เวลาไปเที่ยวสถานที่อากาศร้อน ๆ เรามักจะเห็นพ่อค้าแม่ค้าผลไม้ เอาน้ำมะพร้าวสด ๆ จากลูกมาขายเพื่อให้คนดื่มคลายร้อน ขณะเดียวกันปัจจุบันใครที่อยากดื่มน้ำมะพร้าวก็สามารถหาซื้อได้ง่าย เพราะมีหลากหลายแบรนด์ที่นำน้ำมะพร้าวสด ๆ จากลูกมาบรรจุในขวดขายตามท้องตลาด
สำหรับคนที่ชอบดื่มน้ำมะพร้าว รู้หรือไม่ว่าน้ำมะพร้าวไม่ได้มีเพียงความอร่อยเท่านั้น Hack for Health จะพาทุกคนมาดูประโยชน์ของน้ำมะพร้าวที่มีมากกว่าที่คุณคิด
1.น้ำมะพร้าวมีอิเล็กโทรไลต์
น้ำมะพร้าวมีอิเล็กโทรไลต์ตามธรรมชาติซึ่งจะประกอบไปด้วยโพแทสเซียมอยู่มาก เช่น 1 ถ้วยมีโพแทสเซียม 600 มิลลิกรัม โดยโพแทสเซียมมีบทบาทสำคัญในร่างกาย รวมถึงช่วยในการทำงานของไตและการหดตัวของกล้ามเนื้อ
น้ำมะพร้าวอาจเป็นทางเลือกที่เป็นธรรมชาติสำหรับเครื่องดื่มเกลือแร่ แม้ว่าน้ำมะพร้าวมักมีโพแทสเซียมมากกว่าเครื่องดื่มเกลือแร่ทั่วไป แต่ก็มีแนวโน้มที่จะมีโซเดียมน้อยกว่า ซึ่งถือเป็นอิเล็กโทรไลต์หลักที่สูญเสียไปกับเหงื่อ
นอกจากนี้ ยังมีคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าเครื่องดื่มเกลือแร่หลายชนิด ซึ่งหมายความว่าอาจให้พลังงานไม่เพียงพอในระหว่างการออกกำลังกายอย่างหนักหรือยาวนาน แต่สามารถช่วยคืนน้ำได้ในภายหลัง
2.แคลอรีต่ำ
น้ำมะพร้าว 1 ถ้วยมี 45 กิโลแคลอรี โดยน้ำมะพร้าวสามารถใช้แทนเครื่องดื่ม เช่น โซดาและน้ำผลไม้ ซึ่งโดยทั่วไปมีแคลอรี น้ำตาล และคาร์โบไฮเดรตสูง สำหรับใครก็ตามที่พบว่าน้ำเปล่าไม่น่าดื่ม อาจพบว่าการดื่มน้ำมะพร้าวสามารถช่วยแก้กระหายน้ำได้
3.มีสารอาหารมากมาย
น้ำมะพร้าวมีสารอาหารมากมายนอกเหนือจากโพแทสเซียม รวมทั้งแคลเซียมและแมกนีเซียม โดยน้ำมะพร้าว 1 ถ้วย มีโพแทสเซียมประมาณ 600 มิลลิกรัม ในขณะที่กล้วยขนาดกลาง 1 ลูกมีโพแทสเซียม 420 มิลลิกรัม สำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มปริมาณโพแทสเซียม น้ำมะพร้าวจึงอาจเป็นทางเลือกที่ดี
โพแทสเซียมช่วยรักษาระดับของเหลวและอิเล็กโทรไลต์ให้สมดุล โดยเฉพาะระหว่างออกกำลังกาย และเนื่องจากในน้ำมะพร้าวมีโพแทสเซียมมากกว่าโซเดียม โพแทสเซียมจึงอาจช่วยปรับสมดุลของผลกระทบของโซเดียมที่มีต่อความดันโลหิต และอาจช่วยลดความดันโลหิตได้ด้วย
ขณะที่แคลเซียมจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและฟัน และช่วยให้กล้ามเนื้อหดตัวทำงานได้อย่างถูกต้อง โดยน้ำมะพร้าว 1 ถ้วย มีแคลเซียมประมาณ 56 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ แมกนีเซียมยังช่วยเคลื่อนย้ายแคลเซียมและโพแทสเซียมไปยังกล้ามเนื้อ และยังช่วยในการผลิตพลังงานและการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ โดยน้ำมะพร้าว 1 ถ้วยมีแมกนีเซียมประมาณ 60 มิลลิกรัม
อย่างไรก็ตาม น้ำมะพร้าวไม่ได้เป็นแหล่งแคลเซียมหรือแมกนีเซียมที่เข้มข้น ร่างกายจึงจำเป็นต้องดูดซึมสารอาหารเหล่านี้จากแหล่งอื่นเช่นกัน
4.มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ
อนุมูลอิสระเป็นโมเลกุลที่ไม่เสถียร ซึ่งผลิตขึ้นในเซลล์ของคุณในระหว่างการเผาผลาญอาหาร การผลิตเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความเครียดหรือการบาดเจ็บ เมื่อมีอนุมูลอิสระมากเกินไปร่างกายจะเข้าสู่สภาวะความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งสามารถทำลายเซลล์และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรค
การวิจัยในสัตว์พบว่าน้ำมะพร้าวมีสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยปรับเปลี่ยนอนุมูลอิสระเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายอีกต่อไป
ในการศึกษาหนึ่งในปี พ.ศ. 2555 หนูที่ดื้อต่ออินซูลินในอาหารที่มีฟรุกโตสสูง ได้รับการรักษาด้วยน้ำมะพร้าว ทำให้อนุมูลอิสระลดลง เช่นเดียวกับความดันโลหิต ไตรกลีเซอไรด์ และระดับอินซูลิน
นอกจากนี้ การศึกษาในปี 2559 ได้เน้นย้ำถึงประโยชน์ของสารสกัดจากน้ำมะพร้าวในหนูที่เลี้ยงด้วยอาหารที่มีไขมันสูง น้ำมะพร้าวไม่เพียงแต่ช่วยลดคอเลสเตอรอลเท่านั้น แต่ยังแสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการศึกษาในมนุษย์และคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระของน้ำมะพร้าวเพิ่มเติม
5.มีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ
น้ำมะพร้าวอาจช่วยดูแลสุขภาพของหัวใจ โดยโพแทสเซียมอาจช่วยลดความดันโลหิตได้ นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่าน้ำมะพร้าวอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ด้วย
แม้ว่าน้ำมะพร้าวจะมีบทบาทในอาหารเพื่อสุขภาพของหัวใจ แต่คนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจหรือต้องการบำรุงหัวใจก็ยังควรปฏิบัติตามคำแนะนำด้านอาหารจากแพทย์
6.ประโยชน์ต่อระดับน้ำตาลในเลือด
การดื่มน้ำมะพร้าวที่ไม่เพิ่มความหวานแทนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลชนิดอื่น อาจช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ อย่างไรก็ตาม น้ำมะพร้าวที่มีความหวานตามธรรมชาติก็อาจมีน้ำตาลปริมาณสูงเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องจำกัดปริมาณในการบริโภค
ในการศึกษาปี 2558 ที่เกี่ยวข้องกับแบบจำลองหนูที่เป็นโรคเบาหวาน นักวิจัยพบว่าน้ำมะพร้าวนำไปสู่การปรับปรุงการควบคุมน้ำตาลในเลือดและลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วย
7.ประโยชน์ต่อสุขภาพไต
การดื่มน้ำมะพร้าวเป็นประจำอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพไต จากการศึกษาในปี 2018 ในผู้เข้าร่วมที่ไม่มีนิ่วในไต พบว่าน้ำมะพร้าวช่วยให้สูญเสียซิเตรท โปแตสเซียม และคลอไรด์ระหว่างการปัสสาวะ ซึ่งบ่งชี้ว่าน้ำมะพร้าวอาจช่วยคลายนิ่วหรือป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วได้
การศึกษาปี 2021 ในหนูนักวิจัยพบประโยชน์ที่คล้ายกัน โดยอ้างถึงผลการวิจัยก่อนหน้านี้ว่าน้ำมะพร้าวอาจช่วยบรรเทาความเสียหายของไตจากโรคเบาหวานได้
8.น้ำมะพร้าวกับสุขภาพผิว
การดื่มน้ำมะพร้าวหรือนำมาทาผิวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นได้ นอกจากนี้ การศึกษาในปี 2558 พบว่าการบริโภคน้ำมะพร้าวช่วยป้องกันความเสียหายจากอนุมูลอิสระในหนู หากสิ่งนี้เป็นจริงสำหรับมนุษย์น้ำมะพร้าวอาจช่วยลดสัญญาณแห่งวัยได้ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติม
ในการศึกษาปี 2560 นักวิทยาศาสตร์เสนอว่าน้ำมะพร้าวมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ โดยแนะนำว่าการนำมาทาผิวสามารถช่วยรักษาสิวได้ด้วย
9.ดื่มในระหว่างตั้งครรภ์
โดยทั่วไปแล้วคนเราสามารถดื่มน้ำมะพร้าวในระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยอิเล็กโทรไลต์ในน้ำมะพร้าวสามารถช่วยเติมเต็มส่วนที่สูญเสียไประหว่างการแพ้ท้อง และสารอาหารในน้ำมะพร้าวอาจเป็นประโยชน์ต่อทารกในครรภ์
ใครก็ตามที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดื่มน้ำมะพร้าวในระหว่างตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมซึ่งสามารถให้คำแนะนำเฉพาะตัวได้
10.ประโยชน์หลังจากออกกำลังกาย
น้ำมะพร้าวอาจเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะสมสำหรับคืนความชุ่มชื้นและเติมอิเล็กโทรไลต์ที่สูญเสียไประหว่างออกกำลังกาย
อิเล็กโทรไลต์เป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญหลายอย่างในร่างกายของคุณ รวมถึงการรักษาสมดุลของเหลวที่เหมาะสม อิเล็กโทรไลต์ที่สำคัญบางชนิด ได้แก่ โพแทสเซียม แมกนีเซียม โซเดียม และแคลเซียม
เนื่องจากน้ำมะพร้าวมีอิเล็กโทรไลต์ เช่น โพแทสเซียมและแมกนีเซียม การศึกษาหลายชิ้นจึงพบว่าอาจมีประโยชน์มากกว่าน้ำเปล่าสำหรับการทดแทนน้ำที่สูญเสียหลังออกกำลังกาย
นอกจากนี้ การศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2014 พบว่าน้ำมะพร้าวช่วยเพิ่มความสามารถในการออกกำลังกายได้ดีกว่าน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ในช่วงวันที่อากาศร้อนจัดด้วย
11.ประโยชน์ต่อการลดน้ำหนัก
น้ำมะพร้าวบริสุทธิ์มี 45 กิโลแคลอรีใน 1 ถ้วย ทำให้สามารถทดแทนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลได้ จึงช่วยสนับสนุนความพยายามในการลดน้ำหนักและช่วยรักษาน้ำหนักให้อยู่ในระดับปานกลาง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าน้ำมะพร้าวจะมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน แต่หากคุณต้องเลือกซื้อน้ำมะพร้าวที่ถูกบรรจุอยู่ในขวด อย่าลืมมองหาน้ำมะพร้าวที่ไม่ได้เพิ่มสารให้ความหวานอื่น ๆ เข้าไป ให้เน้นความหวานจากธรรมชาติเท่านั้น ที่สำคัญควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสมด้วย
ที่มา medicalnewstoday , healthline
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส