คนไทยมีความเชื่อว่าการไม่ใส่กางเกงในหรือกางเกงชั้นในจะทำให้เกิดไส้เลื่อน ซึ่งไม่จริงแต่อย่างใด เพราะไส้เลื่อนเกิดจากอวัยวะภายในช่องท้องบางส่วนหลุดออกผนังช่องท้องมากองรวมกันบริเวณหน้าท้อง ขาหนีบ หรือส่วนอื่น ไส้เลื่อนมีหลายชนิด และเกิดได้จากหลายสาเหตุ เกิดได้ทั้งในผู้หญิงแล้วผู้ชาย แต่เกิดในผู้ชายได้บ่อยกว่า Hack for Health จะพามารู้จักกับอาการนี้ให้มากขึ้น

ไส้เลื่อนไม่ได้จากการไม่ใส่กางเกงใน แล้วเกิดจากอะไร?

ส่วนใหญ่ของคนที่เกิดอาการไส้เลื่อนมักมีภาวะกล้ามเนื้อผนังช่องท้องอ่อนแรงแต่กำเนิด โดยปกติแล้วในช่องท้องเราจะมีอวัยวะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปอด ลำไส้ ตับ ไต และอื่น ๆ ซึ่งจะมีกล้ามเนื้อผนังช่องท้องคอยพยุงเพื่อรักษาตำแหน่งของอวัยวะเหล่านี้ไว้ แต่ในคนที่เป็นไส้เลื่อนกล้ามเนื้อผนังช่องท้องอาจเกิดความผิดปกติ เช่น อ่อนแรงหรือฉีกขาดจนไม่สามารถพยุงอวัยวะในช่องท้องได้

การได้รับบาดเจ็บบริเวณช่องท้อง การยกของหนักเกินไป อาการไอหรือจามเรื้อรัง อาการท้องผูกหรือปัสสาวะลำบากเรื้อรัง การตั้งครรภ์ และคนที่มีน้ำหนักตัวมากอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดไส้เลื่อนได้ นอกจากนี้ ทารกที่มีปัญหาสุขภาพแต่กำเนิดก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดไส้เลื่อนได้มากกว่าเด็กคนอื่น

ไส้เลื่อนไม่ได้เกิดแค่ที่ขาหนีบ

ไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal hernia) เป็นชนิดของไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยที่สุด โดยไส้เลื่อนขาหนีบเกิดจากการที่ลำไส้บางส่วนหลุดออกจากช่องท้องมากองที่ขาหนีบหรือต้นขาด้านบน หากไส้เลื่อนเกิดในตำแหน่งอื่นก็จะมีชื่อเรียกและลักษณะต่างกันไป เช่น

  • ไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal hernia) 
  • ไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด (Incisional hernia)
  • ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (Umbilical hernia)
  • ไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง (Ventral hernia)
  • ไส้เลื่อนข้างก้น (Perineal hernia)

อาการไส้เลื่อนเป็นอย่างไร แล้วอันตรายไหม?

โดยส่วนใหญ่อาการไส้เลื่อนหรือการเคลื่อนตัวอวัยวะช่องท้องผิดที่มักไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง บางคนอาจไม่รู้สึกอะไรเลย บางคนอาจรู้สึกตึง ปวดหน่วง หรือเจ็บแปลบบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน อาการไส้เลื่อนอาจสังเกตได้จากการที่หน้าท้องหรือขาหนีบมีก้อนมากองไว้ แต่ไส้เลื่อนบางชนิดที่เกิดขึ้นภายในร่างกายอาจไม่สามารถมองเห็นได้ นอกจากนี้ อาการไส้เลื่อนแต่ละชนิดอาจมีอาการอื่นแตกต่างกันไป 

อาการไส้เลื่อนมักไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ควรได้รับการรักษา เพราะการปล่อยอาการไส้เลื่อนทิ้งไว้อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น โดยอวัยวะที่เคลื่อนออกมาอาจไปติดหรืออุดตันในช่องอื่น ๆ ทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรง หรือเกิดการกดทับของเส้นเลือดจนทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือด และตายลงจนทำให้อวัยวะนั้นเน่า และติดเชื้อภายในร่างกาย ซึ่งเป็นอันตราย

ไส้เลื่อนรักษาได้ด้วยวิธีไหน?

อาการไส้เลื่อนทุกชนิดควรได้รับการรักษา ซึ่งการรักษาหลัก คือ การผ่าตัด โดยการผ่าตัดเพื่อรักษาไส้เลื่อน แพทย์จะผ่าตัดเพื่อย้ายอวัยวะที่เคลื่อนออกมากลับเข้าไปในตำแหน่งแหน่งเดิม แล้วเสริมความแข็งแรงของผนังกล้ามเนื้อที่พยุงอวัยวะนั้น ๆ ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีลักษณะคล้ายตาข่ายเสริมเข้าไปเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

ไส้เลื่อนเป็นอาการที่ป้องกันได้ยาก เพราะส่วนใหญ่เป็นผลจากความผิดปกติของผนังลำไส้แต่กำเนิด แต่การลดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อาจช่วยลดความเสี่ยงได้ เช่น ควบคุมน้ำหนักตัว กินอาหารที่ใยอาหารสูงป้องกันอาการท้องผูก เลี่ยงการยกของหนัก และดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันอาการไอจามเรื้อรังจากโรคภูมิแพ้และการสูบบุหรี่

ที่มา: Cleveland Clinic, Mayo Clinic

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส