กลิ่นปาก เป็นปัญหาและอาจเป็นเรื่องน่าอายสำหรับบางคน และในบางกรณีอาจทำให้เกิดความวิตกกังวล ทำให้ปัจจุบันมีหมากฝรั่ง น้ำยาบ้วนปาก และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับกลิ่นปาก แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่ได้แก้ปัญหาจากต้นเหตุ
โดยกลิ่นปากอาจเกิดจากสุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดี แต่ก็ไม่เสมอไปเพราะสามารถเกิดขึ้นได้จากสภาวะสุขภาพหลายอย่าง เช่น ปากแห้ง แสบร้อนกลางอก หรือแม้แต่โรคในส่วนอื่นของร่างกาย การรักษาภาวะมีกลิ่นปากจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุที่แท้จริง
โดยกลิ่นปากแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาหรือสาเหตุที่แท้จริง บางคนกังวลเรื่องลมหายใจมากเกินไป ทั้ง ๆ ที่มีกลิ่นปากเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ในขณะที่บางคนมีกลิ่นปากโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากเป็นการยากที่จะประเมินว่าลมหายใจของคุณมีกลิ่นอย่างไร
ภาวะมีกลิ่นปากคืออะไร ?
โดยปกติแล้วทุกคนมีกลิ่นปากเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะหลังจากรับประทานกระเทียม หัวหอม หรืออาหารที่มีกลิ่นแรงอื่น ๆ แต่กลิ่นปากที่ไม่หายไป หรือที่เรียกว่า ‘กลิ่นปากเรื้อรัง’ ซึ่งอาจหมายความว่าคุณมีปัญหาสุขภาพช่องปาก หรือมีภาวะที่ส่งผลต่อส่วนอื่นของร่างกาย
ภาวะมีกลิ่นปากเป็นอาการของสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็เหมือนกับข้อความเตือนจากร่างกาย ดังนั้น การค้นหาสาเหตุของกลิ่นปากจึงเป็นขั้นตอนแรกในการรักษา
โดยภาวะมีกลิ่นปากเป็นภาวะที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อผู้คนประมาณ 1 ใน 4 คนทั่วโลก งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งรวมการค้นพบบทความในวารสารทางการแพทย์ 13 ฉบับพบว่า ภาวะมีกลิ่นปากส่งผลกระทบต่อประชากรประมาณ 31.8%
สาเหตุส่วนใหญ่ของกลิ่นปากคืออะไร?
สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะมีกลิ่นปาก คือสุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดี หากไม่มีสุขอนามัยในช่องปากที่เหมาะสม เช่น การแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน และการทำความสะอาดฟันเป็นประจำ แบคทีเรียที่เป็นอันตรายจะบุกรุกช่องปากของคุณ และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพช่องปากหลายอย่าง เช่น ภาวะมีกลิ่นปาก ฟันผุ และโรคเหงือก นอกจากนี้ ภาวะมีกลิ่นปากยังเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- ปากแห้ง
น้ำลายช่วยในการล้างปากของคุณ ดังนั้นหากร่างกายของคุณผลิตน้ำลายไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดภาวะมีกลิ่นปากได้
- มะเร็งช่องปาก
อาการของโรคมะเร็งช่องปาก ได้แก่ แผลที่รักษาไม่หาย เจ็บปาก กลืนลำบาก มีก้อนที่คอ และน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- โรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน คือ โรคทางเดินอาหารที่กรดในกระเพาะอาหารหรือของเหลวรั่วไหลกลับเข้าไปในหลอดอาหาร
- นิ่วในต่อมทอนซิล
เมื่ออาหารติดอยู่ในทอนซิล (บริเวณหลังคอ) บางครั้งก็แข็งตัวเป็นแคลเซียมสะสมเรียกว่านิ่วทอนซิล
- โรคเหงือก
โรคเหงือกอักเสบ คือการอักเสบของเหงือกที่อาจทำให้เกิดรอยแดง บวม และมีเลือดออก เกิดจากคราบพลัคที่สะสมบนฟัน และสามารถกำจัดออกได้ด้วยการแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน โรคเหงือกอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่โรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งทำลายเนื้อเยื่อเหงือก และอาจนำไปสู่การสูญเสียฟัน และกระดูกรอบ ๆ ฟันของคุณ อาจมีอาการเจ็บปวดรุนแรง มีเลือดออก มีไข้ และมีความเหนื่อยล้า
- การติดเชื้อในจมูก คอ หรือปอด
คนที่เป็นโรคปอดบวม เช่น ไอของเหลวที่มีกลิ่นเหม็น
- โรคเบาหวาน
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะมีความเสี่ยงต่อโรคเหงือกมากขึ้น และโรคเหงือกจะทำให้ยากต่อการรักษาโรคเบาหวาน เพราะอาจทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นได้
- โรคตับหรือโรคไต
เมื่อตับและไตของคุณทำงานได้อย่างถูกต้อง พวกมันจะทำการกรองสารพิษออกจากร่างกายของคุณ แต่ในคนที่เป็นโรคตับหรือไต สารพิษเหล่านี้จะไม่ถูกขับออกไป ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะมีกลิ่นปาก
- กลุ่มอาการโจเกรน
เป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน นำไปสู่อาการปวดกล้ามเนื้อ ตาแห้ง ผิวแห้ง และปากแห้ง ซึ่งมักจะเชื่อมโยงกับภาวะมีกลิ่นปาก
- อาหารและเครื่องดื่ม
เมื่อคุณกินหัวหอม กระเทียม หรืออาหารที่มีกลิ่นแรงอื่น ๆ กระเพาะอาหารของคุณจะดูดซับน้ำมันจากอาหารระหว่างการย่อยอาหาร น้ำมันเหล่านี้ผ่านเข้าสู่กระแสเลือด และเดินทางไปยังปอด จึงทำให้มีกลิ่นปากได้ง่าย นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มที่มีกลิ่นรุนแรง เช่น กาแฟ ก็มีส่วนทำให้มีกลิ่นปากได้เช่นกัน
- สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ทำให้เกิดกลิ่นปาก และทำให้ปากแห้งซึ่งจะทำให้กลิ่นปากแย่ลงไปอีก
- ยา
ยาบางชนิดสามารถทำให้เกิดกลิ่นปากทางอ้อมได้โดยการทำให้ปากแห้ง
มีกลิ่นปากตลอดเวลา เป็นเพราะอะไร ?
หากคุณมีกลิ่นปากเรื้อรัง อาจหมายความว่าคุณเป็นโรคเหงือก หรือจากปัจจัยอื่น ๆ ที่กล่าวมาก่อนหน้า ทางที่ดีให้นัดหมายกับทันตแพทย์ หากกลิ่นปากเกิดจากสุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดี การทำความสะอาดฟันและเหงือกจะช่วยได้
รักษาภาวะมีกลิ่นปาก
การรักษาภาวะมีกลิ่นปากขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหา เช่น หากกลิ่นปากเกิดจากสุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดี การทำความสะอาดฟัน และปรับปรุงสุขอนามัยช่องปากจะช่วยได้ แต่หากภาวะมีกลิ่นปากเป็นอาการของภาวะอื่นในร่างกายของคุณ ควรพบทันตแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและทำการรักษาที่ถูกต้อง
ป้องกันภาวะมีกลิ่นปาก
สุขอนามัยช่องปากที่เหมาะสม คือวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้ลมหายใจของคุณมีกลิ่นที่สะอาด และสดชื่น โดยมีวิธี ดังนี้
- แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 2 นาที และใช้ไหมขัดฟันวันละครั้ง พร้อมทั้งอย่าลืมทำความสะอาดลิ้นด้วยแปรงหรือที่ขูดลิ้น
- ใช้น้ำยาบ้วนปากต้านแบคทีเรียที่ปราศจากแอลกอฮอล์
- พบทันตแพทย์เป็นประจำ เพื่อตรวจสุขภาพและทำความสะอาดฟัน สำหรับบางคนอาจเป็นทุก 6 เดือน แต่บางคนอาจต้องเข้ารับการตรวจบ่อยขึ้นเพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยป้องกันปากแห้ง
- เพิ่มการผลิตน้ำลายโดยใช้หมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล หรือลูกอมปราศจากน้ำตาล
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และงดสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ปากของคุณแห้งได้
แม้ว่าเรื่องกลิ่นปากจะเป็นเรื่องน่าอายสำหรับบางคน แต่จะดีกว่าหากคุณรู้สาเหตุที่มาของกลิ่นปากเพราะบางทีอาจเป็นสัญญาณที่ไม่พึงประสงค์ของร่างกาย อย่างไรก็ตาม คุณสามารถรักษากลิ่นปากได้โดยการรักษาสุขอนามัยในช่องปาก พร้อมกับการรักษาภาวะสุขภาพที่เป็นต้นเหตุได้ ดังนั้น ควรพบทันตแพทย์ ทุก ๆ 6 เดือน
ที่มา clevelandclinic , healthline , mayoclinic
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส