เหตุผลที่หลาย ๆ คนมองว่า การพูดคุยเรื่องการเมืองหรือการเลือกตั้งในสถานที่ทำงาน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเพราะเราทุกคนล้วนมีความเชื่อที่แตกต่างกัน เพื่อนร่วมงานของคุณ อาจมีความเชื่อและค่านิยมทางการเมืองในบางแง่มุมที่ลึกซึ้ง และการพูดคุยเรื่องการเมืองในที่ทำงานอาจนำไปสู่ความไม่ลงรอยกัน และเกิดความตึงเครียดระหว่างเพื่อนร่วมงาน

สิ่งนี้จะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ชวนอึดอัด ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างมากเลยทีเดียว แต่เมื่อถึงงานอิเวนต์ใหญ่ อย่างการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ หรือการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการเลือกตัวแทนประชาชนครั้งสำคัญ 

ก็อาจมีประเด็นพูดคุยในเรื่องนี้บ้างในที่ทำงาน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ในกรณีที่คุณหลีกเลี่ยงการคุยไม่ได้จริง ๆ หรือคุณอยากจะนำเสนอทัศนคติ มุมมองของตัวเองต่อการเลือกตั้ง จะมีวิธีการพูดอย่างไร ที่จะทำให้บรรยากาศในการสนทนานั้นเป็นไปอย่างราบรื่น เกิดการแลกเปลี่ยนการพูดคุยกันอย่างมีเหตุผล ไม่ทำให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจตามมา วันนี้เราก็ได้หยิบจับนำประเด็นนี้แหละมานำเสนอคุณผู้อ่านกัน หวังว่าจะมีประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อย

วิธีพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการเมือง ในที่ทำงาน 

ขอให้เรื่องนี้เป็นเพียงหัวข้อหนึ่งในการสนทนาเท่านั้น ไม่ทำให้เกิดการลุกลามบานปลายไปจนกระทั่งทำให้เกิดความไม่พอใจส่วนตัว หรือก่อให้เกิดการโกรธเคืองกันแบบรุนแรง เราขอแนะนำวิธีการพูดคุยเรื่องการเมืองในที่ทำงาน แบบมีหลักการและเหตุผล ดังนี้

  • ให้เกียรติ: การเคารพความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าคุณจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนั้นก็ตาม และหลีกเลี่ยงการโจมตีเรื่องส่วนตัว เพราะไม่เกี่ยวกับประเด็นสนทนา และไม่ใช้ภาษาที่ดูถูกเหยียดหยาม หรือไม่สุภาพ จดจ่ออยู่กับประเด็นที่กำลังคุยเท่านั้น เน้นไปที่นโยบายและแนวคิดที่กำลังอภิปรายอยู่
  • ฟังอย่างตั้งใจ: เปิดใจให้กว้างเพื่อรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน และพยายามเข้าใจว่าแนวคิดที่เกิดขึ้นนี้มาจากไหน เพื่อที่คุณจะได้เข้าใจมุมมองที่เพื่อนร่วมงานต้องการนำเสนออย่างถ่องแท้
  • เคารพนโยบายของบริษัท: บริษัทบางแห่งอาจมีนโยบายห้ามคุยเรื่องการเมืองในที่ทำงาน ซึ่งเป็นนโยบายของบริษัทและถ้ามีการออกนโยบายเช่นนี้มา พนักงานก็ควรปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว  
  • สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็น: ในกรณีที่คุณอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ หรืออยู่ในตำแหน่งหัวหน้า ที่มีลูกน้องอยู่ภายใต้การดูแล เป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เพื่อนร่วมงานทุกคนรู้สึกสบายใจ ในการแสดงความคิดเห็น แม้ว่าความคิดเห็นของพวกเขาจะแตกต่างจากคุณก็ตาม
  • สิ่งที่สำคัญที่สุด*: อย่าปล่อยให้การสนทนาทางการเมืองสร้างความไม่พอใจ จนลุกลามไปสู่ความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเกิดความขัดแย้ง

การรับมือกับความเห็นต่างทางการเมืองในที่ทำงาน แบบดีต่อสุขภาพจิตและความสัมพันธ์

สิ่งสำคัญของการรับมือความเห็นต่างทางการเมืองในที่ทำงาน คือ จะต้องเป็นวิธีที่ดีต่อสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ และคุณต้องทำความเข้าใจว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเชื่อ และมีสิทธิ์ที่จะมีความคิดเห็นทางการเมืองเป็นของตนเอง แม้ว่าความคิดเห็นเหล่านั้นจะแตกต่างจากความคิดเห็นของคุณก็ตาม

  • เน้นการสนทนาที่มีเหตุผล: มุ่งเน้นเจาะลึกหัวข้อของการพูดคุยไปที่ประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองเท่านั้น ไม่ลาก โยง หรือแซะเรื่องส่วนตัวของเพื่อนร่วมงาน อย่างเด็ดขาด 
  • พักสมอง: พยายามหมั่นสำรวจอารมณ์ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ถ้าคุณพบว่าตัวเองมีอารมณ์ในการคุยเรื่องการเมืองมากจนเกินไป ให้หยุดพักและพยายามออกห่างจากการสนทนานั้นทันที และพยายามควบคุมสติด้วยการควบคุมลมหายใจ สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ 2 – 3 นาที เพื่อทำให้ออกซิเจนไหลเวียนเข้าไปเลี้ยงสมองได้ดี หรือพัก ดื่มกาแฟ หาขนมกิน เพื่อทำให้จิตใจปลอดโปร่ง

หลักจิตวิทยาลดความบาดหมางระหว่างเพื่อนร่วมงาน

ในช่วงสถานการณ์ปกติหลาย ๆ คนอาจจะไม่ได้มีประเด็นที่จะต้องพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการเมือง กับเพื่อนร่วมงานมากนัก แต่ในยามที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ หรือการจัดอีเวนต์ใหญ่ ๆ อย่างการเลือกตั้ง แน่นอนว่าถึงแม้จะอาจพยายามหลีกเลี่ยงที่สุดแล้ว แต่ก็หลีกหนีไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นเราจะมาแนะนำแนวทางการลดความบาดหมางที่อาจจะเกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงาน กับการพูดคุยในเรื่องของ การเมืองหรือการเลือกตั้งกัน

1. อย่าพยายามที่จะเอาชนะ

การพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องของการเลือกตั้งหรือเรื่องการเมือง จะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกันเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะนำมาใช้ในการเอาชนะกัน สิ่งที่สำคัญคือการพูดต่อประเด็นที่มีการกำลังพูดถึงอยู่อย่างตรงไปตรงมา มีหลักการเหตุผลมารองรับ พยายามเปิดใจทำความเข้าใจกับความคิดเห็นของผู้อื่น 

2. รู้ว่าเมื่อใดที่การสนทนานั้นควรจะจบลง 

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ดีที่สุดก็คือ การที่ทุกฝ่ายเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น เมื่อการสนทนาเดินไปถึงจุดที่เรียกได้ว่า เกิดอารมณ์ที่รุนแรงขึ้น เกิดความไม่พอใจอย่างมาก เกิดอาการหัวร้อนหรือเกิดอาการหงุดหงิด การจบบทสนทนาไว้แต่เพียงเท่านั้น จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะในกรณีที่มีการเลยเถิดอาจจะมีการนำเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น มาใช้ในการด่าทอซึ่งกันและกันซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรที่จะเกิดขึ้น

หลังจากที่คุณได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด รสนิยมความชอบที่มีต่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ของเพื่อนร่วมงานแล้ว และคุณสัมผัสได้ว่าแนวคิดของเขานั้นไม่ตรงกับแนวคิดของคุณ แล้วคุณเองก็ไม่ต้องการที่จะไปหักล้างความเชื่อของเขา เพราะทุกคนต่างก็มีเหตุผลและความเชื่อเป็นของตัวเอง ที่เหลือคุณก็เพียงแค่หลีกเลี่ยงการคุยเรื่องการเมืองกับบุคคลดังกล่าวเท่านั้น  เพราะถ้าไม่นับในเรื่องของความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกัน เขาก็อาจจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่น่ารักของคุณในมุมอื่น ๆ ก็ได้

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส