โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดหนึ่งที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจผิด โดยคนที่มีบุคลิกเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย อารมณ์เสียง่าย สองบุคลิก หรือเปลี่ยนใจบ่อย ๆ มักถูกคนเข้าใจว่าเป็นโรคไบโพลาร์ ทั้งในเชิงเสียดสีและในความหมายโดยตรง
แต่การเหวี่ยงวีนหรืออารมณ์เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ไม่ใช่อาการของโรคไบโพลาร์เสียทีเดียว Hack for Health เลยจะมาอธิบายว่าจริง ๆ แล้วโรคไบโพลาร์เป็นอย่างไร เพราะข้อมูลล่าสุด คนไทยป่วยด้วยโรคไบโพลาร์ถึง 500,000 คนและมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
เมื่อโรคไบโพลาร์ไม่ได้รับการรักษามักรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน การใช้ชีวิตของผู้ป่วย และอาจเป็นอันตรายต่อคนอื่นด้วย
ทำความเข้าใจโรคไบโพลาร์
อาการของโรคไบโพลาร์เป็นผลมาจากการหลั่งของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ อย่างหลั่งออกมามากหรือน้อยกว่าปกติจนทำให้เกิดอาการขึ้น ปัจจัยอาจมาจากอารมณ์ด้านลบที่ยาวนานและต่อเนื่อง เหตุการณ์ในชีวิต สุขภาพร่างกายที่ไม่ดี สภาพแวดล้อมในชีวิต รวมไปถึงพันธุกรรม
โรคไบโพลาร์เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้และต้องติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง มักแสดงอาการครั้งแรกตั้งแต่อายุ 15–24 ปี
โรคไบโพลาร์มีชื่อเรียกในภาษาไทยว่าโรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งเป็นชื่อที่ทำให้คนเข้าใจคลาดเคลื่อนไปต่าง ๆ นานา ว่าต้องมีด้านหนึ่งดี ด้านหนึ่งร้าย ต่อหน้าเป็นอีกคน อยู่คนเดียวกลับมีนิสัยอีกแบบ ในความเป็นจริงคำว่า อารมณ์สองขั้ว ของโรคไบโพลาร์หมายถึงลักษณะของภาวะอารมณ์ของผู้ป่วยที่มึด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ ขั้วซึมเศร้า (Depression) และ ขั้วอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania)
ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะมีอาการของ 2 ขั้วนี้สลับกัน แต่ไม่ใช่การสลับแบบฉับพลันทันที อย่างตอนนี้อารมณ์ดี อีกไม่กี่นาทีโมโห โดยเมื่อผู้ป่วยอยู่ในขั้วใดขั้วหนึ่งอาจกินเวลาหลายวันจนถึงเป็นสัปดาห์ แต่ละขั้วจะก่อให้เกิดความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมที่ต่างกันออกไป
1. ขั้วซึมเศร้า
ลักษณะของขั้วซึมเศร้า คือ ภาวะซึมเศร้าตรงตามชื่อ ซึ่งอาการ ความคิด และพฤติกรรมของผู้ป่วยไบโพลาร์ที่อยู่ในขั้วนี้จะเหมือนกันกับผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า เช่น
- รู้สึกซึมเศร้า ว่างเปล่า ไร้ค่า ไม่มีจุดหมาย ผิดหวังในเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวัน เกิดขึ้นแทบทุกวัน ในเด็กและวัยรุ่นอาจแสดงออกมาในรูปแบบอารมณ์หงุดหงิด
- ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุหรือไม่สามารถควบคุมได้
- โทษ ตำหนิ ด่าทอ หรือมองตัวเองในแง่ลบ
- นอนไม่หลับหรือนอนหลับมากเกินไปอย่างเห็นได้ชัด
- น้ำหนักลงหรือขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อย ไร้เรี่ยวแรงในทุกวัน
- ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ช้าลง
- สนใจในสิ่งต่าง ๆ ที่เคยสนใจหรือเคยชอบลดลง เช่น เลิกเล่นกีฬา เกม หรืองานอดิเรกที่ชอบ
- ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ การใช้เหตุผล การเรียนรู้ และสมาธิลดลงจนส่งผลต่องาน การเรียน การใช้ชีวิต
- รู้สึกทุกข์ทรมานจากพฤติกรรมและความรู้สึกที่เกิดขึ้น
- ดื่มหรือติดแอลกอฮอล์ ใช้สารเสพติด
- จินตนาการหรือนึกถึงเรื่องการทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตายอยู่บ่อย ๆ
2. ขั้วอารมณ์ดีผิดปกติ
ขั้วนี้เป็นขั้วตรงข้ามกับขั้วซึมเศร้า ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีความสุขหรืออารมณ์ดีผิดปกติ แม้จะฟังดูเป็นสัญญาณที่ดี แต่ขั้วนี้กลับอันตรายไม่แพ้กับขั้วซึมเศร้า
- ความมั่นใจในตัวเองสูงขึ้น คิดว่าตัวเองเก่งและอยู่เหนือคนอื่น
- พูดไม่หยุด ชวนคุยอย่างต่อเนื่อง หัวเราะโดยไม่มีเหตุผล
- สมองแล่น คิดหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน ไม่มีสมาธิ วอกแวก ถูกรบกวนได้ง่าย
- อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย อยากทำสิ่งต่าง ๆ จนไม่ยอมนอน
- เมื่อสนใจกับอะไรจะหมกมุ่นในสิ่งนั้น โดยไม่ยั้งคิด อย่างใช้เงินแบบไม่คิด ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น เมื่อไม่พอใจก็จะก้าวร้าวอย่างรุนแรง
โดยอาการของโรคไบโพลาร์ ไม่ว่าจะขั้วไหน ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมความคิด ความรู้สึก หรือพฤติกรรมของตนเองได้เลย ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานใจอย่างมากเมื่อผู้ป่วยกลับมาอยู่ในภาวะปกติ นอกจากนี้ การขาดความยั้งคิดในขั้ว Mania อาจนำไปสู่การทำลายข้าวของหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้ การเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสมอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคนี้ได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส