เคยไหม ? นั่งอยู่เฉย ๆ ก็รู้สึกอึดอัดอยากขยับขา หรือสั่นขาตลอดเวลา บางครั้งอาการเหล่านี้มักมาตอนกลางคืนจนแทบนอนไม่หลับ คุณอาจกำลังเป็น ‘โรคขาอยู่ไม่สุข’

โรคขาอยู่ไม่สุขคืออะไร?

โรคขาอยู่ไม่สุข (RLS) เป็นโรคทางระบบประสาทที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายหรืออึดอัดที่ขา และกระตุ้นให้เคลื่อนไหวอย่างไม่สามารถห้ามได้ อาการมักเกิดขึ้นในช่วงบ่ายแก่ ๆ หรือช่วงเย็น และมักจะรุนแรงที่สุดในตอนกลางคืนขณะที่คุณกำลังนอนหลับ 

โดยอาการนี้จะรบกวนการนอนหลับของคุณ ทำให้หลับยากหรือนอนหลับไม่สนิท ซึ่งการขยับขาจะช่วยบรรเทาความรู้สึกไม่สบายตัว แต่ความรู้สึกไม่สบายตัวก็จะเกิดขึ้นได้อีกเมื่อคุณหยุดการเคลื่อนไหวขาของตนเอง

มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรในสหรัฐอเมริกา พบว่าโรคขาอยู่ไม่สุขสามารถเกิดขึ้นกับคนทุกช่วงอายุ ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย แต่บุคคลที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมักเป็นวัยกลางคนขึ้นไป อาการมักจะเกิดขึ้นบ่อยขึ้นและยาวนานขึ้นตามอายุ

อาการของโรคขาอยู่ไม่สุข

  • รู้สึกอึดอัดที่ขาส่วนล่าง อาจรู้สึกเหมือนปวดขา
  • ความรู้สึกมักเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่ได้ใช้งานขาหรือนั่งเป็นเวลานาน เช่น นั่งเครื่องบินหรือดูภาพยนตร์
  • คุณจำเป็นต้องขยับขาหรือเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อลดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว หรือความรู้สึกกระวนกระวายใจ
  • อาการแย่ลงในตอนกลางคืน และอาการเบาลงในตอนเช้า คุณอาจนอนหลับยากและหลับไม่สนิท 

อาการโรคขาอยู่ไม่สุขอาจแตกต่างกันไปในแต่ละวัน ความรุนแรง และความถี่ในแต่ละคนก็จะแตกต่างกัน หากอาการของคุณเกิดขึ้นเพียง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ถือว่าเป็นความรุนแรงระดับปานกลาง แต่หากคุณมีอาการนี้มากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ หมายความว่าอาการโรคขาอยู่ไม่สุขของคุณเข้าขั้นรุนแรง

ผลกระทบจากโรคขาอยู่ไม่สุข

  • อารมณ์แปรปรวน
  • อ่อนเพลียและง่วงนอนในตอนกลางวัน
  • มีปัญหาเรื่องสมาธิ
  • ความจำบกพร่อง
  • ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล

อาการของคุณอาจทุเลาลง และหายไปเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ซึ่งปกติจะเป็นในช่วงระยะเริ่มต้นของโรค อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วอาการมักจะเกิดขึ้นอีกและรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

บุคคลที่เสี่ยงเป็นโรคขาอยู่ไม่สุข

แม้สาเหตุของโรคขาอยู่ไม่สุขจะไม่ชัดเจนนัก แต่หากคนในครอบครัวของคุณมีประวัติเป็นโรคนี้คุณก็อาจจะเป็นได้เช่นกัน และอาจเกิดจากสารโดปามีน (dopamine) ในสมองมีปริมาณน้อยลง โดยอาจเป็นจากภาวะของโรคอื่น ๆ เช่น โรคพาร์กินสัน หรือระบบรักษาสมดุลของธาตุเหล็กในร่างกายผิดปกติ

ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคขาอยู่ไม่สุข

  • โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและการฟอกเลือด
  • โรคระบบประสาท (ความเสียหายของเส้นประสาท)
  • การอดนอน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • การตั้งครรภ์หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่วนใหญ่อาการต่าง ๆ มักหายไปภายใน 4 สัปดาห์หลังคลอด
  • การใช้แอลกอฮอล์ นิโคติน และคาเฟอีน
  • ยาบางชนิดอาจทำให้อาการโรคขาอยู่ไม่สุขแย่ลง เช่น ยาต้านอาการคลื่นไส้ ยารักษาโรคจิต ยาต้านอาการซึมเศร้าที่เพิ่มเซโรโทนิน เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคขาอยู่ไม่สุข

โดยปกติแล้วไม่มีการทดสอบเฉพาะสำหรับโรคนี้ ดังนั้นจึงต้องประเมินอาการของโรคโดยแพทย์ ดังนี้

  • ความต้องการหรือแรงกระตุ้นให้ขยับขาอย่างรุนแรงและบ่อยครั้ง ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความรู้สึกผิดปกติ หรืออึดอัด
  • การกระตุ้นให้ขยับขาเกิดขึ้นระหว่างพักหรือไม่ได้ใช้งานร่างกาย
  • อาการอยากขยับขาของคุณจะบรรเทาลงได้หากคุณมีการเคลื่อนไหวร่างกาย
  • การกระตุ้นให้ขยับขาของคุณเริ่มหรือรุนแรงขึ้นในตอนเย็นหรือกลางคืน

นอกจากนี้ อาจต้องตรวจร่างกายและระบบประสาท รวมถึงตรวจสอบประวัติการเป็นโรคนี้ของครอบครัวคุณ และตรวจสอบรายการยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันด้วย

การรักษาโรคขาอยู่ไม่สุข

หากคุณได้ประเมินอาการของโรคนี้เรียบร้อยแล้ว แพทย์อาจพบสาเหตุของโรคที่แท้จริง และโรคขาอยู่ไม่สุขสามารถควบคุมได้โดยการรักษาโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น ปลายประสาทอักเสบ เบาหวาน หรือโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

สำหรับคนที่กำลังเป็นโรคขาอยู่ไม่สุข อาจจะรู้สึกหงุดหงิด เพราะนอกจากจะทำให้คุณพักผ่อนไม่เพียงพอแล้วบางครั้งยังทำให้คุณกลายเป็นคนที่ดูบุคลิกไม่ดี ดังนั้น หากอาการนี้เป็นหนักมากขึ้นคุณอาจจะเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของโรค โดยหาปัจจัยแฝงที่เกี่ยวกับภาวะสุขภาพและรักษาให้ทันท่วงที

ที่มา ninds.nih , healthline

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส