ซีเซียม-137 คือสารกัมมันตรังสีชนิดหนึ่ง เมื่อเกิดการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในสิ่งแวดล้อมจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ สารนี้จะตกค้างตามแหล่งน้ำ ดิน พืช อากาศ สัตว์ ตลอดจนการเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการบริโภคอาหาร และหากคนเราบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อนซีเซียม-137 เป็นเวลานานย่อมส่งผลเสีย และก่อให้เกิดโรคได้

เมื่อสารซีเซียมกระจายอยู่ทั่วทั้งในดิน น้ำ จึงง่ายต่อการเข้าสู่วงจรอาหาร และอาหารที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ผัก ผลไม้ นม อาหารทะเล และอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร 

หากเราบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อนซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกาย สารบางส่วนจะถูกขับออกทางเหงื่อและปัสสาวะ ในขณะที่สารบางส่วนจะตกค้าง และสะสมในกล้ามเนื้อ ตับ ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมหรือพันธุกรรม และมีโอกาสก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ 

โดยปกติแล้วทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะกำหนดให้ตรวจปริมาณการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหาร 3 ชนิด คือ ไอโอดีน-131 (Iodine-131) ซีเซียม-137 (Cesium-137) และซีเซียม-134 (Cesium-134) หน่วยวัดปริมาณสารกัมมันตรังสีในเครื่องดื่มหรือของเหลวจะใช้หน่วย “เบคเคอเรลต่อลิตร” ส่วนอาหารหรือของแข็งจะมีหน่วยเป็น “เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม” เกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดคือ อาหาร ต้องมี Iodine-131 ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม, ซีเซียม-134 และซีเซียม-137 รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม

แม้ว่าการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีการปนเปื้อนอาจเป็นเรื่องยาก แต่อย่างไรก็ตามการบริโภคอาหารที่มาจากแหล่งน่าเชื่อถือที่ได้รับการรับรองว่าสะอาด ปลอดภัย และบริโภคอาหารให้ถูกสุขลักษณะจะช่วยป้องกันการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนได้ระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ การสัมผัสสารกัมมันตรังสีความเข้มข้นสูงในระยะสั้นจะทำให้เกิด อาการ ‘Radiation Sickness Syndrome’ แบบเฉียบพลัน อย่างผิวหนังไหม้ คลื่นไส้อาเจียน และอาจทำให้เสียชีวิตได้ในไม่กี่ชั่วโมงหลังสัมผัส

โดยการสัมผัสกับสารกัมมันตรังสี แม้ในปริมาณเล็กน้อยอาจส่งผลให้ DNA ของร่างกายเสียหายและเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งและโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

การรับมือเบื้องต้นกับสารกัมมันตรังสี

1) หนีให้ไกลหรือหลบเข้าที่กำบัง

สารกัมมันตรังสีสามารถแผ่รังสีออกมาได้เรื่อย ๆ การหนีออกไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้เป็นสิ่งแรกที่ควรทำ หรือควรหลบเข้าที่กำบังอย่างบ้านหรืออาคารที่มีผนังปูน ปิดประตู หน้าต่าง และช่องทางที่สารกัมมันตรังสีอาจเล็ดลอดเข้ามาได้

2) อยู่ในที่กำบังจนกว่าจะปลอดภัย

นอกจากจะปิดหน้าต่างและประตูแล้ว ควรอยู่ให้ห่างจากหน้าต่างและประตูด้วย เพราะสารกัมมันตรังสีอาจเล็ดลอดเข้ามาได้อยู่ แต่ในปริมาณที่ลดลง ล้างตัวหรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว เก็บอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิดและมีฝาปิด

3) ติดตามข่าวสารเสมอ

ควรติดตามข่าวสารตลอดเวลาเพื่อการวางแผนการรับมือในกรณีที่มีการอพยพหรือต้องเฝ้าระวังเพิ่มเติม

ที่มา สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร , ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหาร , cdc.gov

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส