ขี้เกียจทำงานจัง…วันนี้ขี้เกียจไม่ออกกำลังกายดีกว่า….คนเราสามารถ ‘ขี้เกียจ’ ได้เป็นเรื่องปกติ แม้คุณอาจจะรู้สึกผิดในบางครั้งที่ตนเองไม่อยากทำอะไรเลย รู้สึกเหมือนชีวิตไร้ค่า แต่อย่าเพิ่งคิดแบบนั้นไป เพราะบางทีความขี้เกียจก็มีข้อดี ที่สำคัญคุณสามารถขี้เกียจแต่ประสบความสำเร็จได้!

เทคนิคขี้เกียจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

1.ฝึกให้เป็นนิสัยมากกว่าบังคับตนเอง

การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานและมาจากการบังคับตนเอง แม้ว่าช่วงแรกคุณจะสามารถทำมันออกมาได้อย่างดีเยี่ยม แต่เมื่อเวลาผ่านไปคุณจะเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าและไม่อยากทำมันอีก ดังนั้น ให้คุณเปลี่ยนความคิดของตนเองจากสิ่งที่ต้องฝืนใจทำ หรือบังคับตนเองให้ต้องทำ ให้กลายเป็นนิสัยของคุณพร้อมกับคุ้นชินไปกับมัน 

เช่นเดียวกับคนที่ไม่มีระเบียบวินัยในตนเองหรือคนที่ขี้เกียจบ่อย ๆ ยกตัวอย่าง เรื่องการออกกำลังกาย สำหรับคนที่ไม่มีวินัยอาจจะทำ ๆ หยุด ๆ แต่หากคุณลองเปลี่ยนการออกกำลังกายให้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต และกลายเป็นนิสัยที่คุณต้องทำทุกวัน ก็จะทำให้คุณรู้สึกดี มีความสุขในการลุกขึ้นมาออกกำลังกายมากขึ้น

หรือแม้แต่การแปรงฟัน เราทุกคนแปรงฟันทุกวันจนกลายเป็นนิสัย หากลองเอาเรื่องการออกกำลังกายมาเปรียบเทียบกับการแปรงฟันดู สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะกลายเป็นนิสัยและความเคยชินของคุณที่ต้องทำมันไปโดยปริยาย ดังนั้น แทนที่คุณจะใช้วิธีการบังคับตนเอง ให้มุ่งเน้นไปที่การสร้างนิสัยใหม่แทน

2.เลือก 3 สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องทำในแต่ละวัน

คุณอาจจะเป็นคนที่มีหลากหลายหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบ หรือมีภาระในแต่ละวันมากมาย นี่ไม่ใช่เรื่องผิดเพราะในบางครั้งอาจกลายเป็นเรื่องที่ดีที่คุณมีบทบาทหน้าที่หลายอย่าง แต่ใน 1 วัน หากคุณสามารถเลือกสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำมา 3 สิ่งได้ จะช่วยให้คุณจัดการตนเองและบรรลุเป้าหมายในแต่ละวันได้ง่ายขึ้น

หากคุณไม่ระบุ 3 สิ่ง ที่คุณควรทำในแต่ละวัน ผลลัพธ์อาจทำให้ในวันนั้นของคุณยุ่งเหยิง ไม่รู้ว่าจะเริ่มทำอะไรก่อน ยิ่งสำหรับคนที่ไม่มีระเบียบวินัย หรือเป็นคนที่ขี้เกียจทำอะไรหลายสิ่งหลายอย่างแล้วล่ะก็ หากไม่จัดสรรแต่ละอย่างดี ๆ อาจทำให้คุณหมดวันไปฟรี ๆ ได้เลย

การระบุ 3 สิ่งที่ต้องทำจะช่วยแก้ปัญหาได้โดยการสร้างเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อความสำเร็จในแต่ละวัน เริ่มแรกคุณอาจจะถามตนเองว่า  “ถ้าวันนี้ฉันทำได้แค่ 3 สิ่ง อะไรจะผลักดันเป้าหมายของฉันไปข้างหน้าได้มากที่สุด” หรืออาจจะถามตนเองว่า “สิ่งใดต่อไปนี้หากทำเสร็จแล้วจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น” เท่านี้ก็จะทำให้คุณจัดสรรสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อชีวิตที่ควรทำได้มากขึ้น โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

3.รู้จักช่วงเวลาที่สมองปลอดโปร่งและโฟกัสได้ดี

คนเรามักมีช่วงเวลาที่รู้สึกอ่อนล้า คิดงานเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก และมีช่วงเวลาที่สมองปลอดโปร่ง สามารถคิดงานได้สบาย ๆ ยกตัวอย่าง บางคนอาจจะเขียนงานในช่วงตอนกลางวันได้ไม่ดีเท่าตอนกลางคืน เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบในช่วงค่ำคืน อาจทำให้สมองปลอดโปร่งและเขียนงานได้ดีมากขึ้น 

หรือบางคนอาจจะสมองแล่นในช่วงเช้าที่ตื่นนอน หลังจากที่เมื่อคืนนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ แต่ช่วงบ่ายอาจเริ่มล้า และคิดงานไม่ออกได้เช่นกัน

วิธีที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จ แม้จะมีบางช่วงที่ร่างกายอ่อนล้า ขี้เกียจ หรือไม่อยากทำอะไรก็คือ ให้คุณสังเกตตนเองว่ามักจะสมองแล่น หรือตื่นตัวในช่วงเวลาใด และจัดการนำ 3 สิ่งที่คุณคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดไปทำในช่วงเวลานั้น ขณะที่ช่วงเวลาที่คุณมักจะเฉื่อยชาก็ให้เลือกทำในสิ่งที่ไม่ยุ่งยากวุ่นวาย หรือใช้ความคิดมากนัก หากคุณรู้จักช่วงเวลาที่สมองของตนเองทำงานได้ดีแล้ว คุณก็จะสามารถจัดการเวลา และสามารถขี้เกียจในบางเวลาได้โดยไม่กระทบต่อหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ

4.มองหาจุดแข็งของตนเอง

คนเราทุกคนมีทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อนอยู่ในคนคนเดียว และการจะทำให้ชีวิตแต่ละวันง่ายขึ้นได้คุณต้องรู้จักจุดแข็งของตนเองก่อน เช่น คุณทำอะไรได้ดีอย่างสม่ำเสมอ ? , คุณทำอะไรแล้วรู้สึกได้รับพลังงานมากกว่าเสียพลังงาน ? เป็นต้น หากคุณได้นำจุดแข็งของตนเองมาปรับใช้ในงานหรือหน้าที่ที่ต้องทำในทุกวัน จะทำให้งานของคุณง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลง ผลลัพธ์ออกมาดีมากกว่างานอื่น ๆ 

วิธีที่จะค้นหาจุดแข็งของตนเอง สามารถทำได้โดยการลองเขียนออกมาวันละ 7 เรื่อง ว่าวันนี้คุณทำอะไรบ้าง พร้อมทั้งระบุทักษะที่ตนเองใช้ในนั้น ทำแบบนี้หลาย ๆ วัน คุณจะมองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าสุดท้ายแล้วจุดแข็งหรือความสามารถอะไรที่คุณถนัด เช่น คุณอาจจะเป็นคนที่ค้นหาข้อมูลทางวิชาการเก่ง แต่อาจจะใช้เวลาในการสังเคราะห์ออกมาเป็นข้อมูลค่อนข้างนาน เมื่อรู้แบบนี้แล้วคุณอาจจะจัดสรรเวลาในการค้นหาข้อมูลเพียงไม่มาก และทุ่มเวลาช่วงที่สมองปลอดโปร่งมาเขียนข้อมูลแทน 

5.ปล่อยให้สมองได้พัก

สำหรับคนที่มีช่วงเวลาในการทำงานที่จำกัด หรือเป็นพนักงานประจำแล้วเกิดสมองล้า คิดงานไม่ออกระหว่างนั่งอยู่โต๊ะทำงาน วิธีการนั่งเหม่อ ๆ หรือปล่อยสมองตนเองให้ได้พักเบรกสัก 15-30 นาที ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร เพราะบางทีการที่เราใช้ความคิดเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดความเครียด และเมื่อเกิดความเครียดแล้วฝืนทำงานต่อก็จะทำให้งานออกมาไม่ได้ประสิทธิภาพ การปล่อยสมองให้โล่งหรือนั่งเหม่อคิดอะไรเพลิน ๆ ปล่อยตนเองให้ได้ขี้เกียจสักพักอาจทำให้คุณได้ไอเดียใหม่ ๆ ในการทำงานมากขึ้นได้ 

การลุกขึ้นยืน เดินออกไปด้านนอกห้องทำงานก็มีส่วนช่วยให้สมองและร่างกายผ่อนคลายเช่นกัน นอกจากจะทำให้คุณได้พักสมองแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดออฟฟิศซินโดรมอีกด้วย

6.อย่าลืมชื่นชมตนเอง

แม้ว่าเรื่องนี้อาจฟังดูตลกสำหรับบางคน แต่การที่เราหันมาให้กำลังใจหรือชื่นชมตนเอง จะช่วยสร้างพลังที่ดีให้กับตนเองได้ไม่น้อย หากคุณได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ลองชื่นชมกับผลงาน และพูดกับตนเองว่า “เธอเก่งจังเลย” เพียงแค่วิธีง่าย ๆ แค่นี้ จะทำให้คุณมีกำลังใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ขึ้นเป็นกอง 

ขณะเดียวกันหากคุณทำงานหรือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความเคร่งเครียด และไม่ได้ดื่มด่ำชื่นชมกับผลลัพธ์ที่ได้ อาจทำให้คุณไม่มีแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นวันใหม่ จิตใจห่อเหี่ยว ไม่มีไฟในการทำงาน และไม่อยากจะทำสิ่งนั้น ๆ ต่อก็เป็นได้

‘ความขี้เกียจ’ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ไม่ใช่เรื่องผิดหากคุณสามารถจัดสรรชีวิตของตนเองได้ดี ในบางครั้งความขี้เกียจก็มีข้อดี เช่น ทำให้คุณได้มีเวลาในการพักสมอง ได้หาไอเดียใหม่ ๆ ไม่เหนื่อยหรือหักโหมมากเกินไป หนำซ้ำอาจทำให้คุณสามารถอยู่กับสิ่งนั้น ๆ ได้นานมากยิ่งขึ้นด้วย

สิ่งสำคัญ คือ คุณต้องรู้จักการจัดสรรเวลาและเป้าหมายของตนเอง จากนั้นก็ลงมือทำมันให้สำเร็จด้วยเทคนิคต่าง ๆ ที่เราได้แนะนำไป อาจจะมีขี้เกียจบ้างบางเวลาแต่รับรองว่าทุกสิ่งที่คุณตั้งเป้าหมายเอาไว้จะสำเร็จอย่างแน่นอน!

ที่มา linkedin , istrong

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส