ช่วงก่อนหน้านี้หลายคนคงเห็นข่าวที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพเตือน หลังจากไปซื้อโจ๊กที่ร้านค้าเขียนรายละเอียดบนถุงโจ๊ก ซึ่งผู้ซื้อเห็นว่าหมึกจากตัวหนังสือบนถุงร้อนซึมเข้าไปด้านใน เมื่อเทออกมาปรากฏว่าหมึกก็ซึมเข้าไปในเนื้อโจ๊กจริง ๆ
เคสที่หมึกซึมเข้าไปในโจ๊กหรืออาหารอื่น ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก หากลองไปค้นดูจะพบว่าเคยมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นก่อนหน้านี้มาแล้ว
โดยในเคสล่าสุดที่ตัวหนังสือ ‘หมูล้วน’ ซึมเข้าไป อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากเพจอ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ได้ออกมาเตือนและให้ความรู้ว่าหมึกที่เขียนและซึมผ่านถุงร้อนเข้าไปในเนื้อโจ๊กนั้นเป็นอันตรายและอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้ ซึ่งในเคสนี้ อ.เจษฎา คาดว่าทางร้านใช้ปากกาเมจิกเขียน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2019 เพจเฟซบุ๊กหมอแล็บแพนด้าได้ทดสอบด้วยการซื้อโจ๊กมา แล้วลองใช้ปากกาเขียนคำว่า ‘ซึมมั้ย’ ลงไป’ แถมลองเอาไปเข้าไมโครเวฟเผื่อความร้อนจะช่วยเร่งการแผ่ของสีให้ซึมผ่านถุงเข้าไปในเนื้อโจ๊ก แต่หมึกก็ไม่ซึม อย่างไรก็ตาม หมอแล็บก็ได้ออกตัวว่าไม่กล้ารับประทาน เพราะไม่รู้ว่าสารเคมีจากหมึกในส่วนที่ไม่ใช่เม็ดสีจะซึมเข้าไปรึเปล่า
หลังจากนั้น อ.เจษฎาก็ได้แชร์ความคิดเห็นว่าสาเหตุที่หมึกบนถุงจากในกรณีที่หมอแล็บทดสอบอาจเกิดจากปัจจัยที่ต่างกัน โดยอาจเป็นถุงคนละชนิดและปากกาคนแบบ
โดยจากข้อความนี้จึงพอสรุปได้ว่าการเลือกถุงใส่อาหารและปากกาที่เขียนมีผลต่อการซึมของหมึกผ่านถุง ในเคสที่หมึกซึมเข้าไป อ.เจษฎาคาดว่าหากเป็นถุงร้อนชนิดขุ่นและปากกาเมจิก ในขณะที่ของหมอแล็บเป็นถุงร้อนชนิดใสและปากกาเพอร์มาเนน (Permanent marker)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะซึมหรือไม่ซึม ถุงใส่อาหารไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเขียนอะไรลงไป ดังนั้น ผู้ขายอาจจำเป็นต้องใช้วิธีอื่นในการระบุรายละเอียดของอาหาร เช่น การมัดหนังยางคนละสี การเขียนใส่กระดาษแล้วใส่หรือติดไปกับถุงแทน
ถุงร้อน ถุงเย็น เลือกอย่างไรให้เหมาะสม?
ถุงสำหรับใส่อาหารที่คนคุ้นหูกันแบ่งออกได้ 3 ชนิด ดังนี้
- ถุงเย็น สามารถทนทานต่ออุณหภูมิได้ตั้งแต่ -40 ถึง 80 องศาเซลเซียส สามารถแช่ช่องแข็งในตู้เย็น น้ำแข็ง หรืออาหารแช่แข็ง แม้จะทนความร้อนได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่นิยมนำมาใส่ของร้อน เพราะจะเสียรูปและปล่อยสารเคมีอันตรายออกมาได้ สังเกตได้จากฉลากถุงที่จะเป็นสีฟ้า เขียนว่า LDPE (Low Density Polyethylene) ลักษณะเหนียว ใส และไม่มันวาว
- ถุงร้อนใส สามารถใส่อาหารที่มีความร้อนสูงกว่า 100 องศาเซลเซียสได้ อย่างน้ำซุปหรือของทอด ใส่ของเย็นและแช่เย็นได้ แต่ไม่สามารถแช่ช่องแข็งได้ เพราะจะกรอบและแตก สังเกตได้จากฉลากสีแดงบนถุง เขียนว่า PP (Polypropylene) ที่มีลักษณะใสและมันวาว
- ถุงร้อนขุ่น ถุงขุ่น หรือถุงไฮเดน สามารถใส่อาหารที่มีอุณหภูมิ 100 เซลเซียส ใส่ของเย็นและแช่เย็นได้ แต่ไม่สามารถแช่ช่องแข็งได้ เพราะจะกรอบและแตกเช่นเดียวกับถุงร้อนใส สังเกตได้จากฉลากสีเขียว เขียนว่า HDPE (High Density Polyethylene) ถุงมีสีขาวขุ่นและไม่มันวาว
การเลือกถุงใส่อาหารที่เหมาะกับอุณหภูมิของอาหารและการใช้งานจะช่วยให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยจากสารเคมีในพลาสติก
อันตรายจากสารเคมีในหมึกปากกา
อย่างที่ อ.เจษฎาได้ให้ข้อมูลว่าถุงใส่อาหารเหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเขียนข้อความลงไป เพราะถุงเหล่านี้มีความหนาความบาง รวมถึงความทนทานต่อสารละลายและสารเคมีในหมึกปากกาต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นปากกาชนิดใดก็ตาม แม้จะบอกว่าอันตราย แต่อาจยังไม่เห็นภาพ Hack for Health เลยนำข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีในปากกาและผลกระทบด้านสุขภาพมาฝาก
ช่องทางที่คนส่วนใหญ่สัมผัสกับสารเคมีในปากกา คือ ผิวหนัง โดยจะเห็นว่าการที่มือเราเปื้อนหมึกปากกาหรือแม้แต่เอามาวาดรูปบนผิวหนังก็ไม่ก่อให้เกิดอันตรายอะไร ด้วยปริมาณและความเข้มข้นหมึกที่ต่ำจึงไม่ทำให้เกิดอาการหรืออาจทำให้เกิดอาการ แต่น้อยมากจนไม่รู้สึก หากเพิ่มปริมาณหรือได้รับบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษได้ อย่างผื่นแดงและผิวหนังอักเสบ ดังนั้น ไม่ว่าจะปริมาณน้อยแค่ไหนก็ไม่ควรให้ผิวหนังสัมผัสกับหมึก เพราะอาจส่งผลในระยะยาวได้
แต่ในเคสที่ได้รับสารเคมีในหมึกเข้าสู่ร่างด้วยวิธีรับประทานพบได้น้อยมาก แต่การได้รับหมึกสีเพียงน้อยนิดผ่านช่องทางนี้อาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษที่อันตรายได้มากกว่า เพราะในหมึกมีสารประกอบ อย่างไดมีธิลเบนซีน (Dimethylbenzene) แอลกอฮอล์ สารสี และกาว ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว เวียนหัว หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และอาการอื่น ๆ ได้
โดยอาการและความรุนแรงอาจขึ้นอยู่กับปริมาณและความเข้มข้นของหมึกที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย สารเคมีหลายชนิดประกอบอยู่ในหมึกอาจกระตุ้นการเกิดของเซลล์มะเร็งได้ เมื่อได้รับในปริมาณมากหรือปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
แต่อย่างในเคสที่เผลอรับประทานโจ๊กที่มีหมึกซึมเข้าไปในปริมาณเล็กน้อย ร่างกายอาจไม่แสดงอาการหรือทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่ทางที่ดีควรเลี่ยงการได้รับอะไรก็ตามที่ไม่ใช่อาหารเข้าสู่ช่องปากและระบบทางเดินอาหาร หรือหากได้รับสารเคมีโดยไม่ตั้งใจและเกิดอาการตามมา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ุ
ที่มา: nsm.co.th, Klyne Thailand, CDC, อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์, หมอแล็บแพนด้า
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส