เคยไหมที่เวลาเจ็บป่วยแล้วหาสาเหตุของอาการในกูเกิลแล้วพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง? Hack for Health เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยเคยเจอกับปัญหานี้ แม้ว่าจะรู้ทั้งรู้ว่าไม่ได้เกี่ยวกับมะเร็งแต่ก็อดตกใจไม่ได้ ในบทความนี้เราเลยจะมาแนะนำ AGNOS แอปพลิเคชันวิเคราะห์อาการป่วยด้วย AI ที่จะช่วยวิเคราะห์อาการป่วยและสาเหตุที่เป็นไปได้ผ่านแอปพลิเคชัน รวมถึงฟีเจอร์อื่นของแอปพลิเคชันนี้กัน

AGNOS วิเคราะห์อาการ แชตกับหมอ และซื้อยาได้ในแอปพลิเคชันเดียว

ปัจจุบันการแข่งขันเรื่อง Telemedicine หรือการหาหมอออนไลน์ในไทยเริ่มดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่ง AGNOS มีฟีเจอร์ของการเป็นแอปพลิเคชันการหาหมอออนไลน์ได้ค่อนข้างครบ ขอลิสต์ฟีเจอร์และรายละเอียดคร่าว ๆ ตามนี้เลย

  • วิเคราะห์อาการด้วย AI ซึ่งช่วยให้คุณรู้สาเหตุที่เป็นไปได้ของอาการ ทั้งอาการด้านร่างกายและจิตใจ (ไม่มีค่าใช้จ่าย การสมัครสมาชิกสามารถตรวจแบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง)
  • ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่านระบบแชต (ไม่มีวิดีโอคอล) ตลอด 24 ชั่วโมง (มีค่าใช้จ่าย)
  • ค้นหาข้อมูลของแพทย์และบุคลากรทางแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั่วประเทศ รวมถึงตารางออกตรวจ (ไม่สามารถนัดล่วงหน้าผ่านทางแอปพลิเคชันได้)
  • ซื้อยาออนไลน์หรือนัดรับที่ร้านขายยา แต่คุณต้องมีประวัติการวิเคราะห์โรคด้วย AI ก่อน
  • ตั้งกระทู้ถามแพทย์ คล้ายกับเว็บบอร์ดที่สมาชิกสามารถตั้งคำถามแล้วให้แพทย์มาตอบ (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

นอกจากฟีเจอร์เหล่านี้ AGNOS ยังมีฟีเจอร์ทั่วไปอย่างการดูประวัติการตรวจย้อนหลังและการตั้งค่า และการซื้อบริการสุขภาพออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน

วิเคราะห์อาการด้วย AI จาก AGNOS แม่นยำแค่ไหน?

ฟีเจอร์ที่ของ  AGNOS ที่ Hack for Health ขอรีวิวละเอียดหน่อย คือ ฟีเจอร์วิเคราะห์อาการด้วย AI ซึ่งทาง AGNOS ได้เคลมว่า AI ของเขาผ่านการพัฒนาร่วมกับทีมแพทย์และได้รับการทดสอบถึง 100,000 ครั้งเลยทีเดียว

จากการลองใช้แล้วต้องบอกว่า AGNOS เป็นแอปพลิเคชันวิเคราะห์อาการที่ค่อนข้างละเอียด โดยเขาจะจัดหมวดหมู่ของอาการตามอวัยวะหรือระบบที่เป็น อย่างปากและลำคอก็จะแบ่งเป็นเจ็บคอ คอแห้ง ปากแห้ง กระหายน้ำ เสมหะใส เสมหะสีอื่น กลืนเจ็บ ก้อนที่คอ หรือถ้าเป็นดวงตาจะมีตั้งแต่คันตา แสบตา ปวดตา ตาแห้ง ซึ่งในแอปพลิเคชันจะแบ่งออกเป็นอีกหลายอาการและหลายหมวดหมู่จนเรียกได้ว่าครอบคลุมทุกอาการทั่วร่างกาย รวมถึงอาการทางจิตใจด้วย

ซึ่งหน้าที่ของคุณแค่เลือกอาการที่คุณเป็น แต่แนะนำว่าให้ลองอ่านอาการในหมวดให้ครบก่อน เพราะบางอาการอาจต่างกัน เช่น กลืนลำบากกับกลืนเจ็บที่อาจจะต้องสังเกตตัวเองก่อนว่าอาการนั้นเป็นแบบไหนกันแน่ ถ้าคิดว่าเป็นทั้ง 2 อาการก็ติ๊กได้เลย หรืออาการไหนที่ต้องใช้การอธิบายจะมีสัญลักษณ์ที่จะอธิบายลักษณะอาการให้คุณเข้ามากขึ้น

พอเลือกอาการเสร็จ แอปพลิเคชันจะพาไปหน้าต่อไปเพื่อเก็บข้อมูลของแต่ละอาการเพิ่มเติม อย่างถ้าคุณไอ ไอมาก ไอน้อย มีเสมหะสีอะไร กระทบกับการนอนหลับไหม ส่งต่อการใช้ชีวิตในระดับไหน ซึ่งคำถามค่อนข้างละเอียด แต่เข้าใจง่าย โดยก่อนจะไปขั้นสรุปผล AGNOS จะมีฟีเจอร์ให้คุณพูดอาการอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อนำไปประมวลผลด้วย

และหน้าผลลัพธ์การวิเคราะห์ แอปพลิเคชันจะแสดงสาเหตุ (ที่เป็นไปได้) ของอาการเหล่านี้เรียงตามลำดับมากไปน้อย โดยจะมีเปอร์เซ็นต์บอกเลย ซึ่งหากอาการไหนที่หายได้เองจะมีข้อความบอกด้วยว่าสามารถหายได้เอง แถมมีคำแนะนำในการดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วย หากอาการไหนจำเป็นต้องได้รับการตรวจหรือรักษาแอปพลิเคชันจะแนะนำให้นัดหมายเพื่อตรวจกับแพทย์เพิ่มเติม

สรุปแอปพลิเคชัน AGNOS

ในมุมของนักเขียนด้านสุขภาพคิดว่า AGNOS ถือเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้วิเคราะห์อาการได้ค่อนข้างละเอียด เพราะมีการจัดหมวดหมู่และอาการที่ครอบคลุม แต่คนที่ใช้แอปพลิเคชันอาจต้องเข้าใจในอาการของตัวเองก่อนว่าอาการของตัวเองเป็นอาการแบบไหนกันแน่ เพราะการเลือกอาการผิดอาจทำให้การวิเคราะห์ไม่แม่นยำ

แต่จากที่ได้ลองใช้ ผู้เขียนได้ลองเอาอาการของโรคคอหอยอักเสบ ซึ่งเป็นอาการจริงของตัวผู้เขียนที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ที่โรงพยาบาลมาแล้ว ลองกรอกเข้าไปในแอปพลิเคชัน ซึ่งผลลัพธ์แรกออกมาตรงกับที่แพทย์วินิจฉัยว่าคอหอยอักเสบ

ส่วนเรื่องการใช้งานถือว่าใช้งานค่อนข้างง่าย แต่ในหน้าเลือกอาการที่มีหลายอาการให้เลือกจะดูตาลายนิดหน่อยเวลา ถ้าไม่รู้ว่าอาการที่ตัวเองเป็นอยู่ในหมวดไหนอาจต้องใช้เวลาในการเลื่อนดูนานสักหน่อย

ทั้งนี้ทั้งนั้นการวิเคราะห์อาการหรือวิเคราะห์โรคด้วย AI และแอปพลิเคชันเป็นเพียงวิธีเบื้องต้นในการดูแลสุขภาพเท่านั้น การไปตรวจกับหมอที่โรงพยาบาลหรือการพูดคุยกับหมอผ่าน Telemedicine ย่อมให้ความแม่นยำมากกว่า รวมถึงคำแนะนำในการดูแลตัวเองที่ดีกว่า รวมถึงการตอบข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับอาการด้วย แต่ในภาพรวมการมีแอปพลิเคชัน AGNOS ติดมือถือไว้ถือว่าเป็นทางเลือกที่สะดวกและมีประโยชน์ไม่น้อย เพราะต่อให้คุณไม่เชื่อในผลการวิเคราะห์ก็ยังใช้บริการ Telemedicine เพื่อคุยกับหมอในเบื้องต้นได้

หากใครสนใจดาวน์โหลดติดมือถือไว้สามารถไปตำได้ที่ Appstore และ Google Playstore

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส