ในทุกก้าวของการดำเนินชีวิต มนุษย์ทุกคนล้วนเจอกับทางแยกแห่งการตัดสินใจแทบจะวินาทีต่อวินาที แต่ด้วยสัญชาตญาณและประสบการณ์ในการใช้ชีวิต สถานการณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน สมองเราสามารถประมวลผลและตัดสินใจได้แบบอัตโนมัติในทันที

แต่พอถึงสถานการณ์สำคัญในชีวิตที่เหมือนทางแยกใหญ่ในการเดินทาง หลายคนอาจตัดสินใจไม่ได้ ไม่กล้าตัดสินใจ หรือตัดสินใจได้ไม่เด็ดขาด อย่างในช่วงที่ต้องเลือกมหาวิทยาลัยเพื่อเรียนต่อ การตัดสินใจแต่งงาน ลาออกจากงาน ซื้อบ้าน เลิกกับแฟน และอื่น ๆ

เหตุผลในการทำให้คนเราไม่สามารถตัดสินใจมีหลายเหตุผลด้วยกัน แต่ละคนอาจมีเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจต่างกันหรือประกอบกันหลายเหตุผล Hack for Health จะพาคุณไปรู้จักกับเหตุผลที่พบได้บ่อย ซึ่งส่งผลให้คุณไม่กล้าที่เลือกเส้นทางเดินของชีวิตกัน

เหตุผลที่ทำให้คนผู้คนไม่กล้าตัดสินใจและวิธีรับมือ

การรับรู้เหตุผลต่อไปนี้อาจช่วยให้คุณเข้าใจปัญหาและสถานการณ์ที่คุณกำลังเผชิญมากขึ้น และช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้น

1. ความไม่รู้และไม่มั่นใจในตัวเอง

ข้อมูลและประสบการณ์มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจ หากคุณต้องตัดสินใจในเรื่องที่ไม่รู้ ร่วมกับการที่คุณเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยรอบคอบ ระมัดระวัง หรือขี้กังวลเป็นทุนเดิม การต้องตัดสินใจในเรื่องที่ไม่รู้จึงเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับคุณ

บางคนอาจมีข้อมูลและประสบการณ์ที่มากพอ แต่กลับขาดความมั่นใจที่จะตัดสินใจอย่างเด็ดขาด หรือรู้สึกไม่แน่ใจในการตัดสิน ซึ่งคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเองหรือเคยมีประสบการณ์การตัดสินใจที่ผิดพลาดในอดีตอาจส่งผลให้ไม่กล้าตัดสินใจ 

วิธีรับมือ: สำหรับความไม่รู้หรือขาดข้อมูลในการตัดสินใจ คุณอาจจะต้องขวนขวายหาข้อมูลให้มากขึ้น หรือเลือกปรึกษาคนที่น่าจะมีความรู้ในเรื่องนี้ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน หากคุณกำลังจะตัดสินใจซื้อบ้าน ปรึกษาหัวหน้าที่เคยทำโปรเจกต์ในลักษณะเดียวกันมาก่อน เมื่อคุณต้องเริ่มโปรเจกต์ใหม่

ในเรื่องของความมั่นใจ คุณสามารถเริ่มจากการตัดสินใจในเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ต้องเครียดกับมันมากเกินไปเพื่อสร้างความกล้าในการตัดสินใจให้กับตัวเอง แล้วค่อย ๆ ขยายเรื่องที่ต้องตัดสินใจให้ใหญ่ขึ้นเมื่อคุณพร้อม

2. ความกลัวหรือหวาดหวั่นต่อสิ่งที่จะตามมาหลังการตัดสินใจ

ความกลัวเป็นความรู้สึกที่ทรงพลังต่อจิตใจมนุษย์ โดยเฉพาะความกลัวต่อการล้มเหลวหรือความเจ็บปวดภายหลังตัดสินใจจนทำให้คุณรู้สึกลังเลใจหรือกังวลที่จะเลือก เพราะไม่รู้ผลลัพธ์ที่แน่ชัดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เช่น คุณอาจกลัวว่าจะตัวเองสูญเสียผลประโยชน์หรือเดือดร้อน หากเลือกเข้าข้างผู้มีอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คุณจึงเลือกที่จะไม่ตัดสินใจเลย หรือหากคุณถูกบังคับให้ต้องเลือก คุณอาจเลือกทางที่ดูเป็นกลางมากที่สุด แม้ภายในใจคุณจะมีคำตอบที่ชัดเจนและสมเหตุสมผลอยู่แล้วก็ตาม

ซึ่งความกลัวต่อความล้มเหลวอาจถูกปลูกฝังมากตั้งแต่วัยเด็กและติดตัวแม้คุณโตเป็นผู้ใหญ่ อย่างคนที่เคยถูกพ่อแม่ต่อว่าเรื่องการตัดสินใจในวัยเด็ก มักมีปมในเรื่องการตัดสินใจและกลัวที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง และเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องเป็นคนตัดสินใจอยู่เสมอ

วิธีรับมือ: ความกลัวผลลัพธ์ในอนาคตเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำได้เพียงประเมินหรือคาดเดา ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเลือกทางไหนอาจมีทั้งผลลัพธ์ที่ดี ผลลัพธ์ที่ไม่ดี หรือผลลัพธ์กลาง ๆ ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรรออยู่

3. การจดจ่อกับเป้าหมายเล็ก ๆ จนลืมมองภาพกว้าง

การจะบรรลุเป้าหมายอะไรสักอย่างหนึ่งนั้นเหมือนกับการวาดภาพด้วยจุดเล็ก ๆ มาเรียงต่อกันจนกลายเป็นเส้น คดเคี้ยวไปมาจนกลายเป็นภาพที่สวยงาม แต่คุณกำลังโฟกัสที่จุด ๆ เดียวมากเกินไปอยู่รึเปล่า? เพราะแม้ว่าคุณกำลังจดจ่อและให้ความสำคัญกับก้าวเล็ก ๆ ที่มั่นคงเพื่อไปยังเป้าหมาย

แต่การทุ่มเททุกอย่างให้กับสิ่งเดียวมากเกินไป อาจทำให้คุณลืมเป้าหมายแรกที่เป็นเป้าหมายใหญ่จนทำให้คุณสับสนหรือขาดมุมมองเมื่อต้องตัดสินใจว่าต้องไปทางไหนดี

วิธีรับมือ: คุณควรระลึกอยู่เสมอว่าปลายทางหรือเป้าหมายของคุณคืออะไร เพื่อให้ทิศทางที่คุณเลือกที่จะเดินนั้นเข้าใกล้ปลายทางที่คุณตั้งใจไว้แต่แรก

4. คุณเป็น ‘เพอร์เฟกชันนิสต์’ (Perfectionist)

เพอร์เฟกชันนิสต์ หรือ ภาวะสมบูรณ์แบบนิยม เป็นลักษณะนิสัยอย่างหนึ่งที่อธิบายเวลาที่คนนั้นจะทำอะไรทุกสิ่งอย่างต้องตรงตามเกณฑ์หรือมาตรฐานที่ตั้งไว้ การพบเจอกับความผิดพลาดและความไม่สมบูรณ์พร้อมสามารถบั่นทอนความรู้สึกของคนที่เป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ได้ และการตัดสินใจเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่เหล่าเพอร์เฟกชันนิสต์ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างเพื่อให้ผลลัพธ์จากการตัดสินใจนั้นออกมาสมบูรณ์แบบตรงตามที่ใจนึกหวัง

วิธีรับมือ: การหลุดออกจากกรอบการเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์นั้นอาจเป็นเรื่องที่ยาก แต่การปรับวิธีคิดว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามที่หวังอย่างถูกต้องนั้นไม่ใช่วิถีของโลกนี้ แม้การเตรียมการล่วงหน้ามาอย่างดีก็อาจพบเจออุปสรรคที่ไม่คาดคิด การกล้าที่จะตัดสินใจและต้องเผชิญกับผลลัพธ์ที่ไม่ตรงใจอาจเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำได้เพียงปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามนั้น หรืออาจใช้วิธีร่างข้อดีข้อเสียของตัวเลือกในการตัดสินใจและชั่งน้ำหนัก

5. คุณกำลังป่วยด้วยอาการบางอย่าง

อาจจะดูเหมือนคำต่อว่า แต่อาการป่วยที่เกี่ยวข้องต่ออารมณ์ จิตใจ และการทำงานของสมองส่งผลต่อประสิทธิภาพในการตัดสินใจของคุณได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียด ภาวะวิตกกังวล โรคสมาธิสั้น และโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจรบกวนสมองในส่วนของการใช้เหตุผล สัญชาตญาณ อารมณ์ และกระบวนการคิดจนทำให้ตัดสินใจผิดพลาดและเกิดความกลัวหรือกังวลที่จะตัดสินใจ

วิธีรับมือ: หากคุณกำลังเผชิญกับปัญหาทางอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ การใช้ชีวิต รวมถึงคุณไม่สามารถตัดสินใจกับเรื่องง่าย ๆ ได้เลย ทั้งที่ก่อนหน้าคุณสามารถทำได้ปกติ อาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพบางอย่าง Hack for Health แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับคำปรึกษา

เหตุผลเหล่านี้น่าจะพอไขคำตอบของปัญหาการเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจหรือตัดสินใจไม่เด็ดขาดของคุณได้ และหากคุณได้ตัดสินใจในเรื่องอะไรแล้ว คุณแค่เตรียมพบผลลัพธ์ที่จะตามมา แต่อย่าไปเครียดกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นมากเกินไป หากคุณรู้สึกกังวลสามารถวางแผนเพื่อรับมือกับความเป็นไปได้หลาย ๆ อย่างด้วยสติและความใจเย็น

ที่มา: psychcentral

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส