การนอนคนเดียวอาจไม่เหงาเหมือนเคยและยังทำให้คุณนอนหลับดีขึ้น ถ้าหากมี ‘ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก’ (Weighted blankets)

ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก คือ ผ้าห่มที่มีน้ำหนัก 2–13 กิโลกรัม ซึ่งหนักกว่าผ้าห่มทั่วไป ผ้าห่มชนิดนี้เป็นการนำคอนเซ็ปต์การบำบัดด้วยการให้สัมผัสแบบลึก (Deep pressure therapy) หรือใช้แรงกดเพื่อการรักษามาใช้กับเครื่องนอนอย่างผ้าห่ม แม้จะดูคล้ายกับว่าเป็นอุปกรณ์สำหรับการบำบัด แต่คนทั่วไปสามารถใช้ผ้าห่มถ่วงน้ำหนักในการนอนหลับได้เหมือนกัน

ซึ่งผ้าห่มถ่วงน้ำหนักอาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่อยากเพิ่มคุณภาพการนอนหลับหรือแม้กระทั่งคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับจากสาเหตุต่าง ๆ ในบทความนี้ Hack for Health จะมาเล่าประโยชน์และข้อมูลของผ้าห่มผืนนี้ที่อาจช่วยเปลี่ยนทุกคืนต่อจากนี้ให้เป็นคืนที่ดีขึ้น

ผ้าห่มถ่วงน้ำหนักที่ให้ความรู้สึกเหมือนการถูกกอด

การบำบัดด้วยการให้สัมผัสแบบลึกเป็นการบำบัดที่มีการใช้มานานแล้ว โดยจะเป็นการใช้แรงกดเข้าไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อกระตุ้นเส้นประสาทและจุดสัมผัสที่อยู่ทั่วร่างกาย ซึ่งจะให้ความรู้สึกคล้ายกับการถูกโอบกอดเอาไว้ โดยน้ำหนักที่ใช้ในการบำบัดและน้ำหนักของผ้าห่มจะเป็นน้ำหนักที่กำลังพอดี ไม่แน่นหรือทำให้รู้สึกอึดอัด ให้ความรู้สึกที่ดี สบาย และผ่อนคลายทั้งกับร่างกายและสมอง

ผลการศึกษาปี 2015 ชี้ว่าการห่มผ้าห่มถ่วงน้ำหนักลดความเครียดได้ 33 เปอร์เซ็นต์ วิตกกังวลน้อยลง และช่วยให้รู้สึกสงบมากขึ้น

นอกจากนี้ อาจช่วยการหลั่งของฮอร์โมนแห่งความรัก ออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งโดยปกติจะหลั่งออกมาเมื่อเกิดการสัมผัสที่สร้างความรู้สึกดี อย่างการกอด การใกล้ชิด การมีเซ็กซ์ หรือปฏิสัมพันธ์อื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความอบอุ่นและรู้สึกดีต่อใจ ฮอร์โมนออกซิโทซินอาจช่วยให้นอนหลับง่าย เพิ่มคุณภาพการนอนหลับ เสริมความจำ และส่งผลดีต่ออารมณ์

ประโยชน์ของผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก

ด้วยกลไกของการให้สัมผัสแบบลึกที่อยู่ในรูปแบบของผ้าห่มอาจส่งผลดีในด้านต่อไปนี้

ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น

เคยมีการศึกษาขนาดเล็กในคน 26 คนด้วยการเก็บตัวอย่างน้ำลายในช่วง 4–5 ทุ่มทุก 20 นาทีในตอนที่ห่มและไม่ได้ห่มผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก เมื่อนำตัวอย่างน้ำลายมาวิเคราะห์พบว่าตัวอย่างน้ำลายที่เก็บในช่วงที่ห่มผ้าห่มถ่วงน้ำหนักมีปริมาณ เมลาโทนิน (Melatonin) หรือฮอร์โมนแห่งความง่วงสูงกว่า

โดยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่าระดับของเมลาโทนินนั้นส่งผลต่อความยากง่ายในการนอนหลับ เลยอาจมีความเป็นไปได้ว่าการห่มผ้าห่มที่มีน้ำหนักอาจช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมลาโทนินที่หลั่งออกมาจากร่างกายโดยธรรมชาติมีประสิทธิภาพและปลอดภัยกว่าอาหารเสริมเมลาโทนินที่บางคนใช้กัน

ช่วยแก้ปัญหานอนไม่หลับในคนที่วิตกกังวล

ภาวะวิตกกังวล (Anxiety) จัดเป็นภาวะทางอารมณ์รูปแบบหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการวิตกกังวล เครียด กระสับกระส่าย หัวใจเต้นรัว และนอนไม่หลับ ซึ่งสร้างความทรมานในการใช้ชีวิตได้อย่างมาก การใช้ยานอนหลับเป็นการรักษาคนที่มีปัญหานอนไม่หลับจากภาวะนี้ แต่ยานอนหลับก็มีผลข้างเคียงทำให้ตื่นมาแล้วไม่สดชื่นและรู้สึกอ่อนเพลีย

ซึ่งผ้าห่มถ่วงน้ำหนักอาจช่วยได้ เพราะการบำบัดด้วยการให้สัมผัสแบบลึกจะช่วยกระตุ้นเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ช่วยให้กล้ามเนื้อและระบบประสาทผ่อนคลาย หัวใจเต้นช้าลง หายใจช้าลง กระตุ้นการหลั่งเมลาโทนินที่ช่วยในการนอนหลับ และยังมีข้อมูลว่าช่วยบรรเทาภาวะวิตกกังวลได้ โดยผ้าห่มถ่วงน้ำหนักยังอาจเหมาะสำหรับคนที่สมาธิสั้น ออทิสติก ภาวะซึมเศร้า และโรคนอนไม่หลับด้วย

บรรเทาอาการปวดเรื้อรัง

ด้วยคุณสมบัติที่อาจช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ผ้าห่มถ่วงน้ำหนักอาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ด้วย การศึกษาในปี 2021 ในคน 94 คนที่ได้ลองใช้ทั้งผ้าห่มปกติและผ้าห่มถ่วงน้ำหนักพบว่ากลุ่มที่ห่มผ้าห่มถ่วงน้ำหนักรู้สึกถึงอาการปวดที่น้อยลง

ข้อจำกัดและความเสี่ยงของผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก

  • ไม่ได้มีการยืนยันถึงประโยชน์ว่าได้ผลแน่ชัด อาจเพียงช่วยเสริมในเรื่องการนอนหลับ ไม่ได้ช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับ ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ใช้ร่วมกับการปรับพฤติกรรมการนอนที่ดี เช่น นอนเป็นเวลาและไม่ดื่มคาเฟอีนในช่วงเย็นและก่อนนอน
  • ราคาสูงกว่าผ้าห่มทั่วไป เพราะถูกออกแบบมาเพื่อการบำบัดมากกว่าการใช้ทั่วไป
  • การเลือกน้ำหนักของผ้าห่มที่เบาเกินไปอาจไม่ได้ผล หรือน้ำหนักที่หนักเกินไปอาจทำให้อึดอัด ร้อน และนอนหลับยากกว่าเดิม
  • ไม่เหมาะกับการใช้ในทารกและเด็กเล็ก เพราะอาจทำให้หายใจไม่ออก
  • ไม่เหมาะกับคนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ปัญหาด้านการหายใจ โรคลมชัก ผื่นแพ้ผิวหนัง ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี โรคหัวใจ
  • ไม่เหมาะกับคนที่เคลื่อนไหวลำบากหรือเคลื่อนไหวไม่ได้ อย่างผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยอัมพฤกษ์/อัมพาต ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก

สำหรับใครที่อ่านแล้วอยากลองใช้ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก แนะนำว่าควรปรึกษาคนขายและไปทดลองห่มก่อน จากข้อมูลแนะนำว่าให้เลือกน้ำหนักของผ้าห่มที่หนักไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวปัจจุบันและสัมผัสของเนื้อผ้าด้วย

ที่มา: Sleep Doctor, WebMD1, WebMD2 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส