ทุกคนเคยได้ยินชื่อ ‘โรคศพเดินได้’ หรือไม่ ? เชื่อว่าโรคนี้เป็นโรคที่หลายคนไม่ค่อยคุ้นหูนัก แถมฟังดูแล้วเป็นโรคที่ดูน่ากลัว และหากคุณสงสัยว่าอาการของโรคนี้เป็นอย่างไร Hack for Health จะพาทุกคนมารู้จักกับโรคที่เกี่ยวกับอาการทางจิตที่พบได้ยากชนิดนี้

โรคศพเดินได้

โรคศพเดินได้ (Cotard Delusion หรือ Walking Corpse Syndrome) เป็นภาวะทางจิตเวชที่พบไม่บ่อย เพียง 200 รายจากทั่วโลกเท่านั้น ซึ่งเกิดจากความเชื่อผิด ๆ ที่ผู้ป่วยเข้าใจว่าร่างกายของตนเองเกิดความผิดปกติ กำลังจะตาย หรือคิดว่าร่างกายของตนเองไม่มีอยู่จริง มักเกิดขึ้นกับคนที่เป็นภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง และโรคจิตบางประเภท หรืออาจมาพร้อมกับสภาวะทางระบบประสาทอื่น ๆ แม้จะเป็นอาการที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ผู้ป่วยจะอาการดีขึ้นได้เมื่อได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

อาการของโรคศพเดินได้

ผู้ที่เป็นโรคศพเดินได้มักจะเข้าสังคมน้อยลง บางคนจะได้ยินเสียงที่บอกว่าตนเองกำลังจะตายหรือตายไปแล้ว หรืออาจไม่กินอะไร เพราะเข้าใจว่ากินไปก็ไม่มีประโยชน์อะไรเนื่องจากตนเองตายไปแล้ว และบางคนอาจพยายามทำร้ายตนเอง

นอกจากนี้ หนึ่งในอาการหลักของโรคศพเดินได้ คือ อาจมีความเชื่อที่ว่าตนเองไม่มีอยู่จริง คนที่เป็นโรคศพเดินได้จะรู้สึกราวกับว่าตนเองตายหรือเน่าเปื่อยไปแล้ว ในขณะที่บางคนอาจรู้สึกเช่นนี้กับอวัยวะเฉพาะแขน ขา หรือแม้แต่จิตวิญญาณของตนเอง

งานวิจัยในปี 2554 ระบุว่า 89% ของผู้ป่วยโรคศพเดินได้มักมีอาการของภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย และอาจมีอาการอื่น ๆ ได้แก่

  • ความวิตกกังวล
  • ภาพหลอน
  • ความรู้สึกผิด
  • การหมกมุ่นกับการทำร้ายตนเองหรือความตาย

ในกรณีของโรคศพเดินได้ที่มีการบันทึกรายงานในปี 2551 ระบุว่า หญิงอายุ 53 ปี เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลังจากที่ครอบครัวรายงานว่าเธอบอกว่า เธอตายแล้วและมีกลิ่นเหมือนปลาเน่า เธอยังขอให้พาไปที่โรงเก็บศพด้วยเพราะเธออยากอยู่กับคนตาย!

สาเหตุของโรคศพเดินได้

นักวิจัยไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นสาเหตุของโรคศพเดินได้ แต่มีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่เป็นไปได้ โดยงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า อายุเฉลี่ยของผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่ที่ประมาณ 50 ปี นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กและวัยรุ่น ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี และมักจะมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย 

นอกจากนี้ มักเป็นอาการของปัญหาที่เกี่ยวกับภาวะทางระบบประสาท หรือภาวะสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้แก่ 

  • โรคไบโพลาร์
  • ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
  • คาตาโทเนีย
  • ความผิดปกติของบุคลิกภาพ
  • ภาวะซึมเศร้า
  • การติดเชื้อในสมอง
  • เนื้องอกในสมอง
  • ภาวะสมองเสื่อม
  • โรคลมบ้าหมู
  • ไมเกรน
  • โรคพาร์กินสัน
  • โรควิตกกังวล
  • การใช้สารเสพติด
  • โรคจิตเภท
  • โรคเส้นเลือดในสมองตีบ
  • เลือดออกนอกสมองเนื่องจากการบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง
  • โรคไข้สมองอักเสบ

การวินิจฉัยและการรักษา

หากคุณคิดว่าตนเองอาจเป็นโรคศพเดินได้ให้ลองจดบันทึกอาการของตนเอง โดยสังเกตว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อใด และนานแค่ไหน ข้อมูลนี้สามารถช่วยให้แพทย์จำกัดสาเหตุที่เป็นไปได้ รวมถึงโรคนี้มักเกิดขึ้นพร้อมกับอาการป่วยทางจิตอื่น ๆ ดังนั้นคุณอาจได้รับการวินิจฉัยมากกว่า 1 โรค

โดยการรักษามักจะรักษาคู่กับอาการอื่น ๆ ดังนั้นตัวเลือกการรักษาจึงอาจแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม การศึกษาในปี 2552 พบว่าการรักษาด้วยไฟฟ้า ECT เป็นการส่งกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กผ่านสมอง เป็นวิธีการรักษาที่ใช้บ่อย นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาทั่วไปสำหรับภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรงด้วย

อย่างไรก็ตามการรักษาด้วย ECT มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น สูญเสียความทรงจำ สับสน คลื่นไส้ และปวดกล้ามเนื้อ จึงเป็นสาเหตุให้มีการพิจารณาลองใช้ตัวเลือกในการรักษาอื่น ๆ ได้แก่ 

  • ยากล่อมประสาท
  • ยารักษาโรคจิต
  • จิตบำบัด
  • พฤติกรรมบำบัด

โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ

ความรู้สึกเหมือนตายไปแล้วอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น บางคนหยุดอาบน้ำหรือดูแลตนเอง ซึ่งอาจทำให้คนรอบข้างเริ่มห่างเหินได้ สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ความรู้สึกซึมเศร้า และความโดดเดี่ยว ในบางกรณีอาจทำให้เกิดปัญหาผิวหนังและฟันได้

บางคนเลิกกินอาหารและดื่มน้ำ เพราะเชื่อว่าร่างกายไม่ต้องการ ในกรณีที่รุนแรงอาจนำไปสู่การขาดสารอาหารได้

การพยายามฆ่าตัวตายเป็นเรื่องปกติในผู้ที่ป่วยเป็นโรคศพเดินได้ บางคนเห็นว่าเป็นวิธีการพิสูจน์ว่าตนเองตายไปแล้ว โดยแสดงให้เห็นว่าตนเองไม่สามารถตายได้อีก ในขณะที่บางคนรู้สึกว่าติดอยู่ในร่างกายและชีวิตที่ดูเหมือนไม่มีจริง และหวังว่าชีวิตของตนเองจะดีขึ้นหรือหยุดลงหากได้ตายอีกครั้ง

โรคศพเดินได้ เป็นโรคทางจิตที่พบได้ยากแต่ร้ายแรง แม้ว่าการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องอาจเป็นเรื่องยาก แต่ก็มักจะตอบสนองได้ดีต่อการบำบัดและยาที่ผสมผสานกัน หลายคนต้องลองใช้ยาหลายชนิด หรือใช้ร่วมกันก่อนที่จะพบสิ่งที่ได้ผล หากคุณคิดว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวอาจเป็นโรคศพเดินได้อยู่ ให้ลองปรึกษาแพทย์ที่เปิดใจรับฟังอาการ และวินิจฉัยอาการร่วมอื่น ๆ  ที่คุณอาจเผชิญอยู่

ที่มา healthline , webmd , emedicinehealth

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส