วิ่งมาราธอน (Marathon) เป็นกิจกรรมที่มากกว่าการออกกำลังกาย เพราะใช้ทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งการวิ่งมาราธอนสามารถแบ่งออกได้หลายรูปแบบตามระยะทาง ปัจจุบันคนหันมาวิ่งมาราธอนกันมากขึ้น และหากคุณเป็นมือใหม่ที่สนใจในการวิ่งมาราธอน บทความนี้ได้เตรียมเรื่องคุณควรรู้เกี่ยวกับการวิ่งมาราธอนไว้แล้ว
ที่มาของการวิ่งมาราธอน
ตำนานการวิ่งมาราธอนเริ่มมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ จากการที่ “ฟิดิปพิดีส” (Pheidippides) ทหารชาวกรีกที่ทำหน้าที่ส่งสารการรบอันเร่งด่วนจากทุ่งที่ชื่อ ‘มาราธอน’ ไปยังกรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของอาณาจักรด้วยการวิ่งโดยไม่หยุดพัก ซึ่งระยะทางจากทุ่งมาราธอนไปจนถึงกรุงเอเธนส์ คือ 40 กิโลเมตร
Fun fact: ในตำนานเล่าว่า ฟิดิปพิดีสถอดเสื้อผ้าทั้งหมดเพื่อช่วยให้วิ่งได้เร็วที่สุด และเมื่อเขาไปถึงกรุงเอเธนส์และแจ้งสารการรบแล้ว เขาได้สิ้นใจตรงนั้นเลย การฝึกซ้อมในการวิ่งระยะไกลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ซึ่งคำว่ามาราธอนที่เราใช้เรียกการวิ่งระยะไกลก็มาจากชื่อของทุ่งในตำนานกรีกเรื่องนี้ สำหรับการวิ่งมาราธอนในรูปแบบของกีฬาครั้งแรกเริ่มต้นในปี ค.ศ.1896 ในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเอเธนส์ ส่วนเรื่องของระยะทางการวิ่งปัจจุบันอยู่ที่ 42.195 กิโลเมตรก็มาจากการปรับเปลี่ยนตามสถานที่การแข่งขันในยุคหลัง ๆ มานี้เอง
ประโยชน์ต่อสุขภาพจากวิ่งมาราธอน
อย่างที่ได้เกริ่นไปว่าการวิ่งมาราธอนไม่ได้ใช้แค่แรงกาย แต่ใช้แรงใจ รวมถึงสมองในการวางแผนวิ่งและการฝึกซ้อมด้วย
- เพิ่มความทนทานและความแข็งแรงของร่างกาย กล้ามเนื้อ กระดูก หัวใจและหลอดเลือด
- เผาผลาญพลังงานส่วนเกิน ลดน้ำหนัก
- ลดความเครียด เพิ่มสมาธิ
- ช่วยเรื่องการนอนหลับ
- กระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกัน
นอกจากนี้ การออกกำลังกายด้วยวิธีการวิ่งเป็นประจำอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้ด้วย
พลิกประโยชน์เป็นโทษได้ หากไม่เตรียมตัว
แม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นเรื่องที่ต่อสุขภาพ แต่การวิ่งมาราธอนก็เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ยิ่งคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายเลยหรือแม้แต่คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำแต่ไม่ได้ซ้อมวิ่งหรือการเตรียมตัวที่เหมาะสม การวิ่งมาราธอนอาจทำให้เกิดผลเสียได้ เช่น
- แผลพุพองจากการเสียดสี การเตรียมถุงเท้าและรองเท้าวิ่งที่เหมาะสม สวมใส่ได้พอดี และเหมาะกับรูปเท้าจึงเป็นการเตรียมพร้อมที่สำคัญอย่างมาก
- ปวดกล้ามเนื้อ การวิ่งเป็นเวลานาน ต่อให้ไม่ได้วิ่งเร็วอาจทำให้กล้ามเนื้อทำงานหนักเกิดอาการปวดล้า กล้ามเนื้อบาดเจ็บได้
- ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ การวิ่งมาราธอนทำให้เหงื่อออกปริมาณมาก ส่งผลให้น้ำและเกลือแร่ลดลง เมื่อถึงจุดหนึ่งกล้ามเนื้ออาจเป็นตะคริว เวียนศีรษะ หน้ามืด และเป็นลมได้
ดังนั้น การเตรียมตัวก่อนวิ่งมาราธอนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักวิ่งมือใหม่และมือโปรขาดไม่ได้
วิ่งมาราธอนมีกี่แบบเลือกแบบไหนดี?
การวิ่งมาราธอนมี 5 รูปแบบด้วยกัน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามระยะทาง
1. Fun Run หรือ Micro Marathon (ระยะไม่เกิน 5 กิโลเมตร)
การวิ่งแบบ Fun Run มักไม่ใช่การแข่งขันที่จริงจัง แต่เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้คนได้เปิดประสบการณ์การวิ่ง เหมาะกับนักวิ่งมือใหม่หรือคนที่อยากลองชิมลางการวิ่งมาราธอน ใช้เวลาเตรียมตัวน้อย และความเสี่ยงต่ำ
2. Mini Marathon (ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร)
รูปแบบนี้คุณอาจต้องซ้อมวิ่งเป็นประจำเพื่อรักษาความฟิตและช่วยให้กล้ามเนื้อคุ้นชินกับการใช้งาน คนที่ไม่ได้วิ่งบ่อย แต่ออกกำลังกายรูปแบบอื่นอาจพอถูไถได้อยู่บ้าง แต่ควรเตรียมตัวให้พร้อมอยู่ดี
3. Half Marathon (ระยะทาง 21 กิโลเมตร)
เหมาะกับคนที่วิ่งเป็นประจำ ซ้อมบ่อย รู้จักจังหวะและร่างกายของตัวเองเป็นอย่างดี ตั้งแต่ระยะนี้เป็นต้นไปการฝึกวิ่งและการเตรียมพร้อมแบบเป็นจริงเป็นจังถือว่าขาดไม่ได้เลยทีเดียว เพราะอาจบาดเจ็บได้
4. Marathon หรือ Full Marathon (ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร)
หากคุณชอบวิ่ง การวิ่ง Full Marathon น่าจะเป็นระยะที่หลายคนอยากพิชิต เพราะต้องอาศัยความพร้อมของร่างกาย จิตใจ และการวางแผนการซ้อมที่อาจใช้เวลานานหลายเดือน โดยในการวิ่งคุณอาจต้องเผชิญกับความเมื่อยล้า ความเหนื่อย ความหิว หรือแม้แต่ความอ่อนเพลีย ซึ่งเป็นการระยะการวิ่งที่วัดใจมาก ๆ
5. Ultra Marathon (ระยะทางมากกว่า 42.195)
หาก 42 กิโลเมตรของการวิ่งมาราธอนยังไม่สาแก่ใจ Ultra Marathon อาจตอบโจทย์ ซึ่งคนที่สามารถวิ่งในระยะนี้น่าจะเป็นคนที่บรรลุในการวิ่งแล้ว เพราะ Ultra Marathon มีให้คุณวิ่งตั้งแต่หลักสิบที่มากกว่า 42 กิโลเมตร ไปจนถึงหลายร้อยกิโลเมตรที่ใช้เวลาการวิ่งหลายวัน
สำหรับมือใหม่ Hack for Health แนะนำว่า Fun Run น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่ช่วยให้คุณได้สัมผัสประสบการณ์การวิ่งและอาจเป็นใบเบิกทางให้คุณเข้าสู่วงการการวิ่งอย่างเต็มตัว สุดท้ายนี้ การเตรียมความพร้อมก่อนวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งมาราธอนหรือการวิ่งรูปแบบไหนก็ตามเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณได้ประโยชน์จากการวิ่งมากที่สุดและช่วยลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บได้ด้วย
อ้างอิง, อ้างอิง, อ้างอิง, อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส