ชักโครกเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกเมื่อยามขับถ่าย แต่วิธีการกดชักโครกที่เราทำกันอยู่ในทุกวันนี้ไม่ใช่วิธีที่ดีนัก เพราะมีความเสี่ยงบางอย่างที่คุณคิดไม่ถึงซ่อนเอาไว้อยู่ ซึ่ง Hack for Health จะมาบอกถึงสาเหตุชวนขนลุกว่าทำไมคุณถึงควรปิดฝาชักโครกก่อนกดเสมอ

ทำไมต้องปิดฝาชักโครกก่อนกดเสมอ?

หากพูดถึงสิ่งที่สกปรกที่บนโลกนี้ ห้องน้ำและชักโครกน่าจะเป็นสิ่งแรกที่หลายคนนึกถึง จากค่าเฉลี่ยโถชักโครกมีแบคทีเรียราว 3,200,000 ตัว/ตารางนิ้ว ซึ่งหากเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดภายในโถชักโครก ในนั้นก็น่าจะมีแบคทีเรียหลายสิบถึงหลายร้อยล้านตัวอาศัยอยู่ ไม่นับรวมถึงเชื้อไวรัสและเชื้อรา

โดยการกดน้ำ 1 ครั้งสร้างแรงลมที่มีความเร็วมากกว่า 6.6 ฟุต/วินาที ซึ่งพาละอองน้ำและอนุภาคขนาดเล็กที่ปนเปื้อนเชื้อลอยสูงขึ้น 1.5 เมตรภายใน 8 วินาที การสัมผัสกับอนุภาคที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และ COVID-19 อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บป่วยได้ แต่ปัจจุบันยังไม่การรายงานที่แน่ชัดถึงการติดเชื้อจากการกดชักโครก

หากคุณไม่ได้เจ็บป่วยหรือมีโรคติดเชื้อ เชื้อโรคที่ขับถ่ายออกมาส่วนใหญ่มักไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ต้องปิดฝาชักโครก เพราะเชื้อเหล่านี้อาจลอยไปติดตามส่วนอื่น ๆ ของห้องน้ำ อย่างผ้าเช็ดตัวและแปรงสีฟัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าขนลุกไม่น้อย ดังนั้น แม้จะเป็นห้องน้ำที่บ้านก็ควรปิดฝาชักโครก

https://youtube.com/watch?v=DL4y4cgRw80%3Fstart%3D22

แต่ในห้องน้ำยังมีจุดสัมผัสอื่น ๆ อย่างฝารองนั่ง ฝาชักโครก ที่กดน้ำ ก๊อกน้ำ และลูกบิดประตู ซึ่งมีเชื้อโรคเกาะติดอยู่บนพื้นผิวและอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อผ่านการสัมผัส แล้วนำไปหยิบอาหารเข้าปากโดยที่ไม่ได้ล้างมือ โดยเชื้อโรคในห้องน้ำที่พบว่าเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย เช่น โนโรไวรัสและเชื้ออีโคไลที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย เป็นไข้ตามมา ยิ่งห้องน้ำสาธารณะที่คนใช้งานเยอะก็มีความเสี่ยงมากกว่า

วิธีเข้าห้องน้ำให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคมากขึ้น

การเข้าห้องน้ำเป็นสิ่งที่คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วิธีต่อไปนี้จะช่วยให้คุณปลอดภัยจากเชื้อโรคมากขึ้น

  • ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำทุกครั้ง ทั้งห้องน้ำที่บ้านและห้องน้ำสาธารณะ
  • ทำความสะอาดชักโครกและห้องน้ำที่บ้านเป็นประจำ พยายามทำให้ห้องน้ำแห้งให้ไวที่สุด เพราะความชื้นเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค
  • พกกระดาษเปียกที่มีสารส่วนผสมของสารฆ่าเชื้อโรค อย่างแอลกอฮอล์ไว้สำหรับเช็ดจุดสัมผัสต่าง ๆ อย่างฝารองนั่ง ที่กดน้ำ ลูกบิดประตู
  • ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังจากใช้ห้องน้ำ

เพียงเท่านี้คุณก็สามารถใช้ห้องน้ำได้อย่างปลอดภัยจากเชื้อโรคมากขึ้นแล้ว

Medscape, Initial.com, WebMD

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส