ปัจจุบันคนหันมาใช้สารแทนความหวานแทนการกินน้ำตาล เพราะเชื่อว่าไม่ทำให้เกิดไขมัน ไม่ทำให้อ้วนขึ้น ที่สำคัญลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ แต่เมื่อไม่นานมานี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาแนะนำว่าไม่ควรใช้สารแทนความหวานในการลดน้ำหนัก เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคได้
องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะไม่ควรใช้สารแทนความหวานเพื่อจุดประสงค์ในการควบคุมน้ำหนัก หรือลดความเสี่ยงต่อโรค โดยการศึกษาล่าสุดบ่งชี้ว่าการใช้สารแทนความหวาน ไม่ได้ให้ประโยชน์กับร่างกายในการลดไขมันระยะยาวทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก อีกทั้ง การศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่าการใช้สารแทนความหวานอาจส่งผลกระทบหรืออาการที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ความเสี่ยงของโรคเบาหวานประเภท 2 เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และอาจรุนแรงถึงขั้ันเสียชีวิต
ฟรานเชสโค บรางคา (Francesco Branca) ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการและความปลอดภัยด้านอาหารขององค์การอนามัยโลก (WHO) เผย การแทนที่น้ำตาลด้วยสารแทนความหวานนั้น ไม่ได้ช่วยควบคุมน้ำหนักในระยะยาว ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักอาจต้องใช้วิธีอื่นในการลดน้ำตาลแทน เช่น การบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลและความหวานจากธรรมชาติ ทั้งจากผลไม้ อาหาร หรือเครื่องดื่มที่ไม่หวาน เป็นต้น นอกจากนี้ สารให้ความหวานไม่ได้ให้ประโยชน์ใด ๆ ต่อร่างกาย และไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ จึงควรลดความหวานของอาหารตั้งแต่ช่วงอายุน้อย เพื่อสุขภาพที่ดี หรือลดความหวานจากน้ำตาลด้วยวิธีอื่น
โดยคำแนะนำนี้ยังรวมถึงสารให้ความหวานทั้งสังเคราะห์ ดัดแปลง หรือเกิดเองตามธรรมชาติชนิดอื่น ๆ ทั้งหมดที่ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทของน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน (Stevia), ไซคลาเมต (cyclamates), ซูคราโลส (Sucralose), เอซีซัลเฟมเค (Acesulfame K) และนีโอเทม (Neotame) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คำแนะนำนี้ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว และจากความเชื่อมโยงที่สังเกตเห็นในหลักฐานระหว่างสารให้ความหวานและผลลัพธ์ของโรคในขณะที่ศึกษาวิจัย พบว่าอาจมีตัวแปรที่แตกต่างตามลักษณะพื้นฐานของผู้เข้าร่วมการศึกษา อีกทั้ง รูปแบบที่ซับซ้อนของการใช้สารแทนความหวาน จีงต้องมีการอภิปรายสาระสำคัญในบริบทเฉพาะของแต่ละประเทศ เช่น ขอบเขตของการบริโภคในกลุ่มอายุต่าง ๆ
โดยแนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับสารให้ความหวานนั้น เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างนิสัยการกินเพื่อสุขภาพที่ดีตลอดชีวิต ปรับปรุงคุณภาพอาหาร และลดความเสี่ยงของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั่วโลก
ที่มา who.int
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส