การลดน้ำหนักเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน แต่หากวันใดวันหนึ่งจู่ ๆ น้ำหนักของคุณก็ลดลงอย่างไม่มีสาเหตุ ทั้งที่คุณไม่ได้อยู่ในช่วงลดน้ำหนัก อย่าเพิ่งดีใจไป! เพราะการที่น้ำหนักลดลงเรื่อย ๆ อาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี
สำหรับการประเมินทางการแพทย์เกี่ยวกับการน้ำหนักลดแบบไม่มีสาเหตุ และเข้าข่ายผิดปกตินั้น จะต้องลดมากกว่า 5% ในเวลา 6-12 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยผู้ใหญ่ เช่น การน้ำหนักลด 5% ในคนที่หนัก 72 กิโลกรัม คือ 3.6 กิโลกรัม หรือในคนที่หนัก 90 กิโลกรัม จะอยู่ที่ 4.5 กิโลกรัม เป็นต้น
โดยปกติแล้วน้ำหนักของคนเราจะขึ้นอยู่กับปริมาณแคลอรีที่ได้รับในแต่ละวัน รวมถึงระดับกิจกรรม ภาวะสุขภาพ และการดูดซับสารอาหารของแต่ละคน นอกจากนี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมก็อาจมีบทบาทในการเพิ่มหรือน้ำหนักลดได้เช่นกัน แต่หากคุณน้ำหนักลดลงอย่างไม่มีสาเหตุ คุณไม่ได้ควบคุมอาหาร ไม่ได้ไดเอท ไม่ได้ออกกำลังกายใด ๆ อาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพหรือโรคร้ายได้ เช่น
1.สูญเสียกล้ามเนื้อ
การสูญเสียกล้ามเนื้ออาจทำให้น้ำหนักลดลงอย่างคาดไม่ถึง อาการที่สำคัญคือกล้ามเนื้ออ่อนแรง แขนขาข้างหนึ่งของคุณอาจดูเล็กกว่าอีกข้างหนึ่ง
ร่างกายของคนเราประกอบด้วยมวลไขมัน และมวลปราศจากไขมัน ซึ่งรวมถึงกล้ามเนื้อ กระดูก และน้ำ หากคุณสูญเสียกล้ามเนื้อ น้ำหนักของคุณก็จะลดลงไปด้วย
โดยการสูญเสียกล้ามเนื้อสามารถเกิดขึ้นได้หากคุณไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อมาสักระยะ พบได้บ่อยในผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย หรือทำงานนั่งโต๊ะเป็นเวลานาน ซึ่งการออกกำลังกายและโภชนาการที่เหมาะสมจะทำให้กล้ามเนื้อกลับคืนมาได้
2.ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ฮอร์โมนเหล่านี้จะควบคุมการทำงานหลายอย่างในร่างกายรวมถึงเมแทบอลิซึม
หากไทรอยด์ของคุณทำงานมากเกินไป คุณจะเผาผลาญแคลอรีได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าคุณจะมีความอยากอาหารปกติก็ตาม ผลที่ได้คือการสูญเสียน้ำหนักโดยไม่ได้ตั้งใจ
การรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินขึ้นอยู่กับอายุและความรุนแรงของแต่ละคน โดยทั่วไปจะรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์ หรือการผ่าตัด
3.โรคไขข้ออักเสบ
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (RA) เป็นโรคเกี่ยวกับภูมิต้านตนเอง ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเยื่อบุข้อต่อของตนเอง นำไปสู่การอักเสบ และการอักเสบเรื้อรังสามารถเร่งการเผาผลาญและลดน้ำหนักได้
อาการของโรคไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ ได้แก่ ข้อบวม ปวดข้อ มักส่งผลต่อข้อต่อเดียวกันทั้งสองด้านของร่างกาย หากคุณเป็นโรคนี้เวลาคุณไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ข้อต่อของคุณอาจรู้สึกแข็งขึ้น
4.โรคเบาหวาน
อีกสาเหตุหนึ่งของการน้ำหนักลดที่ไม่พึงประสงค์ คือ โรคเบาหวานประเภท 1 หากคุณเป็นเบาหวานประเภท 1 ระบบภูมิคุ้มกันของคุณจะทำร้ายเซลล์ในตับอ่อนที่สร้างอินซูลิน หากไม่มีอินซูลินร่างกายของคุณก็ไม่สามารถใช้กลูโคสเป็นพลังงานได้ ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง จากนั้นไตของคุณจะกำจัดกลูโคสที่ไม่ได้ใช้ออกทางปัสสาวะ เมื่อน้ำตาลออกจากร่างกาย แคลอรีก็เช่นกัน
5.ภาวะซึมเศร้า
น้ำหนักลดอาจเป็นผลข้างเคียงของภาวะซึมเศร้า ซึ่งหมายถึงความรู้สึกเศร้า สูญเสีย หรือว่างเปล่าเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อารมณ์เหล่านี้จะรบกวนกิจกรรมประจำวัน เช่น ไปทำงานหรือไปโรงเรียน
อาการซึมเศร้าส่งผลกระทบต่อส่วนเดียวกันของสมองที่ควบคุมความอยากอาหาร และสามารถนำไปสู่ความไม่อยากอาหารและน้ำหนักลดในที่สุด แต่ทั้งนี้ในบางคน อาการซึมเศร้าอาจเพิ่มความอยากอาหาร อาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
6.โรคลำไส้อักเสบ
น้ำหนักลดโดยไม่คาดคิดอาจเป็นอาการของโรคลำไส้อักเสบ (IBD) หรือความผิดปกติของการอักเสบเรื้อรังหลายอย่างของระบบทางเดินอาหาร ที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคโครห์นและลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล
การอักเสบเรื้อรังนี้ทำให้ร่างกายของคุณใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังขัดขวางฮอร์โมนเกรลิน ฮอร์โมนความหิว ฮอร์โมนเลปติน และฮอร์โมนความอิ่ม ส่งผลให้ความอยากอาหารและน้ำหนักลดลง
7.โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจที่นำอากาศเข้าสู่ปอดของคุณ สิ่งนี้ทำให้เกิดเสมหะ ไอ ปัญหาการหายใจ และอาจทำให้น้ำหนักลดลงได้ โดยมีการศึกษาที่ให้ข้อมูลว่าการหายใจลำบากจะช่วยเผาผลาญแคลอรีได้มาก ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจต้องการแคลอรีในการหายใจมากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า นอกจากนี้ยังรู้สึกอึดอัดที่จะกินและหายใจในเวลาเดียวกันด้วย
8.เยื่อบุหัวใจอักเสบ
คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบจะมีไข้ และอาจมาพร้อมกับความไม่อยากอาหาร อีกทั้ง อุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นยังเพิ่มการเผาผลาญไขมัน ทำให้น้ำหนักลดลงด้วย
เยื่อบุหัวใจอักเสบนั้นมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อผู้ที่มีลิ้นหัวใจเสียหาย ลิ้นหัวใจเทียม หรือหัวใจพิการแต่กำเนิด การรักษาโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบจะใช้ยาปฏิชีวนะ และการผ่าตัด
9.วัณโรค
อีกสาเหตุหนึ่งของการน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ คือ วัณโรค ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่มักพบบริเวณปอด เกิดจากแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis อาการหลักของวัณโรค คือ ความอยากอาหารลดลงและน้ำหนักลดในที่สุด โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยวัณโรคจะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 6-9 เดือน
10.โรคมะเร็ง
โรคมะเร็งเป็นโรคที่ทำให้เซลล์เกิดความผิดปกติ และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หนึ่งในสัญญาณแรกของผู้ป่วยโรคมะเร็ง คือ จะน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งพบได้บ่อยในมะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งหลอดอาหาร
มะเร็งจะเพิ่มการอักเสบ ทำให้ร่างกายเกิดการสูญเสียกล้ามเนื้อ และขัดขวางฮอร์โมนที่ควบคุมความอยากอาหาร อีกทั้ง เนื้องอกที่กำลังเติบโตอาจเพิ่มการใช้พลังงานและการเผาผลาญในขณะที่คุณกำลังพักด้วย
11.โรคแอดดิสัน
โรคแอดดิสัน เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันส่งผลไม่ดีต่อต่อมหมวกไต ทำให้ต่อมหมวกไตไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอย่างคอร์ติซอล และอัลโดสเตอโรนได้เพียงพอ โดยคอร์ติซอลจะควบคุมการทำงานหลายอย่าง รวมถึงเมแทบอลิซึมและความอยากอาหาร ระดับคอร์ติซอลต่ำอาจทำให้ไม่อยากอาหารและน้ำหนักลดได้
12.ผู้ติดเชื้อ HIV
ผู้ติดเชื้อ HIV หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) ซึ่งมักทำให้น้ำหนักลดลงได้ โดยอาการของ HIV ขึ้นอยู่กับบุคคลและระยะของการติดเชื้อ อีกทั้ง การรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่ใช้เพื่อรักษา HIV และหยุดการแพร่กระจายของเชื้ออาจทำให้น้ำหนักลดลงได้เช่นกัน
13. ภาวะหัวใจล้มเหลว
การน้ำหนักลดเป็นภาวะแทรกซ้อนของภาวะหัวใจล้มเหลว (CHF) หากคุณเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวระบบย่อยอาหารของคุณจะไม่สามารถรับเลือดได้เพียงพอ และสามารถนำไปสู่อาการคลื่นไส้ และอิ่มเร็ว นอกจากนี้ อาจหายใจลำบากขณะรับประทานอาหารด้วย
แม้ว่าน้ำหนักตัวจะขึ้น ๆ ลง ๆ ตามธรรมชาติ แต่หากคุณเข้าข่ายว่าน้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุตามที่เราได้บอกไป ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของการน้ำหนักลดทันที นอกจากนี้ การน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจมีสาเหตุแฝงหลายประการ ตั้งแต่ภาวะของโรคไปจนถึงความผิดปกติทางจิตใจ ดังนั้น หากน้ำหนักลดแบบนี้อย่าเพิ่งดีใจไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ชัวร์ว่าตนเองกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหรือไม่
ที่มา healthline , mayoclinic , medicalnewstoday
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส