หากเราพบเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน จนอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายอย่างรุนแรง แต่รู้หรือไม่ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่การเจ็บปวดทางร่างกายอย่างเดียวเท่านั้น เพราะจะก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงได้เช่นเดียวกัน และเหตุนี้เองจึงเป็นสาเหตุสำคัญของโรค PTSD หรือทางการแพทย์เรียกกันว่า “โรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภัยยันตราย” ซึ่งจะถือเป็นโรคที่มีความอันตรายในด้านจิตใจเป็นอย่างมาก และอาจจะก่อให้เกิดปัญหาในด้านอื่น ๆ ตามมาอีกมากมายได้เช่นกัน
รู้จักกับโรค PTSD หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง
PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือโรคความเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง จะเป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติทางจิตใจอย่างร้ายแรง ที่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ อย่างเช่น ประสบอุบัติเหตุ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง หรือประสบภัยพิบัติ เป็นต้น
ซึ่งผู้ป่วยจะเป็นผู้ที่ประสบเหตุการณ์โดยตรง หรือเป็นผู้ที่ได้รับการสูญเสียจากเหตุการณ์ร้ายแรงต่าง ๆ ได้เช่นกัน จนทำให้ผู้ป่วยอาจจะเห็นภาพเหตุการณ์จากอดีตในหัว ฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น ๆ รู้สึกวิตกกังวลจนไม่สามารถควบคุมได้ และอาจจะก่อให้เกิดอาการนอนไม่หลับ หรือไม่มีสมาธิ เป็นต้น โดยโรคนี้จะเป็นโรคที่ค่อนข้างรุนแรง และยังเกิดขึ้นได้อย่างสม่ำเสมอ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้เลยทีเดียว
รู้จักกับอาการของโรค “PTSD” แสดงอาการในลักษณะไหนบ้าง ?
รู้หรือไม่ว่าโรค PTSD จะเป็นความผิดปกติทางจิตใจที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่แล้วอาการของโรคมักจะแสดงในช่วงเดือนแรกหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง แต่ในบางกรณีก็อาจจะเกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นหลายเดือนไปจนถึงปีได้เช่นกัน ในส่วนของอาการที่แสดงออกมาในแต่ละบุคคล จะมีการแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักจะแสดงอาการดังต่อไปนี้
- เห็นภาพเหตุการณ์ร้ายแรงซ้ำ ๆ: ผู้ป่วยจะเห็นภาพเหตุการณ์ หรือความร้ายแรงเหล่านั้นซ้ำ ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นในรูปแบบของภาพหลอน ฝันถึงเหตุการณ์นั้นบ่อย ๆ หรือนึกถึงภาพเหตุการณ์อยู่เสมอ
- พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น: ผู้ป่วยส่วนใหญ่แล้วจะพยายามหลีกเลี่ยงคนหรือสถานที่ ที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ร้ายแรงในครั้งนั้น และพยายามไม่คิดหรือไม่พูดถึงเหตุการณ์เหล่านั้นอีก แต่บางคนก็หลีกเลี่ยงด้วยการพยายามไม่รู้สึกอะไร
- ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากขึ้น: ผู้ป่วยบางรายอาจจะแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากเกินไป อย่างเช่น หงุดหงิดง่าย โมโหแรง ไม่มีสมาธิในการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความรู้สึกตื่นตัวมากเกินไป หวาดระแวงหรือตกใจได้ง่ายยิ่งขึ้น นอนหลับยากขึ้น ตื่นง่ายขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น หรือบางคนอาจจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่ทำร้ายสุขภาพตัวเอง อย่างเช่น การขับรถเร็ว หรือการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- อาการทางร่างกายด้านอื่น ๆ: ผู้ป่วยอาจจะมีอาการร่วมบางอย่าง เช่น ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด เป็นลม คลื่นไส้ ท้องเสีย ตัวสั่น มีความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจถี่ หรือกล้ามเนื้อเกร็ง เป็นต้น
สาเหตุของโรค PTSD เกิดจากสาเหตุใดบ้าง
หากพูดถึงสาเหตุของโรค PTSD แพทย์จะยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ได้ เพราะอาจจะเกิดขึ้นจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างรวมกันเช่นเดียวกับภาวะทางจิตใจอื่น ๆ ซึ่งเหตุการณ์ที่จะเข้ามากระทบจิตใจจะไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การทะเลาะเบาะแว้งกับคนรัก การสอบไม่ผ่าน การตกงาน เป็นต้น แต่จะเห็นเหตุการณ์ที่ตึงเครียด น่ากลัว หรือกระทบจิตใจเป็นอย่างมาก โดยปัจจัยหลัก ๆ ที่อาจจะเป็นสาเหตุของโรค PTSD จะมีสาเหตุดังต่อไปนี้
- เคยเกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรง อย่างเช่น รถชน โดยทำร้ายร่างกาย หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น
- มีบุคคลใกล้ชิดได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต เคยพบเห็นคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต อย่างเช่น ผู้ที่เคยเป็นเหยื่อ หรืออยู่ในเหตุการณ์ฆาตกรรม และอาชญากรรม เป็นต้น
- การทำงานของสมอง ที่ควบคุมสารเคมีและฮอร์โมนของร่างกายที่ตอบสนองต่อความเครียด
- ปัญหาทางสุขภาพจิต ที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล เป็นต้น
ทั้งนี้ยังมีบุคคลบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค PTSD มากกว่าบุคคลทั่วไป อย่างเช่น ผู้ที่ได้รับการเจ็บป่วยเป็นเวลานาน ผู้ที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก ผู้ที่ประสบปัญหาสุขภาพจิต หรือมีคนในครอบครัวประสบปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้งผู้ที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เป็นต้น
แนะนำวิธีการรักษาเบื้องต้นของโรค PTSD
การรักษาโรค PTSD เบื้องต้นนั้น ผู้ป่วยสามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะดูแลตัวเอง และจัดการกับความเครียดด้วยการเรียนรู้วิธีรับมือกับความเครียด ซึ่งผู้ป่วยจะต้องทำความเข้าใจถึงความรู้สึก หรืออาการของตัวเอง เพื่อมองหาวิธีการรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ อย่างเช่น การหางานอดิเรกทำในเวลาว่าง หรือเวลาที่รู้สึกเครียด หาเวลาผ่อนคลายเพื่อไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อน พูดคุยกับครอบครัวอย่างเปิดใจ รวมทั้งการรักษาสุขภาพ และดูแลตัวเองอย่างดี เช่น การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมทั้งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
โดยปกติแล้วคนเราจะมีระดับการรับมือกับความเครียดที่แตกต่างกันออกไป บางคนสามารถรับมือกับความเครียดได้มาก แต่กับบางคนก็รับมือได้น้อย เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เราเจอ และส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจ ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรค PTSD ได้ทั้งสิ้น และการรักษาโรค PTSD โดยตรงในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ แต่อาการจะดีขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส