การตรวจจับการนอนหลับเป็นฟีเจอร์พื้นฐานของสมาร์ตวอตช์หรือนาฬิกาอัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาในการนอนหลับ คุณภาพการนอนหลับ หรือแม้แต่วงจรในการนอนหลับในแต่ละคืน ซึ่งตอบโจทย์คนที่ชื่นชอบการดูแลสุขภาพและคนที่มีปัญหาด้านการนอนหลับที่อยากจะติดตามการนอนหลับของตัวเอง

แต่คำถามคือผลลัพธ์ของการนอนหลับในทุก ๆ เช้าที่คุณอาจอ่านจากสมาร์ตวอตช์มาจากไหน แล้วสมาร์ตวอตช์ที่เราสวมในแต่ละคืนตรวจจับการนอนของเราด้วยวิธีไหน? Hack for Health จะมาเล่าให้คุณได้อ่านกัน

สมาร์ตวอตช์กับการตรวจจับการนอนหลับ

ในปัจจุบันสมาร์ตวอตช์แต่ละรุ่นมีคุณสมบัติในการตรวจจับการนอนหลับในระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและความฉลาดของซอฟต์แวร์ แต่เทคโนโลยีหลัก ๆ ที่สามารถตรวจกับค่าต่าง ๆ ในการนอนหลับและนำมาประมวลผลคือสิ่งที่เรียกว่า ไมโครเทคโนโลยี (Micro Electro-Mechanical Systems) หรือ MEMS ซึ่งจะมี 3 รูปแบบด้วยกัน

1. ไจโรสโคป (Gyroscope) เป็นเซนเซอร์ขนาดเล็กที่ตรวจวัดทิศทางการเคลื่อนไหวของข้อมือที่สวมสมาร์ทวอทช์ไว้ด้วยการอาศัยหลักแรงโน้มถ่วงของโลก

2. แอคเซเลโรมิเตอร์ (Accelerometer) เซนเซอร์ขนาดเล็กที่ตรวจวัดทิศทางการเคลื่อนไหวอื่น ๆ โดยไม่ได้ยึดโยงกับหลักแรงโน้มถ่วง

3. พีพีจี (PPG: ) เป็นเซนเซอร์วัดแสงสะท้อนจากเนื้อเยื่อผิวหนัง โดยสมาร์ตวอตช์จะถูกตั้งค่ามาแต่แรกเพื่อให้ปล่อยแสงออกจากด้านล่างของตัวเรือนหรือส่วนที่อยู่ติดกับผิวหนังบริเวณเหนือข้อมือของเรา ซึ่ง PPG เซนเซอร์จะตรวจวัดแสงที่สะท้อนจากเนื้อเยื่อกลับมา ซึ่งจะผ่านทั้งเนื้อเยื่อและเส้นเลือดขนาดเล็ก เป็นเทคโนโลยีแบบเดียวที่ใช้ในการวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว

ข้อมูลจากไจโรสโคปและแอคเซเลโรมิเตอร์อาจนำไปประมวลผลว่าเราหลับไปนานแค่ไหนหรือหลับสนิทแค่ไหนด้วยการตรวจจับการเคลื่อนไหวของร่างกายในแต่ละคืน อย่างการขยับตัวเมื่อตื่นนอนหรือการพลิกตัวระหว่างคืน ข้อมูลจาก PPG เซนเซอร์บอกได้ถึงค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดที่สื่อถึงการหายใจระหว่างนอนหลับ อย่างคนที่นอนกรนอาจมีออกซิเจนในเลือดน้อยทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ PPG ยังใช้วัดอัตราการเต้นของหัวใจระหว่างนอนหลับด้วย

ซึ่งซอฟต์แวร์ของสมาร์ตวอตช์แต่ละเจ้าก็จะเอาค่าที่วัดได้เหล่านี้มาประมวลผลและแสดงให้คุณดูบนหน้าจอ โดยนอกจากไมโครเทคโนโลยีเหล่านี้แล้ว สมาร์ตวอตช์บางรุ่นอาจมีเซนเซอร์ที่ใช้ตรวจจับแสงจากภายนอกและอุณหภูมิภายในห้องนอนที่ส่งผลต่อการนอนหลับของคุณได้ด้วย

ฟีเจอร์ตรวจการนอนหลับในสมาร์ตวอตช์แม่นยำแค่ไหน?

สำหรับการดูแลสุขภาพทั่วไป ฟังก์ชันการตรวจับการนอนหลับในแต่ละคืนอาจช่วยให้คุณพอรู้ได้ว่าคุณนอนหลับดีแค่ไหน แต่ข้อมูลนี้อาจแค่ไกด์คุณเพื่อการรักษาสุขภาพเฉย ๆ เพราะฟีเจอร์การตรวจจับการนอนหลับด้วยสมาร์ตวอตช์ไม่ได้ให้ผลที่แม่นยำขนาดนั้นและมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ ยิ่งเมื่อเทียบกับมาตรฐานการตรวจการนอนหลับในทางการแพทย์แล้ว

ดังนั้น หากคุณคิดว่าตัวเองมีปัญหาด้านการนอนหลับ แนะนไปให้ไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำ Sleep Test ที่มีความแม่นยำและสามารถนำข้อมูลมาใช้เพื่อการวินิจฉัยโรคได้ แต่สำหรับคนทั่วไปแล้วข้อมูลการนอนหลับจากสมาร์ตวอตช์ถือว่าเป็นตัวช่วยที่ดีให้คุณติดตามการนอนหลับและการดูแลสุขภาพของคุณได้

ที่มา: LiveScience, HopkinMedicine

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส