ความเครียดจากการทำงาน คือ เมื่อความกดดันจากการทำงานมีมากเกินกว่าที่คุณจะรับมือได้ อาจทำให้ไม่สบายทั้งกายและใจ การตระหนักถึงสัญญาณของความเครียดที่เกี่ยวข้องกับงาน และจัดการกับมันอย่างรวดเร็ว อาจช่วยให้ผลกระทบจากความเครียดลดน้อยลงได้

ความเครียดจากการทำงาน

ความกดดันในที่ทำงานสามารถกระตุ้นความรู้สึกเครียดของคุณได้ นำไปสู่ปฏิกิริยาด้านลบต่อร่างกายและจิตใจ และถ้าความกดดันมีมากเกินไปไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเท่านั้น อาจทำให้งานของคุณมีประสิทธิภาพน้อยลงด้วย นอกจากนี้ยังทำให้คุณมีความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า

ผู้คนมากมายได้รับผลกระทบจากความเครียด ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าในแต่ละปีพนักงานที่มีความเครียดจากการทำงาน มักประสบกับปัญหาด้านสุขภาพ 

สาเหตุของความเครียดจากการทำงาน

มีหลายสิ่งหลายอย่างที่สามารถนำไปสู่ความเครียดจากการทำงานได้ เช่น

  • ความต้องการของงานของคุณ เช่น รู้สึกว่าคุณมีภาระงานมากเกินไปหรือมีเป้าหมายกับกำหนดเวลาที่ไม่เหมาะสม
  • รู้สึกว่าคุณขาดการควบคุม และวิธีในการทำงานที่ไม่ตอบโจทย์
  • ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้จัดการหรือเพื่อนร่วมงาน
  • ความสัมพันธ์ที่ยากลำบากกับเพื่อนร่วมงานหรือการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน
  • บทบาทงานและสิ่งที่คุณต้องทำไม่ชัดเจน
  • การเปลี่ยนแปลงในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในบทบาทงาน โครงสร้างทีม การจัดการ หรืออื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกเครียดกับสิ่งเหล่านี้ ต่างคนต่างรับมือกับความกดดันได้ต่างกันแล้วแต่ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น อายุ ประสบการณ์ และความสามารถส่วนตัว

อาการเครียดจากการทำงาน

ความเครียดจากการทำงานอาจส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคุณ สัญญาณของความเครียดจากการทำงานอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบุคลิกของแต่ละคนและการตอบสนองต่อแรงกดดัน โดยอาการทางอารมณ์หรือจิตใจที่พบบ่อยจากความเครียดจากการทำงาน ได้แก่

  • ไม่มีสมาธิ
  • สูญเสียความมั่นใจในงาน
  • ไม่มีแรงจูงใจหรือมุ่งมั่นกับงาน
  • รู้สึกยากที่จะตัดสินใจอะไรบางอย่าง
  • รู้สึกกดดัน
  • รู้สึกกังวล
  • รู้สึกอารมณ์อ่อนไหวมากขึ้น 
  • รู้สึกหงุดหงิดหรือมีอารมณ์ชั่ววูบได้ง่าย
  • รู้สึกหนักใจกับทุกปัญหา
  • มีอารมณ์แปรปรวน
  • ระยะยาวอาจเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า

คุณอาจได้รับผลกระทบทางกายภาพ ดังนี้

  • รู้สึกเหนื่อยและไม่มีแรง
  • ท้องเสียหรือท้องผูก
  • อาหารไม่ย่อย
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • รู้สึกป่วย
  • ปวดหัว
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลง
  • เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก
  • มีปัญหาทางเพศหรือไม่มีความสุขกับการมีเพศสัมพันธ์อีกต่อไป

โดยความเครียดจากการทำงานก็อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของคุณได้เช่นกัน ดังนี้

  • กินมากหรือน้อยกว่าปกติ
  • มีปัญหาในการนอนหลับ
  • แยกตัวเองออกจากผู้อื่นหรือปลีกตัวออกไป
  • ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือเสพยาที่ผิดกฎหมายเพื่อพยายามรับมือกับความเครียด
  • การมีความเครียดจากการทำงานยังหมายความว่าคุณอาจใช้เวลาลาป่วยมากขึ้น ทำผิดพลาดมากขึ้น และละเลยงานที่ต้องรับผิดชอบ

เมื่องานทำให้คุณเครียด ยิ่งคุณสังเกตเห็นสัญญาณได้เร็วเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งสามารถดำเนินการเพื่อทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้นได้เร็วเท่านั้น ทุกคนมีวันที่รู้สึกเครียด แต่ถ้ามันส่งผลต่อสุขภาพจิตหรือร่างกายของคุณ ก็ถึงเวลาที่จะต้องแก้ไขมัน

จัดการกับความเครียดจากการทำงาน

แม้คุณอาจกังวลว่านายจ้างหรือเพื่อนร่วมงานจะมองคุณอย่างไร แต่ความเครียดสามารถส่งผลกระทบต่อทุกคน และไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอ นายจ้างที่ดีจะตระหนักถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเครียด และควรมีนโยบายเพื่อช่วยในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้

หากความเครียดในที่ทำงานกลายเป็นปัญหาสำหรับคุณ ให้ลองพูดคุยกับคนที่คุณไว้ใจ อาจเป็นหัวหน้างาน อธิบายว่าคุณรู้สึกอย่างไรและพูดคุยเกี่ยวกับภาระงานหรือแง่มุมของงานที่คุณรู้สึกเครียด แต่หากหากคุณรู้สึกว่าไม่สามารถพูดคุยกับหัวหน้างานได้ คุณสามารถพูดคุยกับฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) หรือตัวแทนของบริษัท รวมทั้งเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้

วิธีรับมือความเครียดจากการทำงาน

การพูดคุยกับหัวหน้างานหรือตัวแทนที่ทำงานคนอื่น ๆ สามารถช่วยให้คุณระบุได้อย่างชัดเจนว่าอะไรทำให้คุณรู้สึกเครียดในที่ทำงาน จากนั้นคุณสามารถหาสิ่งที่ควรทำเพื่อลดความเครียดและช่วยให้คุณทำงานได้ดีขึ้น เช่น

  • การตกลงปริมาณงานที่ยุติธรรมและทำได้กับหัวหน้างาน 
  • พูดคุยกับหัวหน้างานเกี่ยวกับการฝึกอบรมหรือการสนับสนุนเพิ่มเติมที่คุณต้องการ ซึ่งสามารถช่วยให้คุณทำงานได้ดีขึ้น
  • จัดระเบียบเวลาของคุณให้ดีขึ้น จัดลำดับความสำคัญของงานในที่ทำงาน และหากคุณสามารถมอบหมายให้คนอื่นได้ ก็อย่ากลัวที่จะทำเช่นนั้น
  • เรียนรู้ที่จะปฏิเสธหากคุณไม่สามารถทำงานพิเศษเพิ่มเติมที่ได้รับมอบหมายได้ พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลของตนเอง
  • หากมีวันหยุดพักประจำปี ให้ลองออกไปท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
  • พยายามพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานของคุณ สิ่งนี้สามารถช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานได้
  • รักษาสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตที่ดี อย่าละเลยครอบครัวหรือความสัมพันธ์นอกที่ทำงาน

เช่นเดียวกับการรับมือกับสิ่งที่ทำให้คุณเครียด สิ่งสำคัญคือต้องเรียนรู้วิธีสร้างความยืดหยุ่น สิ่งนี้จะช่วยให้คุณรับมือกับความรู้สึกเครียดได้ดีขึ้น โดยมีเคล็ดลับดังนี้

  • พยายามอย่าใช้แอลกอฮอล์เป็นวิธีรับมือกับความเครียด การดื่มมากเกินไปอาจทำให้คุณรู้สึกแย่ลงและเพิ่มความเครียดและความวิตกกังวลในระยะยาว
  • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสมดุล อาหารที่คุณกินจะสร้างความแตกต่างให้กับระดับพลังงานและความรู้สึกของคุณได้
  • นอนหลับให้เพียงพอ คุณจะสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้มากขึ้นหากคุณพักผ่อนเพียงพอ
  • ออกกำลังกายให้มากเข้าไว้ การออกกำลังกายสามารถช่วยคลายความเครียดและทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้
  • เรียนรู้เทคนิคการผ่อนคลายบางอย่าง เช่น การฝึกหายใจ โยคะ การทำสมาธิ หรือการฝึกสติเพื่อช่วยให้คุณผ่อนคลายและจัดการกับสถานการณ์ที่ตึงเครียด

การบำบัดความเครียดจากการทำงาน

การสร้างความยืดหยุ่นให้กับชีวตตนเองสามารถช่วยในการจัดการความเครียดที่เกี่ยวข้องกับงานได้อย่างแท้จริง แต่ถ้าคุณยังคงรู้สึกเครียดหรือความเครียดนี้ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคุณอย่างรุนแรง คุณอาจต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินอาการเบื้องต้นที่อาจเข้าข่ายเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และทำการรักษาอย่างทันท่วงที

ที่มา bupa , betterhealth

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส