หลายคนคงเคยมีอาการกึ่งหลับกึ่งตื่น รับรู้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแต่ร่างกายกลับขยับหรือลืมตาไม่ได้ เรามักจะเรียกอาการนี้ว่า “ผีอำ” ซึ่งเป็นความเชื่อว่าเกิดจากวิญญาณ หรือปีศาจ มาหลอกหลอนโดยการนั่งทับบนตัวเราไว้ จึงทำให้เราไม่สามารถขยับตัวได้ แต่แท้จริงแล้วเรื่องนี้มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายสาเหตุเอาไว้แล้ว!
ผีอำ คืออะไร ?
ผีอำ หรืออาการอัมพาตจากการนอนหลับ คือ การรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ มักเกิดขึ้นเมื่อคุณอยู่ระหว่างระยะตื่นและหลับ ในระหว่างการเปลี่ยนระยะเหล่านี้ คุณอาจไม่สามารถขยับหรือพูดได้เป็นเวลา 2-3 วินาที หรือบางรายอาจนานถึง 2-3 นาที ซึ่งนอกจากจะเคลื่อนไหวตัวไม่ได้แล้วยังอาจรู้สึกกดดันหรือสำลักได้
โดยอาการผีอำมักมาพร้อมกับความผิดปกติของการนอนหลับอื่น ๆ เช่น โรคลมหลับ เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการง่วงนอนตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนโดยไม่สามารถฝืนให้ตื่นได้ แม้ว่านอนหลับอย่างเพียงพอแล้วก็ตาม
เกิดอะไรขึ้นระหว่างที่คุณถูกผีอำ
- ตื่นตัวแต่ขยับ พูด หรือลืมตาไม่ได้
- เหมือนมีคนอยู่ในห้องของคุณ
- เหมือนมีบางอย่างผลักคุณลงไป
- ตื่นตระหนก
ผีอำ มีสาเหตุมาจากอะไร ?
ปกติคนเราจะมีวัฏจักรการนอนด้วยกันอยู่ 2 ช่วง ได้แก่
- ลักษณะหลับไม่สนิท (REM) ภาวะนี้สมองจะยังทำงานอยู่ และตอบสนองต่อสิ่งเร้า มีอาการกึ่งหลับกึ่งตื่น
- หลับลึก หรือหลับสนิท (NREM) สมองจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าช้าลง เป็นช่วงที่ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่
ซึ่งการนอนหลับจะวนเวียนไปมาอยู่ในวัฏจักรนี้ และคนเราไม่สามารถแยกความฝันกับความจริงออกจากกันได้ จึงทำให้เกิดจินตนาการซ้อนกับความจริง เมื่อร่างกายเกิดอาการอัมพาตขณะนอนหลับ หรือ ผีอำ จึงอาจเข้าใจว่ากำลังถูกผีหลอกอยู่ ขณะเดียวกันปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดอาการอัมพาตขณะนอนหลับได้อาจมาจากสาเหตุ ดังนี้
- นอนไม่หลับ
- รูปแบบการนอนที่หยุดชะงัก
- โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ
- โรควิตกกังวลทั่วไป
- โรคตื่นตระหนก
- ประวัติครอบครัวเป็นอัมพาตจากการนอนหลับ
ป้องกันการเกิด “ผีอำ”
หากคุณไม่อยากเจอกับอาการผีอำบ่อย ๆ ให้คุณปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันของตนเอง ดังนี้
- พยายามนอนให้ได้ 7-9 ชั่วโมงต่อวันอย่างสม่ำเสมอ
- เข้านอนเวลาเดิมทุกคืนและตื่นนอนเวลาเดิมทุกเช้า
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกช่วง 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
- ไม่รับประทานอาหารมื้อใหญ่ก่อนเข้านอน
- ไม่สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีนก่อนเข้านอน
- เปลี่ยนท่านอนหากปกติคุณมักนอนหงาย เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับพบว่าผู้ที่นอนหงายเสี่ยงที่จะมีอาการอัมพาตขณะนอนหลับได้ง่ายกว่าผู้ที่นอนท่าอื่น
อาการแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
หากคุณรู้สึกว่าตนเองมักจะมีอาการผีอำบ่อย ๆ จนเกิดความรู้สึกวิตกกังวลมากไป หรือกลัวที่จะเข้านอน เหนื่อยตลอดเวลาเพราะอดนอน ให้ปรึกษาแพทย์ทันที โดยแพทย์อาจรักษาภาวะพื้นฐานที่อาจกระตุ้นให้เกิดการเป็นอัมพาตขณะนอนหลับได้ เช่น โรคนอนไม่หลับ หรือโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ
ผีอำ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการถูกผีหลอกอย่างที่หลายคนเคยบอกเอาไว้ แต่สาเหตุที่แท้จริงอาจมาจากปัญหาการนอนหลับ รวมถึงสัญญาณของร่างกายที่บอกว่าคุณอาจจะมีกิจวัตรประจำวันที่ส่งผลเสียต่อการนอนก็เป็นได้ แม้ว่าอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงครู่เดียวแล้วหายไป แต่ก็อาจจะส่งผลกระทบด้านจิตใจของคุณตามมา ดังนั้น คุณจึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการดังกล่าว
ที่มา nhs , webmd , petcharavejhospital