ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดดเป็นภาวะอันตรายเกิดจากร่างกายมีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งเกิดจากการได้รับความร้อนสะสมจากสภาพอากาศหรือการออกกำลังกายจนกลไกภายในร่างกายสูญเสียฟังก์ชันในการระบายความร้อน ทำให้อุณหภูมิร่างกายไม่ลดลง เมื่ออุณหภูมิแกนกลางร่างกาย (Core Temperature) สูงมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะทำงานผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาและการปฐมพยาบาลอย่างเร่งด่วนอาจทำให้เสียชีวิตได้

อาการและสัญญาณของฮีทสโตรก

อุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติและหยุดการทำงานได้ หากพบอาการต่อไปนี้ควรปฐมพยาบาลทันที

  • ตัวร้อนจัด เป็นไข้สูงเกิน 40 องศาเซลเซียส
  • เหงื่อไม่ออก ผิวแห้ง แม้อากาศร้อนจัด
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว
  • สับสน กระสับกระส่าย พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ
  • เวียนหัว ทรงตัวไม่ได้ เป็นลม
  • หน้าแดง ตัวแดงจากความร้อน
  • กระหายน้ำอย่างรุนแรง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • หายใจหอบเหนื่อย
  • ปวดหัว
  • โคมา (Coma) หรือภาวะที่ร่างกายไม่ตอบสนอง
  • ความดันโลหิตต่ำ ช็อก และเสียชีวิต

คนที่มีอาการฮีทสโตรกอาจมีอาการต่างกันไปตามความรุนแรงของโรค โดยมีอาการหลักเป็นอาการเป็นไข้สูง ตัวร้อนจัด หากพบคนที่มีสัญญาณฮีทสโตรกควรปฐมพยาบาลทันทีเพื่อป้องกันการเสียชีวิต

วิธีปฐมพยาบาลฮีทสโตรก

ฮีทสโตรกเป็นภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์ ควรโทรเรียกรถพยาบาลหรือนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ในระหว่างนั้นควรปฐมพยาบาลด้วยวิธีต่อไปนี้

  • พาผู้เข้าไปในที่ร่ม อากาศเย็น อากาศถ่าย เปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลม
  • ยกขาผู้ป่วยให้สูงหรือพาดกับเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมอง
  • ถอดเสื้อผ้าออกเพื่อระบายความร้อน
  • หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ควรให้จิบน้ำเย็นตลอดจนกว่าจะถึงมือแพทย์
  • ลดอุณหภูมิร่างกายด้วยการใช้น้ำราดหรือพรมตามร่างกาย ใช้ผ้าชุดน้ำเย็นเช็ดทั่วตัว โดยเฉพาะศีรษะ รักแร้ ขาหนีบ คอ และข้อพับอื่น ๆ การเช็ดย้อนรูขุมขนช่วยลดอุณหภูมิได้เร็วขึ้น
  • หากมีถังหรืออ่างอาบน้ำสามารถให้ผู้ป่วยลงไปแช่น้ำได้ แต่ต้องเฝ้าไว้ตลอด เพราะผู้ป่วยอาจหมดสติและจมน้ำได้
  • วางผ้าเย็นหรือแผ่นเจลเย็นไว้ตามร่างกายจุดต่าง ๆ
  • หากผู้ประสบเหตุหมดสติ ไม่ตอบสนอง ไม่หายใจ หรือหายใจผิดปกติให้ทำ CPR

วิธีป้องกันฮีทสโตรกเบื้องต้นคือเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง ควรอยู่ในห้องที่เย็นและอากาศถ่ายเท และจิบน้ำตลอดทั้งวัน

ที่มา: Mayo Clinic, POBPAD

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส