อาการสุดแปลกที่หลายคนอาจไม่คุ้นหูนัก นั่นคือ อาการที่ร่างกายสามารถผลิตแอลกอฮอล์ได้เอง เป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อย ผู้ที่มีอาการนี้จะมีลักษณะคล้ายกับคนเมา มึน งง คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น วันนี้ Hack for Health จะพาทุกคนมารู้จักกับอาการสุดแปลกนี้กัน! 

ร่างกายผลิตแอลกอฮอล์ได้เองจริงหรือ ?

อาการร่างกายผลิตแอลกอฮอล์ได้เอง (Auto-brewery syndrome) เกิดขึ้นเมื่อยีสต์ในลำไส้ผลิตเอทานอลในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคล้ายกับอาการเมาสุรา

ผู้ป่วยที่ร่างกายผลิตแอลกอฮอล์ได้เองจะมีอาการมึนเมาจากแอลกอฮอล์ทั้งที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ และมักจะเป็นผู้ที่รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูง แม้โรคนี้จะพบได้น้อย แต่อย่างไรก็ตามโรคนี้เคยมีการพูดถึงในข่าวหลาย ๆ ครั้ง และส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับผู้ที่ถูกจับในข้อหาเมาแล้วขับ

เช่น ผู้หญิงคนหนึ่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกพบว่ามีอาการดังกล่าวหลังจากที่เธอถูกจับในข้อหาเมาแล้วขับ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของเธอสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดถึง 4 เท่า แต่เธอไม่ถูกตั้งข้อหาเพราะผลการตรวจทางการแพทย์พบว่าเป็นกลุ่มอาการร่างกายผลิตแอลกอฮอล์ได้เองทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของเธอสูงขึ้น

อาการของผู้ที่ร่างกายผลิตแอลกฮอล์ได้เอง

หากร่างกายของคุณเป็นเช่นนี้ จะทำให้คุณมีอาการเมาโดยไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ เมามากหลังจากดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อย เช่น เบียร์ 2 แก้ว อาการและผลข้างเคียงคล้ายกับคนเมาค้างจากการดื่มมากเกินไป พร้อมทั้งอาการอื่น ๆ เช่น

  • ผิวแดงหรือหน้าแดง
  • อาการวิงเวียนศีรษะ
  • สับสน
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ภาวะขาดน้ำ
  • ปากแห้ง
  • เรอบ่อย
  • เหนื่อยล้า
  • ปัญหาความจำและสมาธิ
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง

อาการร่างกายผลิตแออลกอฮอล์ได้เอง ยังนำไปสู่สภาวะสุขภาพอื่น ๆ ให้แย่ลง เช่น

  • โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง
  • อาการลำไส้แปรปรวน
  • ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล

สาเหตุที่ร่างกายผลิตแอลกอฮอล์ได้เอง

ในกลุ่มอาการที่ร่างกายผลิตแอลกอฮอล์ได้เอง หรือ ผลิตเอทานอลจากคาร์โบไฮเดรตที่คุณกิน สิ่งนี้เกิดขึ้นภายในลำไส้ อาจเกิดจากยีสต์ที่เป็นเชื้อราชนิดหนึ่งในลำไส้มีมากเกินไป สามารถเกิดได้ในผู้ใหญ่และเด็ก อาการที่แสดงออกมีความคล้ายคลึงกัน และมักเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น เช่น การติดเชื้อในร่างกาย

คุณไม่สามารถเกิดมาพร้อมกับกลุ่มอาการที่หายากนี้ได้ แต่คุณอาจเกิดหรือมีอาการอื่นที่กระตุ้นให้เกิดอาการร่างกายผลิตแอลกอฮอล์ได้เอง เช่น ในผู้ใหญ่ที่ยีสต์ในลำไส้มากเกินไปอาจเกิดจากโรคโครห์น ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการที่ร่างกายผลิตแอลกอฮอล์เองได้

ในบางคนอาจมาจากปัญหาเกี่ยวกับตับทำให้เกิดอาการร่างกายผลิตแอลกอฮอล์ได้เอง ในกรณีเหล่านี้ตับไม่สามารถกำจัดแอลกอฮอล์ได้เร็วพอ แม้แต่แอลกอฮอล์จำนวนเล็กน้อยที่เกิดจากยีสต์ในลำไส้ก็ทำให้เกิดอาการนี้ได้

เด็กวัยหัดเดินและเด็กที่มีอาการลำไส้สั้นมีโอกาสสูงที่จะมีอาการร่างกายผลิตแอลกอฮอล์ได้เอง กรณีทางการแพทย์รายงานว่า เด็กหญิงวัย 3 ขวบที่มีอาการลำไส้สั้นจะเมาหลังจากดื่มน้ำผลไม้ซึ่งมีคาร์โบไฮเดรตสูง และเหตุผลอื่น ๆ ที่อาจมียีสต์ในร่างกายมากเกินไป ได้แก่

  • โภชนาการที่ไม่ดี
  • ใช้ยาปฏิชีวนะ
  • โรคลำไส้อักเสบ
  • โรคเบาหวาน
  • ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
  • โรคอ้วน

การวินิจฉัยและการรักษา

ในการวินิจฉัยโรคนั้นแพทย์อาจจะทำการทดสอบจากอุจจาระเพื่อดูว่าคุณมียีสต์มากเกินไปในลำไส้หรือไม่ เพราะสิ่งนี้จะเกี่ยวข้องกับการส่งตัวอย่างการเคลื่อนไหวของลำไส้ไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการทดสอบต่อไป

ในการทดสอบระดับกลูโคส คุณจะได้รับกลูโคส (น้ำตาล) แคปซูล โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กินหรือดื่มอย่างอื่นเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมงก่อนและหลังการทดสอบ หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง แพทย์จะตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของคุณ หากคุณไม่มีอาการร่างกายผลิตแลกอฮอล์ได้เอง ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของคุณจะเป็นศูนย์

โดยแพทย์อาจแนะนำให้ลดคาร์โบไฮเดรตในอาหารของคุณ หรือการรักษาโรคประจำตัว เช่น โรคโครห์น อาจช่วยรักษาสมดุลของเชื้อราในลำไส้ของคุณได้ นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งยาต้านเชื้อรา ยาเหล่านี้จะทำงานเพื่อกำจัดการติดเชื้อราที่อาจทำให้เกิดปัญหาในลำไส้ของคุณ คุณอาจต้องใช้ยาเป็นเวลา 3 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น

ทั้งนี้ คุณจะต้องทำการเปลี่ยนแปลงทางโภชนาการเพื่อช่วยรักษาอาการร่างกายผลิตแอลกฮอล์ได้เอง ขณะที่คุณกำลังใช้ยาต้านเชื้อราให้ปฏิบัติอย่างเข้มงวด ดังนี้

  • ไม่กินน้ำตาล
  • ไม่กินคาร์โบไฮเดรต
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์

การเปลี่ยนอาหารประจำวันของคุณเพื่อช่วยป้องกันอาการดังกล่าว โดยอาหารที่คาร์โบไฮเดรตต่ำอาจช่วยปรับสมดุลของเชื้อราในลำไส้ของคุณได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารหวานและคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น

  • น้ำเชื่อมข้าวโพด
  • ขนมปังขาว
  • ข้าวสีขาว
  • แป้งขาว
  • มันฝรั่งทอดแผ่น
  • แครกเกอร์
  • เครื่องดื่มหวาน
  • น้ำผลไม้
  • หลีกเลี่ยงน้ำตาลที่เติมลงในอาหาร

ควรเปลี่ยนมาบริโภคคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มีเส้นใยสูงแทน ได้แก่

  • ขนมปังโฮลเกรน
  • ข้าวกล้อง
  • ผักสดและผักปรุงสุก
  • ผลไม้สด หรือแช่แข็ง
  • สมุนไพรสดและแห้ง
  • ข้าวโอ๊ต
  • ถั่ว

อาการร่างกายผลิตแอลกอฮอล์ได้เองจัดเป็นอาการที่ร้ายแรง และอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของคุณได้ ในบางกรณี คนมีอาการนี้จะถูกสงสัยว่าเป็นนักดื่มตัวยง หรือในบางครั้งอาจเป็นอันตรายเมื่อคุณจำเป็นต้องขับขี่รถส่วนตัว

แม้ความรู้สึก “มึนงง” หรือเมาโดยไม่ได้ดื่มอาจไม่ใช่ปัญหาสุขภาพที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ความปลอดภัย ความสัมพันธ์ และหน้าที่การงานของคุณได้ 

หากคุณคิดว่าคุณมีอาการนี้ ให้จดบันทึกอาการ บันทึกสิ่งที่คุณกิน และเวลาที่คุณมีสัญญาณของอาการร่างกายผลิตแอลกอฮอล์ได้เอง แล้วแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีเพื่อตรวจระดับยีสต์ในลำไส้ และทำการทดสอบทางการแพทย์อื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุของอาการและรักษาอย่างทันท่วงที

ที่มา medicalnewstoday , ncbi.nlm.nih , healthline

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส