การทำเล็บ เป็นการเสริมความงามอย่างหนึ่งที่นิยมมากในผู้หญิง ที่สำคัญการได้เข้าร้านทำเล็บ แช่เท้าที่อ่างน้ำอุ่น ๆ เป็นการผ่อนคลายและฟื้นฟูร่างกายจากความเหนื่อยล้าได้เป็นอย่างดี แต่คุณรู้หรือไม่ว่าหากร้านทำเล็บที่คุณเข้าใช้บริการ ไม่มีการดูแลความสะอาดอย่างเหมาะสม คุณก็เสี่ยงที่จะติดเชื้อที่ผิวหนังบริเวณมือและเท้าได้ เพราะบางครั้งผิวหนังอาจถูกบาดโดยที่ไม่รู้ตัว และเมื่อไหร่ก็ตามที่แผลเปิดก็มีโอกาสรับเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัสที่สามารถพัฒนาเป็นการติดเชื้อได้ โดยการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดจากร้านทำเล็บ คือ หูดและเชื้อราที่เล็บ
โรคเชื้อราที่เล็บ (Onychomycosis)
การติดเชื้อราที่เล็บเกิดขึ้นจากการเจริญเติบโตของเชื้อราในเล็บ ใต้เล็บ หรือบนเล็บ โดยเราจะได้รับเชื้อเหล่านี้จากสถานที่ที่เราอยู่ โดยเชื้อราจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและชื้น ดังนั้นสภาพแวดล้อมแบบนี้อาจทำให้พวกมันมีประชากรมากมายอยู่ตามธรรมชาติ
นอกจากนี้ เชื้อราที่มีอยู่แล้วในร่างกายของคุณอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่เล็บได้ และหากคุณสัมผัสกับคนอื่นที่ติดเชื้อราคุณก็อาจติดเชื้อได้เช่นกัน โดยการติดเชื้อรามักส่งผลต่อเล็บเท้ามากกว่าเล็บมือ อาจเป็นเพราะนิ้วเท้าของคุณมักจะต้องอยู่แต่ในรองเท้า ซึ่งเป็นในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและชื้น
หากคุณไปทำเล็บมือหรือเล็บเท้าที่ร้านทำเล็บ สิ่งสำคัญคือต้องดูว่าร้านทำเล็บที่คุณเลือกมีการฆ่าเชื้อเครื่องมือทำเล็บอย่างไรและทำบ่อยแค่ไหน เครื่องมือต่าง ๆ เช่น กรรไกรตัดเล็บสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้หากไม่ได้รับการฆ่าเชื้อ
ลักษณะของเล็บที่ติดเชื้อรา
- เล็บบิดเบี้ยว และอาจหลุดออกจากฐานเล็บ
- มีกลิ่นที่มาจากเล็บที่ติดเชื้อ
- เล็บเปราะหรือหนาขึ้น
- เล็บมีสีเปลี่ยนไป มีจุดสีเหลืองหรือสีขาวที่ปลายเล็บ
- กดเจ็บบริเวณที่เป็นเชื้อรา
- ผิวหนังรอบเล็บอักเสบบวมแดง
หลีกเลี่ยง/ป้องกันการติดเชื้อราจากการทำเล็บ
- อย่าทำเล็บมือหรือเล็บเท้าหากคุณมีการติดเชื้อที่มือหรือเท้า
- อย่าทำเล็บมือหรือเล็บเท้าหากคุณมีบาดแผลเปิด รวมถึงแมลงกัด รอยฟกช้ำ รอยขีดข่วน บาดแผล และสะเก็ด
- เลือกร้านเสริมสวย หรือร้านทำเล็บที่มีอุปกรณ์สะอาด ฆ่าเชื้อสม่ำเสมอ รวมถึงรักษาความสะอาดภายในร้าน
- อย่ากำจัดขนขาก่อนทำเล็บเท้า เพราะขาที่เพิ่งโดนโกนขนอาจมีรอยเล็ก ๆ ที่มองไม่เห็นซึ่งไวต่อการติดเชื้อ
- คุณและช่างทำเล็บควรทำความสะอาดมือก่อนที่จะเริ่มทำเล็บ
- ช่างทำเล็บควรสวมถุงมือก่อนทำเล็บ
- ไม่ดันและตัดหนังกำพร้า เพราะหนังกำพร้าจะมีหน้าที่ในการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- อ่างแช่เท้าแบบน้ำวนแม้จะดูปลอดภัยแต่ก็ทำความสะอาดยาก แม้ว่าร้านทำเล็บจะฆ่าเชื้อในอ่างแช่เท้า แต่การวิจัยพบว่าเชื้อโรคสามารถติดอยู่ในอุปกรณ์ได้
ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อราที่เล็บ
สาเหตุการติดเชื้อราที่เล็บนอกจากจะมาจากการทำเล็บแล้ว การติดเชื้อราที่เล็บยังมีหลายสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงบางอย่างก็อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดเชื้อราที่เล็บได้ ดังนี้
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
- ผู้ที่ต่อเล็บหรือใส่เล็บปลอม
- ผู้ที่ว่ายน้ำในสระว่ายน้ำสาธารณะ
- ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บที่เล็บ
- ผู้มีอาการบาดเจ็บที่ผิวหนังรอบเล็บ
- ผู้ที่ปล่อยให้นิ้วมือหรือนิ้วเท้าชื้นเป็นเวลานาน
- ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ผู้ที่สวมรองเท้าปิดนิ้วเท้า
โดยวิธีอื่น ๆ ในการป้องกันการติดเชื้อราที่เล็บ ได้แก่
- ล้างมือหลังจากสัมผัสเล็บที่ติดเชื้อ
- เช็ดเท้าให้แห้งหลังอาบน้ำ โดยเฉพาะระหว่างนิ้วเท้า
- หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในที่สาธารณะ
- ลดการใช้เล็บปลอมและยาทาเล็บ
สำหรับบางคนการติดเชื้อราที่เล็บอาจรักษาได้ยาก และการใช้ยารอบแรกอาจไม่ได้ผล โดยการติดเชื้อราที่เล็บไม่สามารถรักษาให้หายได้จนกว่าเล็บที่ปราศจากการติดเชื้อจะขึ้นมาใหม่ แต่ก็เป็นไปได้ที่การติดเชื้อราจะกลับมาอีก ในกรณีที่รุนแรงคุณอาจต้องถอดเล็บออก
สิ่งสำคัญคือการไปพบแพทย์ หากคุณเป็นโรคเบาหวานและติดเชื้อราที่เล็บ เพราะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อเหล่านี้
ที่มา healthline , apic.org
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส