สำหรับคนที่มีอาการปวดหัวไมเกรนอยู่บ่อย ๆ คงทราบดีว่าอาการปวดหัวไมเกรนนั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลย หลายคนอาจจะปวดหัวจนไม่สามารถลุกจากที่นอนได้ ไม่สามารถมองแสงจ้าได้ หรือมีอาการอยากอาเจียนร่วมด้วย ทั้งหมดเป็นผลข้างเคียงจากการปวดหัวไมเกรน วันนี้ Hack for Health จะพาทุกคนมาหาสาเหตุหลักที่ทำให้อาการปวดหัวไมเกรนของคุณกำเริบ พร้อมทั้งหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดนี้
ไมเกรนเกิดขึ้นได้กับทุกคน
อาการปวดหัวไมเกรนสามารถพบได้กับทุกวัย รวมถึงเด็กด้วยเช่นกัน และพบว่าส่วนใหญ่แล้วมักเกิดกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-44 ปี และประมาณ 3 ใน 4 ของคนที่เป็นโรคไมเกรนคือเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ หากคนในครอบครัวคุณมีประวัติเป็นโรคไมเกรน คุณก็อาจมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคได้ด้วยเช่นกัน
สาเหตุที่กระตุ้นอาการปวดไมเกรน
อาการปวดไมเกรนสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุแล้วแต่ตัวบุคคล ทั้งนี้ คุณควรหมั่นสังเกตตนเอง และจดบันทึกไว้เพื่อทราบว่าสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้อาการปวดของคุณกำเริบคืออะไร เพื่อหาวิธีป้องกันต่อไป โดยปัจจัยที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรน มีดังนี้
- ความเครียดและความวิตกกังวล
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือช่วงเป็นประจำเดือน
- ยาบางชนิดหรือการใช้ยามากเกินไป รวมถึงการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน สเตียรอยด์ และยาบรรเทาอาการปวดตามใบสั่งแพทย์
- คุณภาพการนอนหลับไม่ดี หรือความผิดปกติของการนอนหลับ เช่น โรคนอนไม่หลับ หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
- ความเมื่อยล้าตามร่างกาย
- อาหารและเครื่องดื่มบางชนิดที่มีคาเฟอีนสูง หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กินอาหารไม่เป็นเวลาหรืออดอาหาร
- สูบบุหรี่
- แสงไฟสว่างจ้า
- กลิ่นบางอย่างที่ทำให้รู้สึกเวียนหัว หรือปวดหัวตามมา
หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นไมเกรน
หากคุณรู้สาเหตุแล้วว่าอะไรที่เป็นส่วนสนับสนุนให้คุณรู้สึกปวดไมเกรน คุณก็จะสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยนั้น ๆ ได้ โดยสิ่งที่เราแนะนำให้คุณลองปรับเปลี่ยนเพื่อให้ห่างไกลอาการปวดไมเกรน มีดังนี้
- กินอาหารให้ครบทุกมื้อ และดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม
- ควบคุมปริมาณคาเฟอีน เพราะการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทุกวันสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อไมเกรนสำหรับบางคนได้
- ระมัดระวังในการออกกำลังกาย แม้การออกกำลังกายจะเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจทำให้บางคนปวดหัวได้ คุณอาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาสมดุลในการออกกำลังกายของคุณต่อไป
- นอนหลับให้เพียงพอ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพักผ่อนน้อย หรือร่างกายเหนื่อยล้าก็จะทำให้ปวดหัวไมเกรนได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด และหากิจกรรมที่ผ่อนคลายสมองทำอย่างสม่ำเสมอ
อาหารที่คนปวดไมเกรนควรเลี่ยง
นอกจากสาเหตุของการปวดไมเกรนที่เรายกมาข้างต้นแล้ว ยังพบว่าอาหารบางประเภทก็อาจส่งผลต่อการปวดไมเกรนในบางคนได้เช่นกัน ดังนี้
- อาหารที่มีไทรามีน เช่น ชีส โยเกิร์ต ของหมักดอง
- แอลกอฮอล์ โดยเฉพาะไวน์แดง
- เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม
- อาหารที่มีสารไนเตรต หรือสารกันบูด เช่น ไส้กรอก แฮม กุนเชียง
- ผลไม้อบแห้ง
- มันฝรั่งทอดแผ่น
- ขนมปัง และขนมอบอื่น ๆ ที่มียีสต์
- ถั่วและเนยถั่ว
- อาหารที่มีผงชูรส
อาหารและเครื่องดื่มที่ป้องกันไมเกรน
- อาหารที่อุดมด้วยแมกนีเซียม โดยมีงานวิจัยเกี่ยวกับผู้หญิงแสดงให้เห็นว่าแมกนีเซียมอาจช่วยบรรเทาอาการไมเกรนได้ อาหารที่อุดมด้วยแมกนีเซียม ได้แก่ ผักใบเขียวเข้ม อะโวคาโด และทูน่า เป็นต้น
- กรดไขมันโอเมก้า 3 โดยงานวิจัยระบุว่าการเพิ่มกรดไขมันโอเมก้า 3 อาจช่วยผู้ที่เป็นไมเกรนได้ อาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน เมล็ดพืช เป็นต้น
- อาหารคีโตเจนิก แม้อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคนแต่งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าอาหารคีโตอาจช่วยลดอาการไมเกรนได้เมื่อเทียบกับอาหารมาตรฐาน ซึ่งหมายถึงการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำและมีไขมันสูง เช่น อาหารทะเล ผักที่ไม่มีแป้ง และไข่ แต่ทั้งนี้อาหารบางชนิดของคนกินคีโตก็อาจมีส่วนช่วยทำให้เกิดไมเกรนได้เช่นกัน
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะการรักษาระดับความชุ่มชื้นที่ดีอาจช่วยป้องกันไมเกรน และลดอาการต่าง ๆ ได้
- เปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคุณ เช่น เลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมและไขมันสูง หรือพยายามรับประทานอาหารที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
- หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เพราะมักจะมีสารเติมแต่งต่าง ๆ เช่น แต่งกลิ่นสังเคราะห์ สารให้ความหวาน หรือสารกันบูด ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกินยาจะช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้ แต่การรู้ปัจจัยเสี่ยงและหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดอาการเหล่านั้นย่อมเป็นการรักษาที่ยั่งยืนที่สุด และคุณควรหมั่นสังเกตตนเองเพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรึกษากับแพทย์ที่ทำการรักษา เพื่อให้การรักษาของคุณมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส