จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ Work From Home ไม่เวิร์กอย่างที่คิด ช่วงเริ่ม WFH ใหม่ ๆ เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยกับการได้ทำงานอย่างอิสระ ไม่ต้องคอยกังวลว่าจะตื่นทำงานไม่ทัน รถจะติดไหม จะมีเวลาพักผ่อนหรือเปล่า? เรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่ใครหลายคนใฝ่ฝัน 

แต่ทำไมล่ะพอนานวันเข้า WFH ที่ว่าเวิร์คกับไม่เวิร์คอย่างที่คิด บางคนจากที่คิดว่าตนเองมีอิสระก็กลายเป็น “โดดเดี่ยว” จากที่คิดว่ามีแรงบันดาลใจเต็มเปี่ยมก็เริ่มเข้าสู่ “สภาวะหมดไฟในการทำงาน” แน่นอนว่าคุณไม่ใช่คนเดียวที่เป็น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีวิธีการรับมืออย่างไร หรือมีเทคนิคดูแลสุขภาพจิตยังไงไปดูกัน

ผลกระทบต่อสุขภาพจิตจากการ WFH

แม้การแพร่ระบาดของโควิด – 19 อยู่ภายใต้มาตรการการควบคุม แต่การ Work From Home มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงปฏิเสธว่าปัญหาสุขภาพจิตในการทำงานเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องใส่ใจ ส่วนผลกระทบหลัก ๆ มีดังนี้ 

1. ภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม (Social Isolation) 

โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การต้องทำงานอยู่กับบ้านภายใต้บรรยากาศแบบเดียวกันทุกวัน ทำกิจวัตรเดิมซ้ำ ๆ ส่งผลให้รู้สึกโดดเดี่ยวเพราะขัดกับพฤติกรรมทางธรรมชาติ ยิ่งถูกตัดขาดจากสังคมมากเท่าไหร่ผลกระทบยิ่งรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ การตัดขาดทางกายไม่สามารถถูกทดแทนด้วยการพบปะผ่านทางออนไลน์ เช่น ปาร์ตี้หรือการประชุม ทำให้ถึงแม้มีการแก้ไขปัญหาด้วยการหมั่นพบปะพูดคุยหรือจัดสรรพื้นที่ให้สามารถพูดคุยปรึกษาหารือกันได้แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่

2. ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burn Out) 

หลายคนอาจสงสัยว่าในขณะที่เราสามารถจัดการเวลาชีวิตได้ด้วยตัวเองทำไมถึงเกิดภาวะหมดไฟขึ้นได้ ต้องอธิบายอย่างนี้เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยน ความกดดันที่มีต่อตัวเองก็เริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมต้องคอยกดดันและเปรียบเทียบความสำเร็จกับเพื่อนร่วมงาน แต่พอมาทำงานที่บ้านก็เริ่มกดดันตัวเองว่าต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองมีความรู้ความสามารถมากพอ และแทนที่จะลดปริมาณงานลงกลับกลายเป็นสิ่งตรงกันข้าม คือ ยิ่งเพิ่มปริมาณงานและทำหนักกว่าเดิม พอยิ่งทำงานหนักยิ่งคาดหวังก็ยิ่งเสี่ยงทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานหรือ Burn Out ตามมานั่นเอง

เทคนิคสำหรับการดูแลสุขภาพจิตเมื่อต้อง WFH

อย่างไรก็ตามเมื่อเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำงานแบบ Work From Home ได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีเทคนิคการดูแลสุขภาพจิตเบื้องต้นเพื่อสร่างบรรยากาศการทำงานที่เต็มไปด้วยความสุข ดังต่อไปนี้

1. ใส่ใจสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

เริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมง่าย ๆ เช่น

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 6 – 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือปรับพฤติกรรมการนอนให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิต โดยมีเวลาสำหรับการพักผ่อนแบบไม่เบียดเบียนตัวเองมากจนเกินไป
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายที่ดีไม่จำเป็นต้องหักโหม แค่เดินเล่นหรือขยับร่างกายบ้างก็พอ เมื่อร่างกายรับรู้ได้ว่าการออกกำลังกายช่วยให้มีความสุขก็จะเริ่มเสพติดกระตุ้นให้เราอยากออกกำลังกายมากขึ้นตามไปด้วย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกหนึ่งสภาวะที่เราต้องเผชิญในช่วงการ Work From Home คือ ความเครียด ดังนั้นเราสามารถป้องกันหรือรับมือได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารจำพวกข้าว แป้ง ธัญพืชไม่ขัดสี ชาเขียว ผักโขม ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ และไข่ เป็นต้น

2. พัฒนาตนเอง

มีวิธีสำหรับการพัฒนาตัวเองหลายวิธีสามารถเลือกให้เหมาะสมกับตนเองได้ ดังนี้

  • มีเป้าหมาย บางครั้งการที่เราขาดเป้าหมายอาจทำให้มองไม่เห็นภาพชัดเจนว่าอนาคตของเราจะเป็นยังไง พอเป็นแบบนั้นก็เริ่มรู้สึกว่าเส้นทางที่เลือกควบคุมไม่ได้ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะไปถึงเป้าหมายสักที ดังนั้นลองเปลี่ยนใหม่เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการกำหนดเป้าหมายชีวิต ไม่จำเป็นต้องเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ขอแค่มีความชัดเจนและเป็นความต้องการจริง ๆ ของเราก็พอ
  • เปลี่ยนมุมมองใหม่ แน่นอนว่าการยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากลองทบทวนเรื่องราวในอดีตดูดี ๆ จะเห็นได้ว่ากว่าที่เราจะเติบโตมาจนถึงตอนนี้ได้ต้องเจอกับความยากลำบากมามากขนาดไหน แล้วลองคิดดูว่าหากเราเจอแต่เรื่องดี ๆ เราอยากพัฒนาตัวเองมาจนถึงตอนนี้หรือเปล่า แน่นอนว่าไม่หรืออาจมีแต่มีน้อย ดังนั้นคิดเสียว่าปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุผลให้เราเติบโตขึ้น
  • ฝึกสมาธิ การฝึกสมาธิสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ แค่วันละ 5 – 10 นาทีเพื่อให้จิตใจของเราอยู่กับปัจจุบันขณะมากขึ้น ช่วยให้เราเห็นปัญหาต่าง ๆ ว่าเป็นยังไง ควรแก้ไขอย่างไร

3. อย่าลืมใส่ใจสุขภาพจิต

หลายคนได้วิธีการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คราวนี้มาดูกันบ้างว่าการดูแลใส่ใจสุขภาพจิตนั้นทำได้อย่างไร เริ่มต้นจากตรงไหน

  • พยายามรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แต่การพยายามรักษาความสัมพันธ์ในที่นี้ไม่ใช่ทำกับทุกคน ทุกเวลา แต่ควรรู้ว่าใคร เมื่อไหร่ควรมีปฏิสัมพันธ์ ไม่จำเป็นต้องมากขอแค่มีคุณภาพและมั่นใจว่าจะคอยอยู่เคียงข้างในยามที่เรารู้สึกท้อแท้หรือขาดกำลังใจ
  • รู้จักการพูดว่าขอบคุณ ลองคิดดูในชีวิตการทำงานเวลามีคนมาทำอะไรให้เราแล้วเรารู้สึกประทับใจ แน่นอนว่าเราตอบแทนเขาด้วยคำว่าขอบคุณ แต่จะมีสักครั้งไหมที่เราเคยพูดคำนี้กับตัวเองแน่นอนว่ามีน้อยมาก ดังนั้นถึงเวลาขอบคุณคนที่คอยอยู่เคียงข้างคุณในทุกช่วงเวลาชีวิต ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อะไรอาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ เช่น ขอบคุณที่ยังมีชีวิตอยู่ ขอบคุณที่ร่างกายแข็งแรง

แนวทางการป้องกัน

หากรู้สึกว่ามีสัญญาณบางอย่างเตือนว่ากำลังมีปัญหาสุขภาพจิตหลังจากที่ต้อง Work From Home เรามีแนวทางป้องกันเบื้องต้นช่วยได้ ดังนี้

  • ออกจากสถานการณ์ดังกล่าวชั่วคราว หากพบว่าตัวเองกำลังเผชิญกับความเครียดแนะนำให้ลองหาเวลาออกห่างจากสถานการณ์นั้นดูสักระยะ พอความรู้สึกเริ่มมั่นคงขึ้นแล้วค่อยกลับมาทำงานอีกครั้ง
  • บริหารจัดการเวลาให้ลงตัว ก่อนเริ่มทำงานหรือทำกิจกรรมอะไรใด ๆ ควรมีการแบ่งเวลาอย่างชัดเจนว่าเวลานี้สำหรับทำงาน เวลานี้สำหรับเวลาส่วนตัว และห้ามนำมาปนกัน
  • แบ่งพื้นที่สำหรับทำงานโดยเฉพาะ หากบรรยากาศโดยรอบเต็มไปด้วยสิ่งรบกวนควรมีการจัดพื้นที่สำหรับทำงาน พร้อมทั้งทำข้อตกลงเกี่ยวกับการเข้าใช้งานพื้นที่ดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน
  • มองหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ อยู่เสมอ อาจได้จากกิจกรรมง่าย ๆ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำกิจกรรมที่ชอบ
  • สร้างกรอบเวลาทำงานชัดเจน ลองประเมินว่าระยะเวลาการทำงานของคุณในแต่ละวันหรือแต่ละงานใช้เวลาเท่าไหร่ จากนั้นให้กำหนดกรอบเวลาอย่างชัดเจนว่าต้องทำนานแค่ไหน พร้อมกับการตั้งรางวัลตอบแทน เช่น ดูหนัง กินขนม หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง

แม้การ WFH มีผลกระทบหลายด้านแต่บางครั้งเราก็เลือกอะไรไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาวิธีการรับมือเพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นปัญหาลุกลาม

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส