การบูลลี่ในที่ทำงาน (Workplace Bullying) หรือการถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน เป็นการทารุณกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจรวมถึงพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การวิจารณ์ด้วยวาจา การตำหนิ ดูหมิ่นดูแคลน หรือการใช้อำนาจบีบบังคับ เป็นต้น จากผลสำรวจพบว่าคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานมักถูกบูลลี่หรือกลั่นแกล้งในที่ทำงานถึง 30%

โดยการบูลลี่ในที่ทำงานส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต และสร้างความอึดอัดในสถานที่ทำงาน นอกจากนี้ยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอีกด้วย

สัญญาณและผลกระทบของการบูลลี่ในที่ทำงาน

หากคุณตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งหรือรังแกในที่ทำงาน คุณอาจเริ่มต้นแต่ละสัปดาห์ด้วยความวิตกกังวล จากนั้นคุณจะเริ่มนับถอยหลังจนกว่าจะถึงวันหยุดสุดสัปดาห์เพราะทุกข์ทรมานกับการต้องเจอบุคคลเหล่านั้นในที่ทำงาน โดยพฤติกรรมที่คุณอาจจะเจอจากเพื่อนร่วมงานที่มีพฤติกรรมบูลลี่หรือกลั่นแกล้ง มีดังนี้

  • มีนิสัยชอบด่าทอผู้อื่น
  • ทำให้คุณเป็นเป้าหมายให้คนอื่นกลั่นแกล้ง หรือพูดแซวในทางตลกขบขัน
  • ถูกขอให้ทำงานหนักจนเกินไป 
  • ขู่ว่าจะลดตำแหน่งหากทำงานพลาด 
  • แยกคุณออกจากกลุ่มเพื่อนร่วมงานให้อยู่คนเดียว
  • บังคับให้ทำสิ่งที่ไม่อยากทำ
  • เพิกเฉยต่อความพยายามของคุณ
  • ทำให้คุณอับอายต่อหน้านายจ้าง เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า
  • ข่มขู่เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้อง
  • ใช้คำพูดดูหมิ่นผู้อื่น
  • แย่งเครดิตผลงานของผู้อื่น
  • มีพฤติกรรมคุกคามผู้อื่น
  • วิจารณ์ผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม

การกลั่นแกล้งในที่ทำงาน อาจไม่ได้มีลักษณะที่โจ่งแจ้งเปิดเผยเสมอไป อาจใช้รูปแบบที่ละเอียดอ่อนกว่านั้น เช่น การโยนความผิดให้อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไร จนผู้ถูกกลั่นแกล้งเกิดความรู้สึกผิดและสับสนเสียเองว่าสรุปแล้วตนเองเป็นฝ่ายผิดหรือไม่

ผลเสียของการบูลลี่ในที่ทำงาน

1.ผลเสียด้านสุขภาพ

ผลกระทบของการบูลลี่ในที่ทำงานไม่ได้จบลงเมื่อคุณออกจากที่ทำงานแต่จะต่อเนื่องจนถึงเวลาเข้านอนของคุณเลยทีเดียว และอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร่างกายและจิตใจตามมา รวมถึงความดันโลหิตสูง อารมณ์แปรปรวน ตื่นตระหนก และความเครียด

ผู้ที่ถูกรังแกในที่ทำงานอาจมีอาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อตึง และมีความอยากอาหาร นอกจากนี้ยังส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับ นำไปสู่ความเครียดที่เพิ่มขึ้น เกิดความรู้สึกนับถือตนเองต่ำ วิตกกังวล และเป็นซึมเศร้าในที่สุด

นอกจากนี้ นักวิจัยพบว่าเพื่อนร่วมงานของผู้ที่ถูกรังแกก็ได้รับผลกระทบด้านลบเช่นกัน แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ถูกรังแกก็ตาม การศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งและผู้ที่พบเห็นการกลั่นแกล้งมักจะได้รับประเภทยากล่อมประสาท และยานอนหลับ เป็นต้น

2.ผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน

คนที่ถูกบูลลี่ในที่ทำงานไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ และอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับงานที่ทำตามมา ด้วยเหตุผลดังนี้

  • ไม่สามารถทำงานหรือมีสมาธิได้
  • สูญเสียความภาคภูมิใจในตนเอง
  • มีปัญหาในการตัดสินใจ
  • ผลผลิตงานที่ได้ลดลง

ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งไม่เพียงแต่สูญเสียแรงจูงใจในการทำงานเท่านั้น แต่ยังต้องเสียเวลาเพราะมัวแต่หมกมุ่นกังวลใจกับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น

  • คอยหลีกเลี่ยงเพื่อนร่วมงานที่มีพฤติกรรมชอบบูลลี่
  • วางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่อาจถูกกลั่นแกล้ง
  • ครุ่นคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ถูกกลั่นแกล้งตลอดเวลา
  • พยายามหาทางปกป้องตนเอง

3.เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงลบในที่ทำงาน

การบูลลี่ในที่ทำงานไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่ส่งผลเสียต่อนายจ้างเช่นกัน เพราะเหตุการณ์เหล่านี้จะรบกวนสภาพแวดล้อมในการทำงาน และส่งผลต่อขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน อีกทั้งสร้างผลเสียอีกมากมาย ดังนี้

  • สร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีในที่ทำงาน
  • นายจ้างอาจถูกเรียกร้องค่าชดเชยบางอย่างจากพนักงาน
  • ส่งเสริมให้พนักงานขาดงานมากขึ้น
  • ผลงานหรือชิ้นงานที่ได้ลดลง
  • ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายสูง และอาจเป็นประเด็นทางกฎหมายทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง​
  • สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้องค์กร

วิธีรับมือกับการถูกบูลลี่ในที่ทำงาน

หากคุณถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงานไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่คุณรู้สึกว่ามันช่างไม่สมเหตุสมผลที่คุณต้องมาเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ วิธีการลาออกเพื่อหางานใหม่อาจจะไม่ใช่ทางออกสำหรับทุกคน ยังมีวิธีที่คุณสามารถใช้เพื่อรับมือได้ ดังนี้ 

  • เมื่อเจอเพื่อนร่วมงานทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ให้บอกพวกเขาไปตามตรงว่าเป็นสิ่งที่คุณรับไม่ได้ กำหนดขอบเขตของตนเองให้เพื่อนร่วมงานคนนั้นทราบว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่คุณไม่ชอบ และคุณจะไม่ยินยอมให้เขาทำเช่นนี้อีกเด็ดขาด 
  • หากพบว่าเพื่อนร่วมงานคนดังกล่าวไม่มีทีท่าจะหยุดพฤติกรรมบูลลี่ คุณอาจจะพูดกับเพื่อนร่วมงานอย่างจริงจังมากขึ้น และเลือกที่จะไม่สนใจคนเหล่านั้นจนกว่าจะมีการปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้น
  • เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน ให้บันทึกรายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงเวลาและสิ่งที่เกิดขึ้น เขียนชื่อพยานที่เห็นเหตุการณ์และบันทึกเอกสารที่สามารถยืนยันการกระทำที่ไม่สมควรของเพื่อนรวมงานคนนั้นไว้
  • หากคุณพยายามแก้ไขปัญหาการถูกบูลลี่ในที่ทำงานด้วยตนเองแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ถึงเวลาที่คุณจะต้องให้นายจ้างมีส่วนรับรู้ หรือหากเป็นเรื่องรุนแรงคุณอาจต้องดำเนินการเพื่อยื่นเรื่องร้องเรียนต่อไป

นอกจากการดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกกลั่นแกล้งแล้ว การดูแลตนเองก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เช่น การขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานคนอื่น หาวิธีผ่อนคลายความเครียด และพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหากคุณมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีความทุกข์ใจ

ขณะเดียวกันนายจ้างควรดำเนินการบางอย่างเพื่อลดการบูลลี่ในที่ทำงาน เช่น ให้ความรู้แก่พนักงานถึงพฤติกรรมที่ไม่สมควรปฏิบัติ และจัดการออกกฎขั้นเด็ดขาดปกป้องพนักงานที่ถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นและนำไปสู่ผลเสียทั้งด้านจิตใจ ผลลัพธ์ของงาน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นพิษ

ที่มา verywellmind , hbr.org , istrong

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส