลอยอยู่ในอากาศอาจส่งผลให้เกิดอาการได้เหมือนกัน ยิ่งถ้าคุณใช้เวลาอยู่ในห้องนั้นเป็นเวลานาน ความเสี่ยงที่จะเกิดอาการจากโรคตึกเป็นพิษจะมากขึ้นและรุนแรงขึ้น
การไหลเวียนของอากาศภายในพื้นที่ที่ไม่ดีเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้ได้ เพราะมลพิษ ทั้งจากภายในตึกและภายนอกตึก (สารเคมีจากเครื่องมือสำนักงาน ฝุ่นควัน เกสรดอกไม้ เชื้อโรค) ลอยอยู่ในอากาศได้นานมากขึ้น รวมถึงพวกเชื้อราที่เกิดจากความชื้นสะสมด้วย ในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่มากกว่าอาการของโรคนี้
โรคตึกเป็นพิษยังมีปัจจัยอื่น ๆ อย่างเสียงรบกวน ความสว่างภายในห้อง อุณหภูมิที่ร้อนหรือหนาวเกินไป ความเครียดจากงาน และการนั่งทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสมอาจเพิ่มความเสี่ยงของผลกระทบจากโรคนี้ได้มากยิ่งขึ้นด้วย
ผลกระทบโรคตึกเป็นพิษต่อสุขภาพ
แม้จะเรียกว่าโรคตึกเป็นพิษ แต่คุณอาจเผชิญกับโรคนี้ได้ในทุกที่ที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่อไปนี้
- ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้
- คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม แสบจมูก
- ผิวแห้ง ผื่นแดง คันตามผิวหนัง
- ตาแห้ง คันตา
- คอแห้ง เจ็บคอ
- เหนื่อยล้า
- หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ
อาการจะต่างกันออกไปในแต่ละคน แม้ว่าอาการของโรคตึกเป็นพิษจะไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่ส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของคุณได้ ในระยะยาวโรคนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอื่น ๆ อย่างโรคทางเดินหายใจหรือทำให้เกิดความเครียดเรื้อรังแบบไม่รู้ตัว
หากใครเป็นคนที่ทำงานในตึกสูงน่าจะพอเคยมีอาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นแบบไม่รู้สาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงอาจมาจากโรคนี้ก็เป็นได้
วิธีรับมือกับโรคตึกเป็นพิษ
โดยปกติอาการของโรคนี้มักทุเลาและหายไปเองเมื่อคุณออกมาจากพื้นที่ แต่ในการใช้ชีวิตและการทำงานอาจทำไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ซึ่งมีบางวิธีที่ช่วยลดผลกระทบจากโรคตึกเป็นพิษได้
- เพิ่มการหมุนเวียนของอากาศในพื้นที่ อย่างเปิดหน้าต่างและติดเครื่องดูดอากาศ
- ใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อลดสารเคมีและสิ่งปนเปื้อนที่ลอยอยู่ภายในห้อง
- ปรับอุณหภูมิและแสงภายในห้องให้เหมาะสม
- พยายามหาเวลาในการพักจากการทุกงานทุกชั่วโมงและออกไปสูดอากาศภายนอกอาคาร
- ทำความสะอาดพื้นที่ภายในห้องให้ได้มากที่สุด
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส