การมีสุขภาพกายและใจที่ดี เป็นเหมือนรางวัลอย่างหนึ่งของชีวิต เพราะตราบใดที่คุณไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และมีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการพัฒนาร่างกายและจิตใจของตนเอง ก็ย่อมทำให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่นอกจากการกินอาหารที่ดี นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตนเองวันละนิดเท่านั้นเอง!
ไลฟ์สไตล์ที่ช่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นได้
1.กินอาหารที่มีประโยชน์
แน่นอนว่าทุกคนทราบดีว่าการนำอาหารเข้าสู่ร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเราเลือกอาหารที่ไม่มีประโยชน์อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม ที่สำคัญยังอาจนำพาโรคร้ายต่าง ๆ มาสู่ร่างกายได้ โดยคุณควรที่จะรับประทานอาหารหลายอย่างรวมกัน รวมทั้งผลไม้ ผัก พืชตระกูลถั่ว และธัญพืชไม่ขัดสี และสำหรับใครที่ไม่ชอบรับประทานผัก ก็อาจเริ่มปรับโดยการพยายามเติมผักเข้าไปในมื้ออาหารทุกมื้อ และไม่ลืมที่จะกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ด้วย การกินเพื่อสุขภาพจะช่วยลดความเสี่ยงของการขาดสารอาหารและโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็ง
2.บริโภคเกลือและน้ำตาลให้น้อยลง
ผู้ที่กินอาหารรสเค็มจัด หรือมีปริมาณโซเดียมสูง อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง และจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย โดยคนส่วนใหญ่ได้รับโซเดียมผ่านเกลือ ดังนั้น จึงควรลดการบริโภคเกลือลงเหลือ 5 กรัมต่อวัน ซึ่งเท่ากับประมาณหนึ่งช้อนชา ฟังดูเหมือนยากแต่จริง ๆ ทำได้ง่ายโดยการจำกัดปริมาณเกลือ ซีอิ๊วขาว น้ำปลา และเครื่องปรุงโซเดียมสูงอื่น ๆ ในการเตรียมอาหาร และหลีกเลี่ยงของว่างที่มีรสเค็ม และเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ
ในทางกลับกัน การบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไปก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการฟันผุและน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่ดีต่อสุขภาพ สำหรับผู้ใหญ่ WHO แนะนำให้บริโภคน้อยกว่า 5% ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ คุณสามารถลดปริมาณน้ำตาลลงได้โดยการจำกัดการบริโภคขนมขบเคี้ยว ลูกอม และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
3.ลดปริมาณไขมันที่เป็นอันตราย
ไขมันที่บริโภคควรน้อยกว่า 30% ของพลังงานทั้งหมดที่คุณได้รับ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเพิ่มของน้ำหนักที่ไม่ดีต่อสุขภาพและโรค NCDs โดยไขมันมีหลายประเภท แต่ไขมันไม่อิ่มตัวจะดีกว่าไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ โดย WHO แนะนำให้ลดไขมันอิ่มตัวให้น้อยกว่า 10% ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับ ลดไขมันทรานส์ให้น้อยกว่า 1% ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับ และเปลี่ยนทั้งไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์เป็นไขมันไม่อิ่มตัว
ไขมันไม่อิ่มตัวจะพบได้ในปลา อะโวคาโด และถั่ว ส่วนไขมันอิ่มตัวพบได้ในเนื้อติดมัน เนย น้ำมันปาล์ม ครีม เนยแข็ง เนยใส น้ำมันหมู และไขมันทรานส์พบได้ในอาหารอบและทอด รวมถึงขนมและอาหารสำเร็จรูป เช่น พิซซาแช่แข็ง คุกกี้ เป็นต้น
4.หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ เช่น ความผิดปกติทางจิตและส่งผลด้านลบต่อการแสดงออกทางร่างกาย รวมถึงการติดสุรา โรคไม่ติดต่อที่สำคัญ เช่น ตับแข็ง มะเร็งบางชนิด และโรคหัวใจ ตลอดจนการบาดเจ็บที่เกิดจากความรุนแรง และอุบัติเหตุบนท้องถนน
5.ดื่มน้ำที่ปลอดภัยเท่านั้น
การดื่มน้ำที่ไม่ปลอดภัยอาจนำไปสู่โรคที่มากับน้ำ เช่น อหิวาตกโรค โรคท้องร่วง โรคตับอักเสบเอ และโปลิโอ ในสภาพแวดล้อมที่คุณไม่แน่ใจเกี่ยวกับแหล่งน้ำ ให้ต้มน้ำอย่างน้อยหนึ่งนาที สิ่งนี้จะทำลายสิ่งมีชีวิตที่เป็นอันตรายในน้ำ และปล่อยให้น้ำเย็นตามธรรมชาติก่อนดื่ม
6.ไม่สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรค NCDs เช่น โรคปอด โรคหัวใจ และหลอดเลือด โดยบุหรี่ไม่เพียงแต่ฆ่าผู้สูบโดยตรงเท่านั้น แต่ยังฆ่าผู้ไม่สูบด้วยการสัมผัสกับมือสองอีกด้วย
หากคุณกำลังสูบบุหรี่ ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะเลิก เมื่อคุณทำแล้วคุณจะได้รับประโยชน์ด้านสุขภาพในทันทีและระยะยาว หากคุณไม่สูบบุหรี่ ก็อย่าเริ่มสูบบุหรี่และต่อสู้เพื่อสิทธิในการหายใจในอากาศที่ปราศจากควันบุหรี่
7.การนอนหลับให้เพียงพอ
การนอนหลับให้เพียงพอและการนอนหลับอย่างสม่ำเสมอถือเป็นเรื่องสำคัญ การศึกษาในปี 2564 กับคน 1.1 ล้านคนในยุโรปและสหรัฐอเมริกาพบว่า 25% ของคนนอนหลับน้อยกว่าที่แนะนำสำหรับอายุของพวกเขา วัยรุ่นมากกว่าครึ่งนอนหลับไม่เพียงพอ ส่วนผู้ใหญ่มีอาการนอนไม่หลับมากขึ้นและคุณภาพการนอนหลับไม่ดี
การนอนหลับสนิทเป็นสิ่งสำคัญในการเติมพลังทั้งร่างกายและจิตใจ ช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมเซลล์และกำจัดของเสีย นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในการสร้างความทรงจำ อีกทั้งการอดนอนยังนำไปสู่การหลงลืมได้ง่าย
8.การรักษาน้ำหนักตัวให้แข็งแรง
โรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับอายุขัยที่สั้นลง และมีความเสี่ยงสูงต่อโรคต่าง ๆ และการจะรักษาน้ำหนักให้คงที่แข็งแรง การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายทุกวันจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากคุณกำลังลำบากและมีปัญหาเรื่องการควบคุมน้ำหนัก ให้ปรึกษาผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ ที่สำคัญให้จำไว้ว่าการอดอาหารไม่ได้ผล และคุณควรปรับการกินของตนเองให้กลายเป็นนิสัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว
9.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายหมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายที่เกิดจากกล้ามเนื้อโครงร่างที่ต้องใช้พลังงาน ซึ่งรวมถึงการออกกำลังกายและกิจกรรมที่ทำในขณะทำงานบ้าน เดินทาง และทำกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ ปริมาณการออกกำลังกายที่คุณต้องการจะขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุของคุณ แต่ผู้ใหญ่อายุ 18-64 ปีควรออกกำลังกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีตลอดทั้งสัปดาห์
10.ตรวจความดันโลหิตเป็นประจำ
โรคความดันโลหิตสูง หรือที่เรียกว่า “เพชฌฆาตเงียบ” เนื่องจากหลายคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอาจไม่ทราบถึงปัญหา เนื่องจากอาจไม่มีอาการใด ๆ หากปล่อยไว้โดยไม่ควบคุม ความดันโลหิตสูงอาจนำไปสู่หัวใจ สมอง ไต และโรคอื่น ๆ ได้
11.ตรวจสุขภาพทุกปี
การตรวจร่างกายเป็นขั้นตอนสำคัญในการทราบสถานะสุขภาพของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และวัณโรค โดยโรคเหล่านี้หากไม่รักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงและถึงขั้นเสียชีวิตได้
เพื่อการมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดี การปรับไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันให้เอื้อต่อสุขภาพโดยรวมของตนเองถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ และเราทราบกันดีว่าการมีชีวิตที่ดีเป็นมากกว่าการมีสุขภาพที่ดี แต่หมายรวมถึงการมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย
ขณะเดียวกันแม้คุณจะทำทุกอย่างถูกต้อง ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือความเครียดทางจิตใจได้เสมอไป ดังนั้น จึงควรยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต พร้อมทั้งดูแลร่างกายและจิตใจของตนเองให้ดีที่สุด
ที่มา who , verywellhealth
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส