มีเหตุผลมากมายที่ทำให้คุณเกลียดงานของคุณ แม้งานที่คุณกำลังทำอยู่นี้จะเป็นงานที่อาจทำให้คุณมีความสุขมาก ๆ มาก่อน หรือเป็นงานที่คุณอยากทำมาก ๆ  แต่เมื่อได้ลงสนามจริงไปสักระยะหนึ่งกลับพบว่า งานที่คุณเคยรักนี้กลับทำให้คุณมีความทุกข์แทนเสียอย่างนั้น ซึ่งต้นตอของปัญหานี้ก็มาจากปัจจัยที่หลากหลาย 

โดยอาจจะมาจากความสัมพันธ์ของคุณกับเจ้านาย ความสมดุลในชีวิตการทำงานที่ไม่ดี วัฒนธรรมของบริษัทที่มีค่านิยมไม่ตรงกัน หรืออาจจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่ Toxic ซึ่งไม่ว่าต้นตอของปัญหาจะมาจากที่ไหนก็ตาม สัญญาณแรกที่ทุกคนมักพบเหมือน ๆ กัน ก็คือมักมีอาการ “เหนื่อยหน่าย”

คุณไม่ได้มีความรู้สึกนี้เพียงคนเดียว 

และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้คุณเกลียดงานของคุณ เราขอบอกเลยว่า ประมาณการของคนทั่วไปได้ใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการทำงาน ซึ่งหมายถึง คุณใช้เวลาไปกับการทำงานประมาณ 90,000 ชั่วโมงตลอดช่วงชีวิตของคุณ ผู้คนใช้เวลามากเกินไปในการทำงาน มากกว่าที่ใช้เวลากับครอบครัวหรือคนที่คุณรักด้วยซ้ำ 

เริ่มต้นหาทางสงบศึกกับงาน “หยุดคิดและไตร่ตรอง”

ขั้นตอนแรกซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่ง นั่นก็คือให้คุณ “หยุดคิดและไตร่ตรอง” เพราะบ่อยครั้งเมื่อคุณอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา อาจทำให้คุณมองไม่เห็นทางออก เริ่มจากให้คุณตั้งสตินั่งนิ่ง ๆ และหยิบปากกาพร้อมกับกระดาษออกมา แล้วเขียนคุณสมบัติและลักษณะของงานที่ชอบและไม่ชอบลงไป

สิ่งนี้จะช่วยทำให้คุณมองเห็นความคิดของตัวเองได้ดีขึ้น เพราะหลาย ๆ คนเมื่อลองเขียนออกมาแล้ว กลับพบว่าไม่ได้เกลียดงาน แต่เกลียดสภาพแวดล้อมในการทำงานและภาระงานมากกว่า ทำให้คุณนำข้อมูลที่ได้มาจากจุดนี้ไปใช้ในการหาทางแก้ไขต่อไปได้ 

อย่าเพิ่งลาออก! 

อย่าเพิ่งลาออกจากงานเด็ดขาด เราเข้าใจดีว่าความหงุดหงิดในการทำงานนั้นเป็นอย่างไร  แต่ขอให้คุณตั้งสติและมองสิ่งที่คุณจะต้องใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าบัตรเครดิตหรือค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่าง ๆ และลองมหาวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้กัน

  • ลองถามตัวเองว่าต้องการเลิกและออกจากงานที่คุณกำลังทำอยู่จริง ๆ หรือ หรือขอเพียงแค่รอให้สถานการณ์ความหงุดหงิดนี้ผ่านไป การทำงานของคุณก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเดิม  
  • มีอะไรที่คุณสามารถทำได้แตกต่างออกไปเพื่อให้ทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้นไหม? เช่น ขอโอนแผนกหรือขอเปลี่ยนกะได้ไหม?  
  • หรือในกรณีที่คุณรักงานที่คุณทำอยู่ เพียงแต่อาจจะไม่ชอบเพื่อนร่วมงานบางคนของคุณ คุณสามารถที่จะหลีกเลี่ยง การสนทนาพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานคนนั้นได้หรือ ไม่มีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง ที่จะทำให้คุณยังทำงานได้ต่อไปโดยที่กำจัดความกังวลใจหรือความหงุดหงิดของคุณไปด้วย หรือสุดท้ายแล้วถ้าคุณพยายามหาทางแก้ปัญหาแล้ว แต่ก็ยังแก้ไม่ได้อยากจะลาออก แนะนำให้คุณหางานใหม่เตรียมรองรับเอาไว้ก่อน เพราะในหลาย ๆ สถานการณ์ การหางานใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย 

เก็บความรู้สึกเชิงลบ เอาไว้ให้มิดที่สุด 

การระบายความเครียด การเล่าเรื่องราวถึงปัญหาความทุกข์ที่คุณกำลังเผชิญอยู่ ให้คนอื่นฟัง เป็นสิ่งที่ช่วยระบายอารมณ์ช่วยระบายความทุกข์ได้ดี แต่คุณควรเก็บเรื่องราวเหล่านี้นำไประบายให้กับเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัวฟังเท่านั้นจะดีกว่า เพราะการบ่นกับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ช่วยอะไร และคุณอาจไม่แน่ใจจริง ๆ ด้วยว่า เพื่อนร่วมงานคนที่คุณนำไประบายให้ฟังนั้นลึก ๆ แล้วเขาหวังดีกับคุณหรือไม่ หรือเขาพร้อมที่จะนำความทุกข์ของคุณไปบอกต่อ เพื่อทำให้ปัญหาของคุณนั้นขยายใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม 

และนอกจากจะต้องบ่นให้ถูกคนแล้ว อย่าโพสต์ระบายเรื่องที่ทำงานลงสู่โซเชียลมีเดียด้วย เพราะการสำรวจในปี 2020 โดย Harris Poll for Express Employment Professionals พบว่า 67% ของนายจ้างใช้เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อค้นหาตัวตนของผู้สมัคร และพบว่ามีผู้สมัครมากถึง 55% ที่ไม่ได้งาน เพราะว่าอาจจะมีการโพสต์เรื่องงาน ลงสื่อโซเชียลมีเดียในแง่ลบมากเกินไป 

คำแนะนำเพิ่มเติม 

  • ก่อนที่คุณคิดจะลาออก ขั้นแรกให้คุณลองหาว่ามีอะไรที่คุณสามารถทำได้เพื่อแก้ไขปัญหาในที่ทำงาน เช่น ขอย้ายแผนกหรือขอเปลี่ยนกะ  
  • การระบายความรู้สึกอาจดีต่อสุขภาพ แต่ควรทำกับเพื่อนสนิทหรือครอบครัวเท่านั้น ไม่ใช่ในที่ทำงาน
  • หากคุณต้องการลาออก ให้เริ่มหางานอย่างเงียบ ๆ ขณะที่ยังอยู่ในงานปัจจุบัน
  • เมื่อถึงเวลาลาออก จงลาออกด้วยความสง่างามและทุ่มพลังของคุณไปกับตำแหน่งใหม่ของคุณ และทิ้งความขมขื่นเอาไว้เบื้องหลัง 

และถ้าคุณพยายามแก้ไขปัญหาทุกอย่างอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังแก้ไม่ได้หรือว่าก็ยังพบกับปัญหาซ้ำๆ  เดิม ๆ ที่คุณเผชิญอยู่ในที่ทำงาน คุณก็สามารถนำข้อมูลตรงนี้มาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อหางานใหม่ในครั้งต่อไปได้ว่า คุณชอบทำอาชีพเดิมอยู่เพียงแต่ว่าอยากจะเปลี่ยนบริษัท หรือคุณไม่ชอบทำงานที่คุณทำอยู่แล้วอยากจะเปลี่ยนสายงานไปเลย และเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการหางานใหม่! และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือให้หางานใหม่ภายใต้ความเงียบ อย่ากระโตกกระตากอย่างเด็ดขาด เมื่อคุณได้งานใหม่ ก็เตรียมลาออกจากงานเก่า เพื่อไปแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ กันได้เลย 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส