ประเทศไทยติด Top 5 ของประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุด ซึ่งปัจจัยและสาเหตุของโรคไตมีหลายอย่างมาก ขอบอกเลยว่าไม่ใช่สิ่งไกลตัวเราอย่างแน่นอน โดยบทความนี้ Hack for Health ได้นำพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคไตให้กับคุณโดยไม่รู้ตัวมาให้ได้อ่านกัน โดยเฉพาะบรรดาคนวัยทำงานและพนักงานออฟฟิศ

ผู้ใหญ่ไม่ควรได้รับโซเดียมมากกว่า 2,000 มิลลิกรัม/วัน

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณโซเดียมราว 1,300 มิลลิกรัม/ซอง

รู้จัก ‘โรคไต’ ให้ดีขึ้น

แม้เราจะได้ยินคำว่าโรคไตผ่านหูอยู่เป็นประจำ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการแซวกันเวลามีคนใกล้ตัวกินของเค็มจัด แต่คนส่วนใหญ่รู้จักความร้ายกาจของโรคนี้น้อยมาก โดยโรคไตแล้วจริง ๆ เป็นกลุ่มโรคที่ส่งผลให้ไตเกิดความเสียหายและไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘ไตเสื่อม’ อย่างไตวาย ไตอักเสบ กรวยไตอักเสบ และนิ่วในไต

หน้าที่ของไตคือการขับของเสีย สารพิษ สารเคมี และสารอาหารส่วนเกินออกจากร่างกายในรูปของปัสสาวะ และมีส่วนช่วยในการดูดซึมสารอาหารอาหารบางชนิดด้วย โดยเมื่อไตเกิดความเสียหาย ประสิทธิภาพในการกรองหรือกำจัดของเสียของไตลดลง ส่งผลให้เกิดสารอาหารและสารต่าง ๆ ตกค้างไปภายในร่างกาย หลอดเลือด และอวัยวะ

เมื่อเกิดการคั่งค้างของสารและของเสียเหล่านี้ย่อมส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติตามมา เช่น นิ่วในไต ไตอักเสบ ติดเชื้อตามระบบต่าง ๆ และน้ำท่วมปอด ถ้าคุณเป็นโรคไตแล้ว บอกเลยว่าชีวิตในทุกวันจะไม่สดใสเหมือนเคย เพราะเมื่อไตเสื่อมและไม่สามารถกรองของเสียได้ คุณจำเป็นต้องไปฟอกไตที่โรงพยาบาลหรือคลินิกไตเทียม ซึ่งต้องเจาะท้องเป็นประจำ ต้องเดินทางไปยังคลินิกบ่อย ๆ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายและเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นได้ด้วย โรคไตเป็นอีกหนึ่งโรคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยอย่างเห็นได้ชัด

โดยผลเสียของโรคไตที่ Hack for Health มาบอก ไม่ใช่การขู่แต่อย่างใด เราเพียงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความอันตรายของโรคนี้และให้ความสำคัญกับการดูแลไตมากขึ้นเท่านั้น

พฤติกรรมคนวัยทำงานและชาวออฟฟิศที่เสี่ยงโรคไตไม่รู้ตัว

ตอนนี้น่าจะรู้ถึงความอันตรายของโรคไตกันไปแล้ว มาดูพฤติกรรมต่อไปนี้กันดีกว่าว่าคุณทำพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคไตแบบไหนบ้าง

1. กินอาหารรสจัดเป็นประจำ

ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอาหารของไทยส่งผลให้เมนูต่าง ๆ มีรสชาติที่หลากหลายและกลมกล่อม ซึ่งแม้จะเป็นความสุขทางใจเมื่อได้กินอาหารอร่อย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาหารไทยส่วนใหญ่มีรสชาติที่จัด ไม่ว่าจะหวาน เค็ม มัน นัว หรือเผ็ด

ซึ่งสิ่งที่ซ่อนอยู่ในความอร่อยก็คือเครื่องปรุงที่เต็มไปด้วยโซเดียม ทั้งเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ผงชูรส และผงปรุง หากแยกเป็นอย่าง ๆ อาจจะรู้สึกไกลตัว แต่ถ้าคุณลองจินตนาการถึงกะเพราไก่ราดข้าวหรือส้มตำปูปลาร้าที่กินไปเมื่อตอนเที่ยงน่าจะพอนึกออกว่าในนั้นมีหลากหลายรสชาติมากแค่ไหน และใช่ว่านาน ๆ กินที แต่พนักงานออฟฟิศอย่างเรา ๆ กินอาหารตามสั่งเป็นประจำทุกวัน แต่ละเมนูก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ไม่น้อย

นอกจากนี้ สิ่งที่ขาดไปไม่ได้สำหรับคนไทยคือน้ำจิ้ม ไม่ว่าจะเมนูไหนก็มักมากับน้ำจิ้มเสมอ อย่างน้ำจิ้มซีฟู้ด น้ำจิ้มสุกี้ หรือแม้แต่ซอสพริก ซอสมะเขือเทศก็ล้วนมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ

2. คุณเป็นเพื่อนรักนักปรุง

หลายครั้งที่คุณไปกินอาหารร้านใหม่หรือไปกินอาหารนอกบ้านที่รสชาติไม่ถูกปาก โดยเฉพาะอาหารตามสั่ง คนจำนวนไม่น้อยก็มักจะปรุงเพิ่มด้วยน้ำปลาพริกหรือพริกน้ำปลาตามแต่คนจะเรียก หรือบางทีอาหารรสจัดอยู่แล้ว แต่คุณก็ยังเลือกที่จะปรุงเพิ่มเพื่อรสชาติจัดจ้านยิ่งขึ้น

ก๋วยเตี๋ยวเป็นอีกหนึ่งเมนูยอดฮิตของชาวออฟฟิศ ที่มาพร้อมกับพวงพริกและชุดเครื่องปรุงสารพัด ทั้งน้ำตาล น้ำปลา น้ำส้มสายชู ซึ่งบางทีในน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวที่ใส่มาก็มีโซเดียมในปริมาณไม่น้อยอยู่แล้ว การปรุงเพิ่มเข้าไปยิ่งทำให้คุณได้รับโซเดียมมากขึ้นอีก บางคนถึงขั้นซดน้ำหมดชามก็มี

3. คุณเลือกกินอาหารสำเร็จรูปเพื่อประหยัดเวลา

แฮม ไส้กรอก อาหารแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปล้วนเป็นอาหารแนวสำเร็จรูปที่ใช้เวลาในทำไม่ซับซ้อน เหมาะกับวันที่รีบ ๆ แต่อาหารกลุ่มนี้เต็มไปด้วยโซเดียม อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ห่ออาจมีโซเดียมเกินครึ่งของที่ร่างกายคุณต้องการ แถมยังไม่ค่อยอิ่มด้วย

4. คุณชอบของทอดของมัน

ใครจะไปคิดว่าอาหารไขมันสูงจะส่งผลต่อไตด้วย คนส่วนใหญ่น่าจะคิดว่าอาหารไขมันสูงน่าจะทำให้เกิดโรคหัวใจและโรคเบาหวาน แต่การกินอาหารไขมันสูงส่งผลเสียต่อไตด้วยเช่นเดียวกัน เพราะไขมันจะกระตุ้นการสร้าง ‘คีโตน’ (Ketone) ขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน จะทำให้ไตขับน้ำและเกลือแร่มากขึ้น ซึ่งทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้น

5. คุณชอบกลั้นปัสสาวะ

อย่างที่ได้บอกว่าไตขับของเสียออกจากร่างกายในรูปแบบของปัสสาวะ โดยการกลั้นปัสสาวะอาจส่งผลให้กรวยไตเกิดการอักเสบและติดเชื้อและลุกลามไปที่ไตได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นบ่อยและต่อเนื่องอาจทำให้เสื่อมได้

6. คุณดื่มน้ำน้อย

ในกลไกการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย ไตจำเป็นต้องอาศัยน้ำหรือของเหลวในการพาสิ่งเหล่านั้นออกไปจากร่างกายในรูปแบบของปัสสาวะ ซึ่งการดื่มน้ำน้อยส่งผลให้กระบวนการการขับของเสียทำได้ช้า เมื่อใช้เวลามากขึ้น ความเสี่ยงที่เชื้อโรคที่ต้องถูกขับออกจะโตและส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและทำให้ไตอักเสบก็มีมากขึ้นเช่นเดียวกัน

7. คุณใช้ยาหรืออาหารเสริมเกินความจำเป็น

ยาและอาหารเสริมเกินจากการดูดซึมของร่างกายจะถูกขับออกมาผ่านไต ซึ่งโดยทั่วไปคุณสามารถใช้ยาเพื่อรักษาโรคได้ตามที่แพทย์สั่ง แต่การใช้ยาที่ต่อเนื่องและไม่จำเป็นอาจส่งผลให้ไตต้องรับภาระในการขับยาออกจากร่างกายมากขึ้น เช่นเดียวกันกับอาหารเสริม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด รวมไปถึงสารอาหารอื่น ๆ ที่มาจากอาหารเมื่อได้รับในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจเสี่ยงไตเสื่อมได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ พฤติกรรมอื่น ๆ อย่างการกินเหล้าหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ การไม่ออกกำลังกาย คนที่มีน้ำหนักตัวมาก มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะภาวะความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไตมากเข้าไปอีก

ซึ่งวิธีที่จะลดความเสี่ยงของโรคไตก็คือ ลด ละ เลิก พฤติกรรมที่เราได้บอกไป โดยคุณอาจจะเริ่มทีละอย่างที่สามารถทำได้เลย อย่างการเลือกกินยาเฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น ไม่กินเผื่อ ไม่กินเพื่อป้องกัน ยกเว้นว่าหมอจะสั่ง เลือกกินอาหารเสริมที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม และเลิกกลั้นปัสสาวะ

ส่วนเรื่องของอาหาร Hack for Health เข้าใจถึงความเร่งรีบของชีวิตคนวัยทำงานและชาวออฟฟิศ แต่เราอยากให้คุณเลือกกินอาหารที่รสไม่จัดมากหรืออย่างน้อยก็ลดการเติมเครื่องปรุงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วถ้าใครติดว่าตัวเองเสี่ยงต่อพฤติกรรมที่ได้บอกไป แนะนำว่าให้ตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อหาหนทางการป้องกันและรับมือก่อนเกิดโรค

ที่มา: กรมอนามัย, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, POBPAD

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส