ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดดเป็นภาวะอันตรายเกิดจากร่างกายมีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น ตัวร้อนจัด เหงื่อไม่ออกแม้อากาศร้อนจัด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว กระหายน้ำอย่างรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว
สาเหตุของฮีทสโตรกก็มาจากการเกิดความร้อนสะสมในร่างกายจากสภาพอากาศ การออกกำลังกาย การดื่มน้ำน้อย และอีกหลายปัจจัย เนื่องจากฮีทสโตรกเป็นโรคที่อันตราย Hack for Health เลยเตรียมวิธีป้องกันโรคฮีทสโตรกมาให้คุณได้อ่านกัน
8 วิธีป้องกันฮีทสโตรก
จุดประสงค์หลักในการป้องกันโรคฮีทสโตรก คือ การควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติหรือไม่ร้อนจนเกินไป
1. อยู่ในที่ร่มและเย็น
การอยู่ท่ามกลางแสงแดดจัดและอากาศร้อนสามารถเพิ่มอุณหภูมิได้หลายองศาในเวลาไม่นาน ดังนั้น การอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเท และมีอากาศเย็นด้วยการเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ หากต้องออกไปข้างนอกควรพยายามเดินหลบตามเงาตึก เงาต้นไม้ หรือใต้อาคารให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ควรพกร่มติดตัวไว้เสมอ
หากบ้านไหนมีเด็กและผู้สูงอายุ ควรให้อยู่ในบ้านให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ร่างกายจัดการกับอุณหภูมิร่างกายได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่
2. จิบน้ำตลอดวัน
การดื่มน้ำสามารถช่วยปรับอุณหภูมิภายในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งป้องกันการเกิดโรคฮีทสโตรกได้ โดยแนะนำให้จิบน้ำในปริมาณเล็กตลอดวัน นอกจากนี้ การดื่มน้ำเย็นยังรู้สึกสดชื่นเมื่อต้องเจอกับอากาศได้ด้วย หากใครที่ต้องทำงานกลางแจ้งยิ่งควรดื่มน้ำให้บ่อยขึ้น แม้ไม่กระหายน้ำก็ตาม
3. เลือกเสื้อผ้าให้เหมาะกับอากาศร้อน
การเลือกเสื้อผ้าส่งผลต่ออุณหภูมิภายในร่างกายได้ อย่างสีของเสื้อผ้า ควรเลือกสีอ่อนหรือสีสว่าง อย่างสีขาว สีเทาอ่อน และสีเหลืองอ่อน เพราะเคยมีการทดสอบว่าเป็นสีที่ไม่ดูดความร้อน เนื้อผ้าควรเลือกเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าอื่น ๆ ที่ระบายอากาศได้ดี
สำหรับเสื้อคลุมกันแดดก็เช่นเดียวกัน ควรเลือกสีอ่อนและระบายอากาศได้ดี อาจไม่ต้องติดกระดุมหรือรูดซิปปิดทั้งหมดเพื่อให้อุณหภูมิถ่ายเท
4. เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
การอยู่กลางแจ้งสามารถทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นได้ และยิ่งการทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะการออกกำลังกายยิ่งเสี่ยงต่อโรคฮีทสโตรกมากขึ้น เพราะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเร็วกว่าปกติ ไม่ว่าจะช่วงเช้าที่แดดอ่อนหรือช่วงเย็นที่แดดเบาลงแล้วก็ตาม ควรเปลี่ยนไปออกในที่ร่ม อย่างในบ้าน ในยิม หรือเปลี่ยนเวลาออกกำลังกายไปเป็นช่วงค่ำสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้
5. ออกกำลังกายให้มากขึ้น
แม้ในข้อก่อนจะแนะนำให้เลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง แต่หากคุณสามารถออกกำลังกายในที่ร่มได้จะช่วยให้ร่างกายคุ้นเคยกับความร้อนและสามารถจัดการกับอุณหภูมิในร่างกายได้ดียิ่งขึ้น ในระหว่างและหลังออกกำลังกาย ควรดื่มจิบน้ำอย่างสม่ำเสมอ
6. ทาครีมกันแดด
ครีมกันแดดไม่ได้แค่ช่วยเรื่องความสวยความงามเท่านั้น แต่ครีมกันแดดยังมีคุณสมบัติสะท้อนความร้อนและลดการสะสมความร้อนในผิว ดังนั้น คุณจึงควรทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน ทั้งบริเวณผิวหน้าและผิวกาย คุณสามารถดูวิธีเลือกครีมกันแดดให้ตอบโจทย์ได้จากบทความวิธีเลือกครีมกันแดดให้เหมาะกับแดดเมืองไทย
7. ดูแลตัวเองเป็นพิเศษหากเป็นกลุ่มเสี่ยง
นอกจากเด็กและผู้สูงอายุที่ควรดูแลตัวเองให้ห่างจากความร้อนมาเป็นพิเศษแล้ว คนที่มีโรคประจำตัวและใช้ยาบางชนิด อย่างยาขับปัสสาวะ ยาปรับความดันโลหิต ยาต้านเศร้า ควรดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษเช่นเดียวกัน เพราะผลข้างเคียงจากยาอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคฮีทสโตรกมากขึ้น
8. เช็กทุกครั้งก่อนออกจากรถ
การจอดรถทิ้งไว้ในช่วงที่มีอากาศร้อนจะทำให้ความร้อนสะสมภายในรถ คุณควรเช็กทุกครั้งก่อนออกจากรถ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือสัตว์เลี้ยง เพราะนอกจากจะเสี่ยงขาดอากาศหายใจแล้วยังทำให้เกิดฮีทสโตรกได้ด้วย
นอกจากนี้ ระหว่างวันควรเช็กความพร้อมของร่างกายอยู่เสมอ หากรู้สึกร้อน ไม่สบายตัว เวียนหัว หรือหน้ามืด ควรรีบหลบเข้าที่ร่มและเย็น ดื่มน้ำเย็น และนั่งพักจนกว่าอาการจะดีขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคฮีทสโตรกได้
ที่มา: Mayo Clinic