เชื่อว่าทุกคนเคย ‘ฝันร้าย’ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้คุณต้องสะดุ้งตื่นขึ้นกลางดึก ในบางครั้งความฝันนั้น ๆ กลับสร้างความกังวลใจให้คุณจนถึงขั้นนอนไม่หลับ และหากเกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจกลายเป็นแผลในใจของคุณได้ โดยปกติแล้วฝันร้ายจะพบได้บ่อยในวัยเด็ก แต่สำหรับผู้ใหญ่ 50-85% พบว่าฝันร้ายเป็นครั้งคราวเท่านั้น
ฝันร้าย คือ ความฝันที่สมจริง และน่าวิตกกังวล โดยทั่วไปมักจะเกี่ยวกับเรื่องภัยคุกคามต่อการอยู่รอดหรือความปลอดภัย ซึ่งมักทำให้เกิดอารมณ์วิตกกังวล หรือหวาดกลัว
นักจิตวิทยาด้านการนอนหลับและสุขภาพในแมนฮัตตันกล่าวว่า “ความฝันมักจะรวมเอาสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างวันเข้าด้วยกัน และฝันร้ายคือความพยายามของจิตใจในการทำความเข้าใจกับเหตุการณ์เหล่านี้ โดยการเล่นภาพซ้ำระหว่างการนอนหลับ”
หากคุณฝันร้ายมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจทำให้เกิดความลำบากหรือความบกพร่องในที่ทำงาน ที่สำคัญยังเชื่อมโยงกับอาการนอนไม่หลับ ภาวะซึมเศร้า พฤติกรรมคิดสั้น โรคหัวใจ และโรคอ้วน อีกด้วย
9 วิธีหยุดฝันร้าย
1.กำหนดกิจวัตรการนอนหลับให้มีประสิทธิภาพ
ฝันร้าย เกิดขึ้นช่วงที่กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรักษาปัญหาฝันร้ายในผู้ใหญ่ คือการทำให้ตนเองนอนหลับสนิทมากขึ้น โดยกิจวัตรการนอนหลับที่ดีสามารถทำได้โดยการออกกำลังกาย ตั้งเวลานอนและตื่นให้สม่ำเสมอ ดูแลให้ห้องของคุณมืดและเย็น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้นอนไม่หลับ และทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เมื่อคุณนอนหลับได้อย่างสนิทและเป็นช่วงเวลา จะช่วยลดปัญหาฝันร้ายลงได้
2.ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการกระสับกระส่าย และตื่นตลอดทั้งคืน ซึ่งอาจทำให้คุณฝันร้ายได้เช่นกัน แม้ว่าผู้คนจำนวนมากจะใช้แอลกอฮอล์เพื่อผ่อนคลาย และรู้สึกง่วงนอนหลังดื่ม แต่ความจริงแล้วนี่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ให้ลองเปลี่ยนเป็นดื่มชาสมุนไพร และเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการนอนหลับแทน
3.ไม่กินจุกจิกก่อนนอน
อาหารว่าง หรือขนม จะกระตุ้นการเผาผลาญอาหาร ซึ่งทำให้สมองของคุณทำงานมากขึ้น และอาจนำไปสู่ฝันร้ายได้ ในขณะที่บางคนนอนหลับได้ดีขึ้นหลังจากรับประทานอาหารว่างเบา ๆ แต่อย่างไรก็ตามคุณควรหยุดรับประทานอาหารก่อนเข้านอน 2-3 ชั่วโมง และหากคุณสังเกตเห็นว่าคุณมักฝันร้ายหลังจากกินอาหารก่อนนอน ให้ลองหลีกเลี่ยงการกินในช่วงตอนกลางคืนหรืออาหารมื้อหนักก่อนนอนดู
4.ตรวจสอบยาที่กิน
ยาบางชนิดสามารถกระตุ้นฝันร้ายได้โดยการรบกวนการนอนหลับของคุณ หากคุณสังเกตได้ว่าฝันร้ายของตนเองเริ่มต้นหรือเพิ่มขึ้นเมื่อมีการใช้ยาบางชนิด ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับตารางการใช้ยาหรือเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่นแทน
แม้ว่าผลิตภัณฑ์เมลาโทนิน จะเป็นตัวช่วยในการนอนหลับที่เป็นที่นิยมอย่างมาก แต่ก็ส่งผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจที่ควบคุมการนอนหลับ และอาจนำไปสู่ฝันร้ายมากขึ้นหรือน้อยลงได้เช่นกัน หากคุณต้องการใช้เมลาโทนินเพื่อการนอนหลับที่ดีขึ้น ให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเพื่อให้แน่ใจว่าคุณรับประทานเมลาโทนินในเวลาที่เหมาะสม และไม่ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน
5.ทำกิจกรรมคลายเครียด
การหากิจกรรมทำเพื่อคลายเครียด เช่น การออกกำลังกลายให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายอย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยลดการฝันร้ายได้
6.จดบันทึกความเครียดของคุณ
หากคุณมีเรื่องเครียดหรือกังวลใจ ให้ลองจดบันทึกความกังวลของคุณลงบนกระดาษหรือพิมพ์ใส่โทรศัพท์มือถือไว้ เพราะวิธีนี้จะช่วยบรรเทาเรื่องเครียดที่เป็นส่วนหนึ่งของอาการฝันร้ายในยามค่ำคืนของคุณได้
7.อย่าดูหรืออ่านเนื้อหาที่น่ากลัวก่อนนอน
กิจกรรมก่อนนอนส่งผลต่อความฝันของเราได้เช่นกัน การที่คุณเสพสื่อที่มีความเครียดหรือน่ากลัวก่อนนอนอาจทำให้คุณเก็บเอาเรื่องราวต่าง ๆ ไปฝันได้ ยิ่งในช่วงที่มีโรคระบาด ชีวิตประจำวันโดยทั่วไปคนเราก็จะอยู่ท่ามกลางความหวาดระแวงอยู่แล้ว การเสพข่าวเครียด ๆ เหล่านี้ ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นให้คุณฝันร้ายได้เช่นกัน ดังนั้น จึงควรอ่านหรือดูเนื้อหาเชิงบวกก่อนเข้านอนเพื่อให้ร่างกายและสมองได้ผ่อนคลาย
8.ฟังเสียงผ่อนคลาย
ความเงียบเป็นกุญแจสำคัญในกิจวัตรการนอนหลับ แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบความเงียบสนิท หรือตื่นเพราะเสียงที่ควบคุมไม่ได้ในตอนกลางคืน ลองใช้พัดลมหรือเข้าแอปพลิเคชันที่มีเสียงธรรมชาติที่ฟังสบายเป็นเวลาหลายคืนติดต่อกัน เพื่อช่วยให้สมองของคุณปรับตัวได้ ทำให้คุณนอนหลับสนิทและลดความเสี่ยงต่อการฝันร้ายลงได้
9.ตรวจสุขภาพจิตของคุณ
ถ้าไม่มีอะไรดีขึ้นและคุณยังฝันร้ายอยู่ ให้ปรึกษานักบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เพราะฝันร้ายอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้ เช่น โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางอารมณ์ จึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาต่อไป
หากคุณเป็นคนที่ฝันร้ายเป็นครั้งคราวก็อาจจะไม่มีอะไรที่ต้องกังวลใจนัก แต่หากฝันร้ายของคุณเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันก็ควรหาทางแก้ไขที่เหมาะสมกับพฤติกรรมของตนเอง อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาฝันร้ายเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยในเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคุณด้วยเช่นกัน
ที่มา CNN
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส