เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีประสบการณ์ ‘สำลักน้ำลาย’ ซึ่งก็สร้างผลกระทบด้านอื่น ๆ ต่อร่างกายของคุณตามมา ไม่ว่าจะเป็นหายใจไม่ออก พูดคุยลำบาก หรือเกิดอาการไอที่รุนแรง แม้ว่าการสำลักน้ำลายจะเกิดขึ้นกับทุกคนเป็นครั้งคราว แต่การสำลักน้ำลายบ่อย ๆ อาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้
น้ำลาย เป็นของเหลวที่ต่อมน้ำลายผลิตออกมาเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร และช่วยล้างแบคทีเรียหรืออาหารออกจากปาก โดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจะผลิตน้ำลายประมาณ 1-2 ลิตรต่อวัน และเราก็มักจะกลืนน้ำลายในระหว่างวันโดยที่ไม่ได้สังเกตอะไร และบางครั้งน้ำลายอาจไหลลงคอได้ไม่สะดวกก่อให้เกิดการสำลักได้
สาเหตุของการสำลักน้ำลาย
การสำลักน้ำลายอาจเกิดขึ้นได้หากกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืนอ่อนแรง หรือหยุดทำงานเนื่องจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ และอาจเกิดจากการที่คุณดื่มหรือสำลักอาหารที่รับประทานเข้าไป ซึ่งแม้การสำลักน้ำลายในบางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากนัก แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อย ๆ การรู้สาเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดการสำลักน้ำลายก็เป็นสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามเช่นกัน โดยสาเหตุของการสำลักน้ำลายมีดังนี้
- กรดไหลย้อน
กรดไหลย้อน คือ การที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารและปาก เมื่อน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลขึ้นสู่ปาก การผลิตน้ำลายอาจเพิ่มขึ้นเพื่อชะล้างกรด โดยอาการของกรดไหลย้อนสามารถทำให้เยื่อบุหลอดอาหารระคายเคืองได้ และอาจทำให้กลืนน้ำลายลำบากเกิดการสำลักในที่สุด
- การกลืนน้ำลายผิดปกติขณะนอนหลับ
เกิดจากความผิดปกติที่น้ำลายจะสะสมในช่องปากขณะนอนหลับแล้วไหลเข้าสู่ปอด นำไปสู่การสำลักได้ โดยการสำลักน้ำลายจะทำให้คุณไอจนตื่นขึ้น และหายใจไม่ออกตามมา ขณะเดียวกันมีการศึกษาบางชิ้นที่ระบุว่าการสำลักน้ำลายอาจมีความเชื่อมโยงกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น คือ ภาวะที่ร่างกายหยุดหายใจขณะหลับเนื่องจากทางเดินหายใจแคบหรือปิดกั้นเกินไปนั่นเอง
- รอยโรคหรือเนื้องอกในลำคอ
รอยโรค เนื้องอกที่ไม่ร้ายแรง และก้อนมะเร็งในลำคอ อาจทำให้หลอดอาหารแคบลงและทำให้กลืนน้ำลายได้ยาก ทำให้เกิดการสำลักได้เช่นกัน
- ใส่ฟันปลอมไม่พอดี
ต่อมน้ำลายของคนเราจะผลิตน้ำลายมากขึ้นเมื่อเส้นประสาทในปากตรวจพบสิ่งแปลกปลอม เช่น อาหาร หากคุณใส่ฟันปลอมสมองของคุณอาจเข้าใจผิดว่าฟันปลอมเป็นอาหาร และเพิ่มการผลิตน้ำลาย พอน้ำลายในช่องปากมากเกินไปก็อาจทำให้สำลักเป็นครั้งคราวได้ ทั้งนี้ การผลิตน้ำลายอาจช้าลงเมื่อร่างกายของคุณเริ่มปรับตัวเข้ากับฟันปลอมได้แล้ว
- ความผิดปกติของระบบประสาท
ความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน สามารถทำลายเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลังลำคอได้ สิ่งนี้อาจทำให้การกลืนน้ำลายลำบากและสำลักน้ำลายในที่สุด นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ของปัญหาทางระบบประสาทยังอาจหมายถึง โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรืออาการกล้ามเนื้อกระตุกในส่วนอื่นของร่างกายด้วย
- ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
การสำลักน้ำลายอาจเกิดขึ้นได้หลังจากดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นยากล่อมประสาทเมื่อดื่มมากเกินไปอาจทำให้การตอบสนองของกล้ามเนื้อช้าลง และการหลับในขณะที่คุณมีอาการเมาจากแอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดการสะสมของน้ำลายในช่องปากแทนที่จะไหลลงคอ การนอนโดยยกศีรษะสูงขึ้นสามารถช่วยการไหลของน้ำลายและป้องกันการสำลักได้
- พูดมากเกินไป
ปกติแล้วน้ำลายของคนเราจะถูกผลิตออกมาอยู่ตลอดเวลาและคุณก็จะกลืนน้ำลายระหว่างวัน แต่หากว่าคุณเป็นคนที่พูดเก่ง พูดมาก หรือทำงานที่ต้องใช้ทักษะการพูดยาว ๆ จนลืมกลืนน้ำลาย สิ่งนี้จะทำให้น้ำลายไหลลงสู่หลอดลมไปสู่ระบบทางเดินหายใจและทำให้สำลักได้ เพื่อป้องกันการสำลักให้คุณพูดช้า ๆ และกลืนน้ำลายในระหว่างพูดประโยคหนึ่งเสมอ
- โรคภูมิแพ้หรือปัญหาระบบทางเดินหายใจ
เสมหะหรือน้ำลายข้นที่เกิดจากอาการแพ้หรือปัญหาระบบทางเดินหายใจอาจไหลลงคอไม่สะดวกขณะนอนหลับ ทำให้น้ำมูกและน้ำลายสะสมในช่องปากและสามารถทำให้เกิดการสำลักได้
- ภาวะน้ำลายไหลมากเกินไประหว่างตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และแพ้ท้องอย่างรุนแรงในผู้หญิงบางคน ภาวะน้ำลายไหลมากเกินไปบางครั้งอาจมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้ และสตรีมีครรภ์บางคนกลืนน้ำลายน้อยลงเมื่อมีอาการคลื่นไส้ ปัจจัยทั้งสองนี้มีส่วนทำให้เกิดการสะสมของน้ำลายในปากและเกิดการสำลักน้ำลายได้ง่าย
วิธีป้องกันการสำลักน้ำลาย
หากการสำลักน้ำลายของคุณไม่ได้มาจากปัญหาด้านสุขภาพ คุณสามารถป้องกันอาการเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคุณดังนี้
- พูดให้ช้าลงและกลืนน้ำลายในระหว่างประโยคที่พูดเสมอ
- นอนศีรษะยกสูงเพื่อให้น้ำลายไหลลงคอได้ง่าย
- ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ
- จิบน้ำตลอดทั้งวันเพื่อช่วยล้างน้ำลายออกจากปาก
ทั้งนี้ การสำลักน้ำลายอาจไม่ได้บ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพร้ายแรงและสามารถเกิดขึ้นกับทุกคน แต่หากคุณพบว่าตนเองมีอาการสำลักน้ำลายอยู่บ่อยครั้งและอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ตามมาให้คุณรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อทำการรักษาโรคนั้น ๆ ต่อไป
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส