เข้าสู่ช่วงฤดูร้อน นอกจากอากาศที่ร้อนอบอ้าว แสงแดดจ้าที่ชวนให้ต้องหยิบครีมกันแดดมาทาเพื่อปกป้องผิวแล้ว สิ่งที่ทุกคนต้องเฝ้าระวังก็คือปัญหาสุขภาพหรือโรคต่าง ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนแบบนี้ เพราะความร้อนส่งผลต่อร่างกายทั้งหมด ทั้งผิวหนัง ดวงตา ระบบย่อยอาหาร หากไม่ระวังหรือป้องกันอาจนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บในฤดูร้อนได้

โรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูร้อน

1.โรคลมแดด

โรคลมแดดเป็นโรคที่พบบ่อยในฤดูร้อน เกิดจากการสัมผัสกับอุณหภูมิที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน เนื่องจากอุณหภูมิสูงทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียจากความร้อน เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และอ่อนแรง ก่อนเกิดอาการฮีทสโตรก (Heat Stroke) ตามมา และทำให้อวัยวะล้มเหลว หมดสติ นำไปสู่การเสียชีวิตได้

2.อาหารเป็นพิษ

อาหารเป็นพิษเป็นหนึ่งในโรคที่เกิดขึ้นในฤดูร้อนได้ง่ายที่สุด เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้น ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ง่าย และอาจนำไปสู่การปนเปื้อนในอาหารที่รับประทานเข้าไป

3.ปวดดวงตา

การจ้องแสงแดด หรือการที่ดวงตาต้องเผชิญกับแสงแดดเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดความรู้สึกปวดรอบดวงตาข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง เรียกว่า อาการเจ็บตา นอกจากนี้ อาจรู้สึกดวงตาขุ่นมัว เจ็บ หรืออ่อนล้าได้

4.ภาวะขาดน้ำ

โรคที่เกิดในช่วงฤดูร้อนที่พบบ่อยคือภาวะขาดน้ำ เกิดจากสภาพอากาศร้อนชื้นในช่วงฤดูร้อน เพราะร่างกายเราสูญเสียน้ำและเกลือแร่จำนวนมากผ่านทางเหงื่อโดยไม่รู้ตัว เมื่อปริมาณน้ำที่ออกจากร่างกายมากกว่าปริมาณน้ำที่รับเข้าไป จะส่งผลให้เกิดภาวะขาดน้ำและมีอาการปากแห้ง ลิ้นแห้ง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปัสสาวะสีเข้ม และกระหายน้ำ ดังนั้นจึงควรดื่มน้ำให้มาก ๆ 

5.ปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะพบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น อาการปวดจะเกิดจากวิธีที่ร่างกายของคุณตอบสนองต่อความร้อน และภาวะขาดน้ำสามารถก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน

6.คางทูม

คางทูมเป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายมาก เมื่อผู้ติดเชื้อไอหรือจามในอากาศก็สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งส่วนมากจะพบในเด็กเป็นหลักตลอดช่วงฤดูร้อน

7.โรคหอบหืด

โดยทั่วไปแล้ว อาการหอบหืดจะแย่ลงในฤดูหนาว แต่ในทางกลับกันความร้อนในฤดูร้อนอาจทำให้เกิดอาการหอบหืดรุนแรงขึ้นในบางคนเช่นกัน สาเหตุอาจมาจากเมื่อหายใจในอากาศร้อน ทางเดินหายใจจะหดตัว ทำให้ไอและหายใจถี่มากขึ้น อีกทั้งในช่วงฤดูร้อนโดยทั่วไปจะมีมลพิษในอากาศมากขึ้น ซึ่งกระตุ้นให้เกิดโรคหอบหืด

8.ไข้หวัด

แม้ว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่จะแพร่หลายในสภาพอากาศหนาวเย็น แต่ก็ยังสามารถทำให้เกิดไข้หวัดฤดูร้อนได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น ฝนตกกะทันหัน หรืออุณหภูมิเปลี่ยนจากกลางแจ้งที่ร้อนเป็นสภาพแวดล้อมในร่มที่เย็น และยังส่งผลต่ออาการอื่น ๆ ของไข้หวัด ได้แก่ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ

9.ผิวหนังไหม้

ผิวหนังไหม้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนที่สัมผัสกับแสงแดดโดยตรงเป็นเวลานาน ความร้อนที่รุนแรงสามารถทำให้เกิดแผลไหม้ พร้อมกับผิวหนังแดงและลอก ตลอดจนมีแผลพุพองที่ผิวหนังได้ ดังนั้น การปกป้องผิวด้วยครีมกันแดดจึงเป็นเรื่องไม่ควรมองข้าม

เมื่อรู้แบบนี้หากคุณเป็นคนที่มีโรคประจำตัว และเสี่ยงอาการกำเริบในช่วงฤดูร้อนอาจต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ นอกจากการหาครีมกันแดดมาทาเพื่อปกป้องผิวแล้ว สิ่งสำคัญคือคุณต้องดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ รวมทั้งดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอด้วย

ที่มา starhealth.in , makatimed

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส