ตัวละครหลักในภาพยนตร์เป็นสื่อกลางที่เชื่อมโยงคนดูเข้ากับเรื่องราวหรือข้อความที่ภาพยนตร์ต้องการสื่อสาร แม้ว่าผู้ชมภาพยนตร์อย่างเรา ๆ จะเป็นเหมือนบุคคลที่ 3 ที่คอยดูความเป็นไปจากมุมมองของหลายตัวละคร แต่เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไปจนถึงจุดสูงสุด คนดูมักเผลอจินตนาการว่าหากเราเองเป็นตัวละครนั้นเราจะตัดสินใจหรือรับมือกับเรื่องราวเหล่านั้นอย่างไร
เชื่อว่าหลายครั้งที่คนดูเสียน้ำตาให้กับเรื่องราวความเศร้าและโศกนาฏกรรมในภาพยนตร์ประหนึ่งว่าเราเป็นตัวละครนั้น โดยหนึ่งในเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ที่เรียกน้ำตาจากคนดูได้คงเป็นภาพยนตร์ที่ตัวเอกเผชิญกับโรคบางอย่าง
โรคหรือปัญหาสุขภาพภายในภาพยนตร์เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนดูรู้สึกลุ้นว่าเรื่องราวเหล่านั้นจะดำเนินต่อไปอย่างไร ซึ่ง Hack for Health ได้เตรียม 5 โรคจาก 5 ภาพยนตร์มาให้ทุกคนได้รู้จักกับโรคและตามไปดูภาพยนตร์เหล่านี้กัน
5 โรคจาก 5 ภาพยนตร์ที่ชวนคุณน้ำตาคลอ
1. ภาวะปัญญาอ่อนจาก I Am Sam (2001)
หากใครเคยดูเรื่องนี้ เพียงแค่เห็นชื่อ และเรื่องราวที่แซมประสบพบเจอภายในเรื่องก็อาจทำให้น้ำตารื้นได้แล้ว I Am Sam เป็นเรื่องราวของ แซม ดอว์สัน ชายฐานะไม่ดีที่มีภาวะปัญญาอ่อน โดยเขาถูกประเมินว่ามีสติปัญญาเทียบเท่ากับเด็ก 7 ขวบ
วันหนึ่งแซมจับพลัดจับผลูไปมีลูกกับสาวคนหนึ่ง ซึ่งเธอได้ทิ้งเขาและลูกสาวที่ชื่อลูซีไป เรื่องราวของภาพยนตร์ได้เล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตของพ่อผู้มีสมองเป็นเด็กกับลูกสาวที่กำลังเติบโตคนเป็นคนปกติ สู่การถูกกีดกันจากทางการ เพราะแซมถูกประเมินว่าเป็นบุคคลไร้สมรรถภาพและไม่สามารถเลี้ยงดูลูซีได้
ภาวะปัญญาอ่อนหรือภาวะบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disability) เป็นความผิดปกติทางด้านสติปัญญา สาเหตุของภาวะปัญญาอ่อนยังไม่แน่ชัด แต่อาจเป็นผลจากพันธุกรรม การเจ็บป่วย การได้รับสารพิษ ไปจนถึงการถูกทารุณกรรม
โดยคนที่มีภาวะนี้จะมีระดับไอคิวที่ต่ำกว่าคนทั่วไป เรียนรู้ได้ช้า ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านกระบวนการคิด การใช้เหตุผล และการสื่อสาร ในภาพยนตร์เราจะเห็นว่าแซมคิดช้า พูดช้า ท่าทางคล้ายเด็ก ตัดสินใจทำอะไรด้วยอารมณ์ ทำอะไรแบบเดิมซ้ำ ๆ แต่ถึงอย่างนั้นข้อจำกัดทางด้านร่างกายไม่ได้ส่งผลต่อความรักของแซมที่มีลูซีเลย
2. กลุ่มอาการทรีเชอร์-คอลลินส์ จาก Wonder (2017)
ภาพยนตร์ Wonder เป็นเรื่องราวของ อ๊อกกี้ พูลแมน (Auggie Pullman) เด็กชายวัย 10 ขวบที่มีโครงสร้างใบหน้าผิดปกติจากพันธุกรรมที่ชื่อกลุ่มอาการทรีเชอร์-คอลลินส์ (Treacher-Collins Syndrome) อ๊อกกี้เข้าเรียนในโรงเรียนเหมือนเด็กทั่วไป แต่ด้วยใบหน้าที่โดดเด่นของเขา ทำให้เขาต้องต่อสู้กับสายตาและทัศนคติจากเด็กคนอื่น ๆ รวมถึงผู้ปกครองของเด็กเหล่านั้นด้วย
แต่ถึงอย่างนั้นอ๊อกกี้มีครอบครัวที่แสนอบอุ่นและเพื่อนแสนใจดีที่ได้ดาราเบอร์ใหญ่ อย่าง จูเลีย โรเบิร์ต และ โอเวน วิลสันมาแสดงเป็นแม่และพ่อ ซึ่งภาพยนตร์ Wonder สะท้อนให้เห็นเรื่องราวความสวยงามหลากหลายรสชาติของชีวิตเด็กชายที่ถูกคนอื่นมองว่าอัปลักษณ์
กลุ่มอาการทรีเชอร์-คอลลินส์เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบได้เพียง 1 ใน 50,000 เท่านั้น ซึ่งความผิดปกตินี้ส่งผลให้โครงสร้างกะโหลกศีรษะและอวัยวะบนใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นดวงตา จมูก โหนกแก้ม ใบหู และอื่น ๆ ฟอร์มตัวผิดรูปแบบ นอกจากจะทำให้มีใบหน้าต่างออกไปแล้ว โครงสร้างอวัยวะที่ผิดไปจากเดิมยังส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะด้วย อย่างหูหนวกหรือปากแหว่งเพดานโหว่
3. โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS จาก The Theory of Everything (2014)
The Theory of Everything หรือชื่อไทยสุดโรแมนติก ‘ทฤษฎีรักนิรันดร์’ เรื่องราวที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของนักฟิสิกส์และนักเอกภพวิทยาชื่อก้องโลก อย่าง สตีเฟน ฮอว์กินส์ (Steven Hawking) ซึ่งรับบทโดย เอ็ดดี้ เรดเมย์น (Eddie Redmayne)
ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าอัตชีวประวัติของสตีเฟนใน 2 แง่มุมในฐานะนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะและสามีผู้เป็นที่รักของ เจน ไวล์ด (Jane Wilde) ภรรยาของสตีเฟน ซึ่งทั้ง 2 แง่มุมนี้จะเห็นการพัฒนาของตัวละคร ตั้งแต่นักศึกษามหาวิทยาลัยผู้เป็นอัจฉริยะ การตกหลุมรัก การเผชิญกับการเจ็บป่วยทางกายและใจหลายสิบปี ไปจนถึงการค้นพบทฤษฎีรักนิรันดร์ที่เปลี่ยนการรับรู้ของมนุษยชาติ
หากอ่านดูอาจรู้สึกว่าสตีเฟนดูเป็นผู้ชายที่ยิ่งใหญ่และสู้ คิดค้นทฤษฎีใหม่ ๆ และแก้โจทย์คณิตศาสตร์อันซับซ้อนได้ แต่ลำพังการจะตักอาหารเข้าปากกลับกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับเขา
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis) เป็นความผิดปกติของเซลล์ประสาทที่พบได้ยาก ซึ่งเซลล์ประสาทด้านการเคลื่อนไหว (Motor neurons) ที่ช่วยในการเคลื่อนไหวร่างกาย อย่างการเดิน วิ่ง หยิบจับสิ่งของ พูดคุย หรือแม้แต่เคี้ยวอาหารนั้นเสื่อมสภาพหรือถูกทำลาย ใน The Theory of Everything คนดูจะเห็นสตีเฟนค่อย ๆ แสดงอาการด้านการเคลื่อนไหว ตั้งแต่มือที่สั่นเทา สะดุดล้ม เดินกะเผลก หยิบจับสิ่งของอย่างยากลำบาก ไปจนถึงสูญเสียการควบคุมร่างกายแทบทั้งหมด
4. โรคซิสติกไฟโบรซิส จาก Five Feet Apart (2019)
จะเป็นอย่างไร หากคุณตกหลุมรักคนที่ไม่สามารถสัมผัสตัวกันได้ Five Feet Apart เรื่องราวความรักของ 2 วัยรุ่น สเตลลาและวิล ‘เพื่อนร่วมโรค’ ที่พบรักกันภายในโรงพยาบาล ซึ่งทั้ง 2 คนได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis)
ซึ่งเป็นโรคที่ผู้ป่วยโรคนี้ติดเชื้อได้ง่ายและการติดเชื้ออาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต โดยกฎของโรงพยาบาล คือ ห้ามผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้อยู่ใกล้กันเกิน 5 ฟุตหรือประมาณ 1.5 เมตรเพราะอาจติดเชื้อและเป็นอันตรายได้ ซึ่งเรื่องราวความรักของทั้งสองคนก่อตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เรื่องราวในตอนจบนั้นชุ่มไปด้วยน้ำตา นอกจากในแง่มุมของความรักแล้ว Five Feet Apart ยังสะท้อนให้เห็นความบอบช้ำทางใจในจิตใจของคู่รักที่ไม่สามารถแม้แต่จะจับมือกันและความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปของคนป่วย
โรคซิสติกไฟโบรซิส โรคทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้ร่างกายผลิตเมือกหรือสารคัดหลั่งออกมามากกว่าปกติและเหนียวข้นกว่า เช่น เสมหะในปอด เมือกในลำไส้ และระบบสืบพันธุ์ ซึ่งเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
อย่างใน Five Feet Apart วิลนั้นติดเชื้อชนิดร้ายแรงภายในปอด อีกภาพที่จะเห็นจากภาพยนตร์เรื่องนี้คือผู้ป่วยภายในเรื่องมักต้องใส่สายออกซิเจนไว้ตลอด เพราะเสมหะที่ข้นเหนียวภายในปอดและทางเดินหายใจส่งผลให้ร่างกายรับออกซิเจนได้น้อย การรักษาโรคนี้ทำได้เพียงการรักษาแบบประคับประคองตามอาการที่เกิดขึ้น โรคนี้สามารถส่งผ่านทางพันธุกรรม การตรวจก่อนการตั้งครรภ์สามารถช่วยวางแผนการรับมือได้
5. โรคอัลไซเมอร์ จาก Still Alice (2014)
‘อัลไซเมอร์นั้นเลวร้ายกว่าการเป็นมะเร็ง’ ประโยคสั้น ๆ จากปากของ อลิส ฮาวแลนด์ แสดงโดย จูลีแอน มัวร์ (Juliane Moore) อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เคยมีชีวิตที่เพียบพร้อมทั้งการงาน ฐานะ ความรัก และครอบครัวได้บอกกับสามีของเธอ จอห์น ฮาวแลนด์ แสดงโดย อเล็ก บาลด์วิน (Alec Baldwin) ซึ่งเป็นฉากที่ทำคนดูหลายคนน้ำตาแตก
อลิส ฮาวแลนด์ เริ่มมีอาการหลงลืมคำง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน หลงในมหาวิทยาลัยที่เธอสอนมาเป็น 10 ปี ไปจนถึงอาการเบลอ ๆ ในระหว่างการสอน ก่อนที่เธอจะไปพบแพทย์และพบว่าเธอเป็นโรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็วจากพันธุกรรมด้วยวัยเพียง 50 ปี และอีกไม่นานความทรงจำเกี่ยวกับคนที่เธอรัก สูตรพุดดิงของโปรดของลูกเธอ และความสามารถในการเป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์ของเธอจะหายไป
Still Alice ได้แสดงถึงความสิ้นหวังและความทุกข์เกินจินตนาการของหญิงวัยกลางคนผู้เคยมีทุกอย่างและกำลังสูญเสียมันไปทีละนิด รวมทั้งตัวตนของเธอ ท่ามกลางการให้กำลังใจจากครอบครัวที่ดูอบอุ่นที่ชุ่มไปด้วยน้ำตา และคนดูอาจสำลักความเศร้าจนเจ็บจี๊ดในหัวใจทุกครั้งที่จู่ ๆ ความทรงจำของเธอผุดขึ้นมาในบางช่วงบางตอนก่อนมันจะหายไปภายในไม่กี่วินาที
โรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งความผิดปกติของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อย โดยปกติมักพบในคนอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยเกิดได้ถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์ อาการของอัลไซเมอร์มักแสดงจากอาการเหม่อลอย หลง ๆ ลืม ๆ ที่ไม่รุนแรง ตั้งแต่การลืมคำง่าย ๆ หาของไม่เจอ พูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ และไต่ระดับขึ้นไป เช่น หลงทาง ลืมว่าตัวเองต้องทำอะไร ลืมการผูกเชือกรองเท้า ในรายที่รุนแรงสมองและกล้ามเนื้อจะสูญเสียความไปทั้งหมดทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำไป ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระได้ และไม่สามารถพูดได้
ทั้งหมดนี้ คือ 5 โรคจาก 5 ภาพยนตร์สุดดรามาที่ไม่ว่าจะดูเรื่องไหนก็อาจน้ำตาแตกได้ไม่ต่างกัน แม้ว่าบางโรคจะเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่การดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมออาจช่วยชะลอและลดผลกระทบจากโรคได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส