การเดินละเมอ หรือที่เรียกว่าอาการง่วงซึม ร่างกายจะลุกขึ้นและเดินไปมาขณะที่อยู่ในสภาวะหลับ มักพบบ่อยในเด็ก โดยปกติแล้วการละเมอไม่ได้ส่งผลร้ายแรงหรือเป็นสัญญาณอันตรายของปัญหาสุขภาพมากนัก นอกเสียจากว่า อาการละเมอจะเกิดขึ้นบ่อย ซ้ำ ๆ ซึ่งนั่นอาจเป็นสัญญาณความผิดปกติของการนอน
ทั้งนี้ การละเมอในผู้ใหญ่อาจมีผลมาจากความผิดปกติเกี่ยวกับการนอน รวมถึงภาวะสุขภาพบางอย่างที่อาจเป็นอันตรายได้
อาการเดินละเมอ
การเดินละเมอมักเกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำ โดยมักเกิดขึ้นหลังจากหลับไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง แต่ปกติแล้วอาการเดินละเมอจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนักและอาจกินเวลาหลายนาที โดยคนที่เดินละเมอจะมีอาการดังต่อไปนี้
- ลุกจากเตียงแล้วเดินไปรอบ ๆ
- นั่งบนเตียงและลืมตา
- มีสีหน้าแววตาเป็นประกาย
- ไม่ตอบสนองหรือสื่อสารกับผู้อื่น
- ตื่นยากแม้จะถูกเรียก
- มึนงงหรือสับสนในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังจากที่รู้สึกตื่นตัว
- มีปัญหาในการทำงานระหว่างวันเนื่องจากการนอนถูกรบกวน
และในบางครั้ง คนที่เดินละเมอจะมีอาการอื่นร่วมด้วย ดังนี้
- ทำกิจกรรมที่เป็นกิจวัตร เช่น แต่งตัว พูดคุย หรือรับประทานอาหาร
- ออกจากบ้าน
- ขับรถออกจากบ้าน
- มีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น ปัสสาวะในตู้เสื้อผ้า
- ได้รับบาดเจ็บ เช่น ตกบันไดหรือกระโดดออกทางหน้าต่าง
- มีอารมณ์รุนแรงในช่วงที่รู้สึกสับสนสั้น ๆ ทันทีหลังจากตื่นนอน หรือบางครั้งระหว่างเดินละเมอ
สาเหตุของการเดินละเมอ
การเดินละเมอจัดอยู่ในความผิดของการนอนหลับ ประเภท parasomnia ซึ่งเป็นพฤติกรรมหรือประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในระหว่างการนอนหลับ การเดินละเมอจะเกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับระยะที่หลับลึกที่สุด โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเดินละเมอ ได้แก่
- อดนอน
- ความเครียด
- ไข้
- ตารางการนอนหยุดชะงัก การเดินทาง หรือถูกรบกวนการนอน
ในบางครั้งการเดินละเมออาจถูกกระตุ้นโดยสภาวะแวดล้อมที่รบกวนการนอนหลับ เช่น
- การหายใจผิดปกติขณะหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท หรือยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวช
- การใช้สารเสพติด เช่น แอลกอฮอล์
- โรคขาอยู่ไม่สุข
- โรคกรดไหลย้อน
นอกจากนี้ ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเดินละเมออาจมาจากกรรมพันธุ์ที่ผู้เป็นพ่อแม่มีประวัติการเดินละเมอด้วยเช่นกัน
ทำอย่างไรเมื่อคนที่บ้านเดินละเมอ
สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำหากคุณเห็นคนเดินละเมอ คือตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาปลอดภัย แล้วค่อย ๆ พาพวกเขากลับไปนอนโดยสร้างความเชื่อใจให้กับพวกเขา อย่าตะโกนหรือทำให้บุคคลนั้นตกใจ และอย่าพยายามห้ามปรามเขา เว้นแต่พวกเขาจะตกอยู่ในอันตราย
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
อาการเดินละเมอเป็นครั้งคราวไม่ได้ก่อให้เกิดความกังวลและมักหายได้เอง แต่หากคุณพบว่าตนเองมีอาการเช่นนี้บ่อย ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยอาการที่ควรไปพบแพทย์ มีดังนี้
- อาการเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น มากกว่า 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือหลายครั้งต่อคืน
- นำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นอันตรายหรือทำให้ได้รับบาดเจ็บ
- รบกวนสมาชิกในบ้าน หรือรบกวนเวลาการนอนของตนเอง
- ส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอนในเวลากลางวันมากเกินไป หรือมีปัญหาในการทำงาน
โดยแพทย์อาจส่งคุณไปรักษาเฉพาะด้านเกี่ยวกับการนอนหลับ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการพยายามนอนหลับให้เพียงพอและทำกิจวัตรประจำวันที่ผ่อนคลายเป็นประจำก่อนนอนจะช่วยเรื่องอาการเดินละเมอได้ ขณะเดียวกันแพทย์จะพิจารณาปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นเกิดการเดินละเมอ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น หรือกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข เป็นต้น
ที่มา clevelandclinic , nhs.uk , mayoclinic
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส