คนไทยจำนวนไม่น้อยมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาฆ่าเชื้อกับยาแก้อักเสบ โดยเข้าใจว่าทั้ง 2 ชนิดนี้คือยาชนิดเดียวกันทำให้ใช้ยาผิดประเภทและผิดวิธี ซึ่งการใช้ยาโดยขาดความเข้าใจไม่ได้แค่ทำให้คุณใช้ยาอย่างเปล่าประโยชน์เท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จนถึงขึ้นเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

Hack for Health เลยอยากเอาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเข้าใจผิดของยา 2 ชนิดนี้และผลกระทบมาให้ได้อ่านกัน

ยาฆ่าเชื้อ ≠ ยาแก้อักเสบ

ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เป็นยาที่ใช้รักษาการติดเชื้อ “แบคทีเรีย” และ “เชื้อรา” เท่านั้น เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อนี้ออกไปจากร่างกายได้ โดยโรคที่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อที่พบได้บ่อย คือ โรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากแบคทีเรีย ยาฆ่าเชื้อที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ เพนนิซิลิน (Penicillin) และอะม็อกซีซิลิน (Amoxicillin)

ส่วนยาแก้อักเสบมักหมายถึงยาแก้อักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แอสไพริน (Aspirin) และไดโคลฟีแนก (Diclofenac) ซึ่งยากลุ่มนี้จะช่วยต้านอักเสบ ลดไข้ และแก้อาการปวดได้ ไม่ได้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค

กรณีที่คนมักใช้ยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบสลับกัน

การใช้ผิดเกิดได้ในหลายกรณีด้วยกัน แต่ที่พบบ่อย ได้แก่

1. เป็นหวัดจากไวรัส แต่กินยาฆ่าเชื้อ

โรคหวัด (Common cold) เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ไม่รุนแรงและพบได้บ่อย สาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัส โดยจะทำให้เกิดอาการเป็นไข้ ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล และอ่อนเพลีย ซึ่งเป็นอาการทั่วไปของโรคติดเชื้อ พอรู้ว่าติดเชื้อเลยไปหาซื้อยาฆ่าเชื้อมาใช้เพื่อหวังว่าจะหายเร็วขึ้น ทั้งที่ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคหวัดได้และอาการจะดีขึ้นเองภายในไม่กี่วันโดยไม่ต้องใช้ยา

2. ใช้ยาแก้อักเสบ เพราะคิดว่าช่วยฆ่าเชื้อ

อย่างที่ได้บอกไปว่าคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่ายาทั้ง 2 ชนิดนี้คือชนิดเดียวกัน เวลาที่ไปร้านขายยาบางคนจึงขอซื้อยาแก้อักเสบเพื่อใช้รักษาอาการติดเชื้อ ซึ่งเป็นการใช้ยาผิดจุดประสงค์ ยาแก้อักเสบทำได้เพียงบรรเทาปวดและลดไข้ แต่ไม่ได้ช่วยฆ่าเชื้อ ดังนั้น หากคุณป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ การใช้ยาแก้อักเสบจึงไม่ได้ช่วยให้คุณหายจากการติดเชื้อ แต่แค่บรรเทาอาการเท่านั้น

3. สับสนระหว่างโรคหวัดกับไข้หวัดใหญ่

บางคนอาจรู้ว่ายาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบนั้นต่างกัน และรู้ว่าต้องใช้รักษาโรคอะไรถึงจะถูกต้อง แต่โรคหวัดกับโรคไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจที่ทำให้เกิดอาการเป็นไข้ ไอ ปวดหัว คัดจมูก น้ำมูกไหล และอ่อนเพลียคล้ายกัน บางคนอาจเข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นไข้หวัดใหญ่เลยซื้อยาฆ่าเชื้อมาใช้ ซึ่งเป็นการใช้ยาผิดกับโรคที่เป็น

วิธีง่าย ๆ ในการแยกทั้ง 2 โรคนี้ออกจากกัน คือ รายละเอียดของอาการ โดยโรคไข้หวัดใหญ่มักจะไข้สูงกว่า (39–40 องศาเซลเซียส) หนาวสั่นร่วมด้วย อ่อนเพลียมากกว่า ปวดหัวรุนแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ในขณะที่โรคหวัดมักรุนแรงน้อยกว่า

ผลกระทบจากการใช้ยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบผิดวิธี

ผลกระทบจากการใช้ยาผิดวิธีส่งผลเสียต่างกันไปตามชนิดของยา สำหรับยา

เสี่ยงต่อผลข้างเคียงโดยไม่จำเป็น

ยาฆ่าเชื้อจะเข้าไปทำลายเชื้อแบคทีเรีย ปรสิต และเชื้อราภายในร่างกาย ทั้งเชื้อที่ทำให้เกิดโรคและเชื้อจุลินทรีย์มีประโยชน์ที่อยู่ในร่างกายอยู่แล้ว ซึ่งการใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นว่าจะด้วยสาเหตุไหนจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ถูกกำจัดออกไปจากร่างกายด้วย

เวลาที่เชื้อจุลินทรีย์ในร่างกายลดจำนวนลงจะทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการติดเชื้อในทางเดินอาหาร หลาย ๆ คนอาจมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และท้องเสียหลังจากใช้ยาฆ่าเชื้อ เท่ากับว่าหากคุณใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นเท่ากับว่าส่งผลให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงจากยาแบบไม่ได้ประโยชน์อะไร

การใช้ยาแก้อักเสบโดยเข้าใจว่าเป็นยาฆ่าเชื้ออาจทำให้การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรารุนแรงขึ้น เพราะยาแก้อักเสบทำได้เพียงบรรเทาอาการปวดหัว ปวดเมื่อย ลดไข้ และต้านการอักเสบที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยฆ่าเชื้อ

และการใช้ยาแก้อักเสบยังเสี่ยงต่อผลข้างเคียง อย่างกระเพาะอาหารระคายเคือง ปวดท้อง เลือดออกในทางเดินอาหาร และไตทำงานหนัก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

เสี่ยงติดเชื้อซ้ำ รุนแรงกว่าเดิม และเชื้อดื้อยา

อีกหนึ่งสิ่งที่คนไม่รู้คือยาฆ่าเชื้อต้องใช้ให้หมดตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ เพราะปริมาณยาที่จ่ายให้ผ่านการคำนวณมาแล้วว่าสามารถช่วยกับเชื้อให้หมดจากร่างกาย แต่คนส่วนใหญ่เมื่อใช้ยาฆ่าเชื้อไปสักพักอาการจะเริ่มดีขึ้นจนเหมือนหายแล้ว มักจะหยุดใช้ยาก่อนกำหนดหรือใช้ยาไม่หมด ทั้งที่จริง ๆ แล้วเชื้อที่ทำให้เกิดโรคยังไม่ถูกกำจัดออกไป

ซึ่งอาจทำให้กลับมาติดเชื้ออีกครั้งและรุนแรงกว่าเดิม เพราะเชื้อโรคทนทานต่อยาฆ่าเชื้อมากขึ้น ทำให้การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อชนิดเดิมหรือปริมาณเท่าเดิมไม่ได้ผล แพทย์อาจต้องสั่งจ่ายยาที่แรงขึ้นเพื่อรักษาและเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่รุนแรงขึ้นตามไปด้วย

หากใช้ยาฆ่าเชื้อผิดวิธีบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาไม่หมดหรือการกินยาไม่ตรงเวลาอาจทำให้เชื้อดื้อยา เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น ในเคสที่รุนแรงอาจถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้

สรุปผลกระทบจากการใช้ยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบโดยขาดความเข้าใจ

  • เสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยาโดยไม่จำเป็น
  • เชื้อที่ทำให้เกิดโรคดื้อยา ทำให้อาการรุนแรงขึ้น รักษายากขึ้น
  • เสี่ยงต่ออาการที่รุนแรงขึ้น เพราะใช้ยาผิดจุดประสงค์

วิธีใช้ยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบอย่างถูกต้องและปลอดภัย

  • ไม่ซื้อยามาใช้เอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
  • ใช้ยาตามที่แพทย์และเภสัชกรสั่งอย่างเคร่งครัด
  • ใช้ยาฆ่าเชื้อตามกำหนดและใช้ต่อจนหมด แม้จะไม่มีอาการแล้วก็ตาม
  • หากมีข้อสงสัยให้ไปถามร้านขายยา โทรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรที่สถานพยาบาล
  • หากเจ็บป่วยและไม่แน่ใจในอาการหรือโรคที่เป็นสาเหตุ ควรไปพบแพทย์

การเจ็บป่วยเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์เราต้องเผชิญในทุกช่วงชีวิต การใช้ยาจึงเป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ แต่เพื่อสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงจากการใช้ยาให้น้อยที่สุด ควรใช้ยาอย่างถูกคน ถูกโรค และถูกวิธี ไม่ใช่แค่ยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบ แต่รวมถึงยาและอาหารเสริมชนิดอื่นด้วย

ที่มา: siphhospital.com, pidst.or.th, โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส