ใครเคยมีอาการปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำแทบจะทันทีหลังจากที่เพิ่งรับประทานอาหารเข้าไปบ้าง ? อาการเหล่านี้อาจมาเป็นครั้งคราว หรือบางคนอาจพบเจออาการนี้บ่อย ๆ จนบางครั้งรู้สึกรำคาญใจ และเกิดความสงสัยว่า กินปุ๊ปออกปั๊ปแบบนี้ร่างกายของเราผิดปกติหรือไม่ ?

โดยทั่วไปคนเราจะใช้เวลาประมาณ 2-5 วัน จากที่กินอาหารเข้าไปก่อนที่ร่างกายจะขับถ่ายออกมาเป็นอุจจาระ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการย่อยอาหาร จึงเป็นเรื่องยากที่จะประมาณระยะเวลาการย่อยอาหารได้อย่างแม่นยำ แต่โดยปกติแล้วผู้หญิงมักจะย่อยอาหารได้ช้ากว่าผู้ชาย

ขับถ่ายหลังรับประทานอาหารทันที

การขับถ่ายหลังรับประทานอาหารทันที หรือที่เรียกว่า Gastrocolic reflex คือกลไกหลังจากที่ร่างกายได้รับอาหารเข้าสู่กระเพาะอาหาร จากนั้นร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนที่ทำให้ลำไส้ใหญ่หดตัว และการหดตัวจะเคลื่อนอาหารที่กินก่อนหน้านี้ผ่านระบบย่อยอาหาร ทำให้มีที่ว่างสำหรับอาหารมากขึ้นซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายอุจจาระ สำหรับบางคน Gastrocolic reflex นั้นอาจไม่รุนแรง ทำให้ไม่มีอาการใด ๆ ในขณะที่บางคนอาจมีอาการที่รุนแรง 

สาเหตุของ Gastrocolic reflex 

การวิจัยพบว่าความผิดปกติของการย่อยอาหารบางอย่าง เช่น โรคลำไส้แปรปรวน จะเร่งการเคลื่อนตัวของอาหารผ่านลำไส้ใหญ่หลังจากรับประทานอาหาร รวมทั้งอาหารบางชนิด และความผิดปกติของการย่อยอาหารอาจกระตุ้นให้เกิด Gastrocolic reflex ที่รุนแรงเป็นพิเศษ นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยมาจากอย่างอื่น ได้แก่ 

  • ความวิตกกังวล
  • โรคเซลิแอค
  • โรคโครห์น
  • กินอาหารมัน ๆ
  • การแพ้อาหาร
  • โรคกระเพาะ
  • โรคไอบีเอส หรือลำไส้แปรปรวน
  • โรคลำไส้อักเสบ 

ความผิดปกติเหล่านี้ อาจทำให้ Gastrocolic reflex แย่ลง และอาจพบอาการอื่น ๆ เช่น

  • อาการปวดท้อง
  • ท้องอืด
  • ท้องเสียหรือท้องผูก หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก
  • เมือกในอุจจาระ

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งคุณอาจรู้สึกว่าจำเป็นต้องเข้าห้องน้ำอย่างเร่งด่วน ซึ่งอาการนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับ Gastrocolic reflex แต่อาจเกิดจากอาการท้องร่วง ซึ่งปกติแล้วอาการท้องร่วงจะกินเวลาเพียงไม่กี่วัน หากเป็นนานหลายสัปดาห์ อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร โดยสาเหตุทั่วไปของอาการท้องร่วง ได้แก่ 

  • ติดเชื้อไวรัส
  • แบคทีเรียและปรสิตจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนหรือการล้างมือไม่ถูกวิธี
  • ยา เช่น ยาปฏิชีวนะ
  • แพ้อาหาร
  • การบริโภคสารให้ความหวานเทียม
  • ความผิดปกติของการย่อยอาหาร

การรักษาและการป้องกัน

แม้ว่าการป้องกันอาการ Gastrocolic reflex จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็มีหลายสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ขั้นแรกให้คุณจดบันทึกอาการของตนเอง และให้สังเกตว่าก่อนหน้านี้คุณรับประทานอะไรเข้าไป ก็จะทำให้คุณพอทราบได้ว่าอาหารชนิดใดส่งผลกับอาการของคุณ และสามารถหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้น ช่วยลดความรุนแรงของการเกิด Gastrocolic reflex ได้ โดยอาหารที่อาจเป็นตัวกระตุ้น ได้แก่ 

  • นม
  • อาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น เมล็ดธัญพืชและผัก
  • อาหารมันและไขมัน เช่น ของทอด
  • ความเครียดเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของ Gastrocolic reflex การจัดการกับความเครียดสามารถช่วยให้คุณจัดการกับอาการนี้ได้

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจาก Gastrocolic reflex เป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่หากคุณพบว่าพฤติกรรมการขับถ่ายของตนเองเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง หรือหากคุณต้องวิ่งไปห้องน้ำตลอดเวลาหลังรับประทานอาหาร มีความรู้สึกอ่อนเพลีย ขับถ่ายเป็นเลือด ปวดท้องอย่างหนัก หรือต้องขับถ่ายหลังรับประทานอาหารมากกว่า 3 รอบ ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และหาการรักษาที่เหมาะสมแก่ตนเอง เพราะการตอบสนองกลไก Gastrocolic reflex ที่รุนแรง หากมีอาการปวดท้อง ท้องอืดร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของโรคลำไส้แปรปรวนได้

ที่มา verywellhealth , healthline , healthshots , medicalnewstoday

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส