ความเศร้าเป็นอารมณ์พื้นฐานที่มนุษย์เราต้องเผชิญในทุกช่วงชีวิต แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญกับความเศร้าที่รุนแรง ผู้คนมักกังวลหรือสับสนกับโรคซึมเศร้าที่เป็นโรคความผิดปกติทางอารมณ์ หรือบางคนอาจเข้าใจว่าความเศร้าตนกำลังเผชิญอยู่คือความเศร้าทั่วไป แต่จริง ๆ แล้วคืออาการของโรคซึมเศร้า

การรับรู้ถึงโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นภายในตัวเราได้ทันเวลาเป็นเรื่องสำคัญต่อประสิทธิภาพในการรักษาและช่วยลดความเสี่ยงของผลกระทบและการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากโรคนี้ได้

ในปัจจุบันผู้คนรู้สึกเศร้ามากขึ้น ทั้งจากสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน ทั้งจากโรคซึมเศร้าที่เป็นการเจ็บป่วยด้วย ซึ่งในบทความนี้ Hack for Health จะบอกความแตกต่างระหว่างความเศร้าและโรคซึมเศร้าให้คุณได้อ่านกัน

ความเศร้าและโรคซึมเศร้าต่างกันอย่างไร?

ความรู้สึกเศร้ากับโรคซึมเศร้ามีลักษณะต่างกันในหลายด้าน เช่น

ความรุนแรงและเวลา

ความเศร้าที่เป็นความรู้สึกจากการที่ผู้คนต้องประสบกับความผิดหวังและการสูญเสีย ซึ่งระดับของความรุนแรงจะแตกต่างกันไปความสถานการณ์ หากเป็นเหตุการณ์ที่ไม่รุนแรงอาจทำให้เกิดความเศร้าที่ไม่รุนแรงด้วยเช่นเดียวกัน แต่ก็สามารถส่งผลต่อจิตใจทำให้รู้สึกไม่ดีและเป็นทุกข์ได้ โดยจะเป็นอยู่ไม่นาน ส่วนหากต้องเจอกับเหตุที่ทำให้เกิดความเศร้าอย่างรุนแรง อาจทำให้ร้องไห้ เสียใจแบบที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แต่จะเศร้าหนัก ๆ อยู่ไม่กี่วันและค่อย ๆ ดีขึ้น

ความเศร้าจากโรคซึมเศร้าจะเกาะติดอยู่กับคนที่ป่วยเป็นส่วนใหญ่ของเวลาทั้งวันในแทบทุกวัน ขณะที่ความเศร้าปกติอาจดีขึ้นเมื่อคนที่รู้สึกเศร้าหันไปให้ความสนใจกับสิ่งอื่น แต่ความเศร้าจากโรคซึมเศร้าจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงความเศร้าในขณะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน และอาจร้องไห้แบบควบคุมไม่ได้ และจะรู้สึกเศร้าอย่างนั้นเป็นอย่างน้อย 2 สัปดาห์

แต่ถ้าเกิดความรู้สึกเศร้าที่ไม่รุนแรง แต่รู้สึกติดต่อกันเกิน 1–2 เดือน นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน

ความรู้สึกและอารมณ์อื่น ๆ

การเผชิญกับสถานการณ์ที่ส่งผลต่อจิตใจนอกจากจะทำให้พบความเศร้าแล้ว อาจรู้สึกผิดหวัง เสียใจ น้อยใจบ้างตามแต่ละสถานการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

แต่สำหรับโรคซึมเศร้าแล้ว นอกความเศร้าที่หนักหน่วงยังทำให้เกิดอารมณ์และความคิดด้านลบที่รุนแรงอื่น ๆ ด้วย เช่น

  • รู้สึกผิด โกรธ หรือเกลียดตัวเอง
  • รู้สึกไร้ค่า ไม่มีความหมายต่อคนอื่น
  • รู้สึกว่างเปล่า ไม่มีเป้าหมายในชีวิต
  • รู้สึกตัดพ้อ คิดว่าตัวเองเป็นภาระ
  • รู้สึกอยากหายไปจากโลกหรือหายไปจากสถานการณ์ปัจจุบัน
  • เกิดความคิดที่จะทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย

โดยความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยมักไม่สามารถควบคุมให้ตัวเองหยุดเรื่องเหล่านี้ได้

อาการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

คนที่รู้สึกเศร้าอาจพบอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ไม่ค่อยมีสมาธิ ถ้าในช่วงแรกอาจพบอาการที่รุนแรง แต่จะดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ส่วนคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจพบอาการเดียวกันและอาการอื่น ๆ แต่รุนแรงมากกว่า เช่น

  • นอนไม่หลับ หลับยาก หรือนอนเยอะเกินไป
  • เบื่ออาหาร ร่วมกับน้ำหนักลด
  • ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถใช้เหตุผล ไม่สามารถตัดสินใจได้
  • เลิกทำสิ่งที่เคยชอบหรือเคยสนใจ
  • แยกตัวออกจากสังคม
  • ไร้เรี่ยวแรง อ่อนเพลีย
  • ไม่อยากทำอะไร แม้แต่สิ่งสามัญอย่างการกินอาหาร อาบน้ำ หรือทำความสะอาดบ้าน
  • เริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
  • เริ่มทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย

ผลกระทบ

ความเศร้าอาจส่งผลต่อสติและสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ คนที่มีความเศร้าจึงอาจทำสิ่งต่าง ๆ ได้น้อยหรือช้าลงกว่าเคย แต่ส่วนใหญ่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ อย่างการไปทำงาน ไปเรียน อาบน้ำ กินข้าว และอื่น

ส่วนคนที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามักจมอยู่กับความทุกข์ ความรู้สึกด้านลบ อาการที่เกิดขึ้น และพฤติกรรมที่เปลี่ยนจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในทุก ๆ ด้าน อย่างไม่สามารถทำงานได้เลย ไม่มีแรงหรือหดหู่จนไม่อยากเคลื่อนไหวไปทำสิ่งต่าง ๆ ไม่สามารถดูแลตัวเองได้เหมือนเคย

การรักษาหรือเยียวยา

ความรู้สึกเศร้ามักสามารถเยียวยาได้ด้วยเวลาและปัจจัยภายนอก อย่างการได้พูดคุยกับคนใกล้ตัว การได้ระบายความในใจ ได้รับการปลอบโยน ได้รับกำลังใจ ได้รับแง่คิดในการดำเนินชีวิต หรือการช่วยแก้ไขปัญหา แต่วิธีการเหล่านี้ใช้ไม่ได้ผลกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ไม่ว่าจะเป็นคำปลอบใจ การให้กำลังใจ หรือการใช้หลักตามเหตุผล ในทางกลับกันผู้ป่วยอาจยิ่งรู้สึกไร้ค่า เป็นภาระ หรือถูกตอกย้ำว่าอ่อนแออีกด้วย

ซึ่งเป็นผลมาจากระดับสารเคมีในสมองที่เรียกกันว่าสารสื่อประสาท (Neurotransmitters) ที่ไม่สมดุลจนทำให้การใช้เหตุผลและวิธีการคิดถูกแปลงไปเป็นความหมายอื่น วิธีที่จะรักษาโรคซึมเศร้าได้คือการปรับสมดุลสารเคมีในสมองด้วยการใช้ยาต่าง ๆ การบำบัดทางจิต หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์อื่น ๆ ร่วมกับการดูแลตนเองทำที่แพทย์แนะนำ

แม้จะเรียกคล้ายกันแต่ความรู้สึกเศร้ากับโรคซึมเศร้านั้นแตกต่างกันมาก หากคุณรู้สึกถึงสัญญาณของโรคซึมเศร้าหรือเห็นคนใกล้ตัวมีความรู้สึกหรืออาการแบบนี้ควรแนะนำให้เขาไปพบผู้เชี่ยวชาญ หรือไปพบแพทย์เป็นเพื่อนเขาเลยก็ได้ เพราะความคิดของผู้ป่วยโรคนี้ไม่แน่นอน การปล่อยทิ้งไว้ยิ่งอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ยังไม่พบสาเหตุและปัจจัยที่แท้จริงของโรคซึมเศร้า แต่การดูแลสุขภาพอยู่เสมอสามารถช่วยรักษาการทำงานของสมองและลดความเสี่ยงของความผิดปกติของสารในสมองที่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าและโรคความผิดปกติอารมณ์ชนิดอื่นได้

ที่มา: Chulalongkorn Hospital, WebMD

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส