โรคหลอดเลือดสมอง คือภาวะที่สมองขาดเลือด เกิดขึ้นเมื่อส่วนหนึ่งของสมองมีเลือดไหลเวียนไม่เพียงพอ มักเกิดขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดแดงอุดตัน หรือมีเลือดออกในสมอง และเซลล์สมองในบริเวณนั้นจะเริ่มตายจากการขาดออกซิเจน
อาการ
หากคุณหรือคนใกล้ตัวกังวลว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองให้สังเกตเวลาที่เริ่มมีอาการ โดยสัญญาณและอาการของโรคหลอดเลือดสมอง มีดังต่อไปนี้
- มีปัญหาในการพูดและไม่เข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด รู้สึกสับสน พูดไม่ชัด หรือมีปัญหาในการเข้าใจคำพูด
- อัมพาตหรือชาที่ใบหน้า แขนหรือขา อาจมีอาการชา อ่อนแรง หรือเป็นอัมพาตที่ใบหน้า แขน หรือขาอย่างฉับพลัน ซึ่งมักส่งผลต่อร่างกายเพียงด้านเดียว ให้ลองพยายามยกแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะพร้อมกัน หากแขนข้างใดข้างหนึ่งเริ่มหลุดคุณอาจกำลังเป็นโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ ปากข้างหนึ่งของคุณอาจหุบลงเมื่อคุณพยายามยิ้มด้วย
- ปัญหาในการมองเห็นในตาข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง คุณอาจมีการมองเห็นพร่ามัวหรือมืดมัวในดวงตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างอย่างฉับพลัน
- ปวดศีรษะรุนแรงอย่างฉับพลัน ซึ่งอาจมีอาการอาเจียน เวียนศีรษะ หรือสติสัมปชัญญะเปลี่ยนแปลง อาจบ่งชี้ว่าคุณกำลังเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
- มีปัญหาในการเดิน คุณอาจสะดุดหรือเสียการทรงตัว อาจมีอาการวิงเวียนศีรษะกะทันหัน
สาเหตุ
1.หลอดเลือดแดงอุดตัน
หลอดเลือดแดงอุดตัน หรือที่เรียกว่าโรคเส้นเลือดในสมองตีบ บางคนอาจมีการหยุดชะงักชั่วคราวของการไหลเวียนเลือดไปยังสมอง หรือที่เรียกว่าโรคขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอาการที่ยาวนาน
ซึ่งถือว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ทำให้เกิดการไหลเวียนของเลือดลดลงอย่างรุนแรง (ขาดเลือด) โดยหลอดเลือดตีบตันนั้นเกิดจากไขมันสะสมในหลอดเลือด หรือจากลิ่มเลือดหรือเศษอื่น ๆ ที่เดินทางผ่านกระแสเลือด ส่วนใหญ่มักจะมาจากหัวใจและไปค้างอยู่ในหลอดเลือดในสมอง
2.เส้นเลือดในสมองแตก
โรคเส้นเลือดในสมองแตก เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดในสมองรั่วหรือแตก โดยเลือดออกในสมองอาจเกิดจากหลายสภาวะที่ส่งผลต่อหลอดเลือด ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคเส้นเลือดในสมองแตก เช่น
- ความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้
- การบาดเจ็บ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์
- การสะสมของโปรตีนในผนังหลอดเลือดที่นำไปสู่ความอ่อนแอในผนังหลอดเลือด
ปัจจัยเสี่ยง
มีหลายปัจจัยที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองได้แก่
1.ปัจจัยเสี่ยงจากการใช้ชีวิต
- มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
- ไม่ออกกำลังกาย
- ดื่มหนักหรือเมามาย
- การใช้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย เช่น โคเคนและเมทแอมเฟตามีน
2.ปัจจัยเสี่ยงทางการแพทย์
- ความดันโลหิตสูง
- การสูบบุหรี่หรือการสัมผัสควันบุหรี่มือสอง
- คอเลสเตอรอลสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคหยุดหายใจขณะหลับ
- โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจบกพร่อง การติดเชื้อที่หัวใจ หรือจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- คนในครอบครัวมีประวัติเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย หรือภาวะขาดเลือดชั่วคราว
ปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่
- อายุ : ผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าผู้ที่อายุน้อยกว่า
- เชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ : ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์อื่น
- เพศ : ผู้ชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้หญิง
- ฮอร์โมน : การใช้ยาคุมกำเนิดหรือการรักษาด้วยฮอร์โมนที่มีเอสโตรเจนจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
ภาวะแทรกซ้อน
โรคหลอดเลือดสมองบางครั้งอาจทำให้เกิดความพิการชั่วคราวหรือถาวร ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สมองขาดออกซิเจน รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนี้
- อัมพาตหรือสูญเสียการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ คุณอาจเป็นอัมพาตซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย หรือสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อบางส่วน เช่น กล้ามเนื้อซีกหน้า หรือแขนข้างเดียว
- พูดหรือกลืนลำบาก โรคหลอดเลือดสมองอาจส่งผลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อในปากและลำคอ ทำให้คุณพูด กลืน หรือรับประทานอาหารได้ลำบาก นอกจากนี้ คุณยังอาจมีปัญหาในการใช้ภาษา ซึ่งรวมถึงการพูดหรือเข้าใจคำพูด การอ่าน หรือการเขียน
- ความจำเสื่อมหรือมีปัญหาในการคิด หลายคนที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองจะสูญเสียความทรงจำบางส่วน รวมถึงอาจมีปัญหาในการคิด การใช้เหตุผล การตัดสิน และการทำความเข้าใจแนวคิดต่าง ๆ ยากขึ้น
- ปัญหาทางอารมณ์ ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองอาจควบคุมอารมณ์ได้ยากขึ้น หรืออาจมีอาการซึมเศร้า
- ความเจ็บปวด อาการปวด ชา หรือความรู้สึกผิดปกติอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ทำให้คุณสูญเสียความรู้สึกที่แขนซ้าย และอาจรู้สึกเสียวแปลบที่แขนข้างนั้น
วิธีการป้องกัน
การทราบปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง การปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ให้บริการด้านสุขภาพ และการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพเป็นขั้นตอนที่ดีที่สุดที่คุณสามารถทำได้เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง หากคุณเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้อีก
วิธีการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองหลายอย่างเหมือนกับวิธีในการป้องกันโรคหัวใจ ซึ่งมีวิธีดังนี้
- การควบคุมความดันโลหิตสูง เป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดที่คุณสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมอง หากคุณเป็นโรคหลอดเลือดสมอง การลดความดันโลหิตจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตามมาได้ โดยคุณต้องการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพ หรือใช้ยาเพื่อรักษาความดันโลหิตสูง
- ลดปริมาณคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวในอาหาร เพราะการรับประทานคอเลสเตอรอลและไขมันให้น้อยลง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ อาจลดการสะสมตัวในหลอดเลือดแดง หากคุณไม่สามารถควบคุมคอเลสเตอรอลได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงอาหารเพียงอย่างเดียว แพทย์อาจสั่งจ่ายยาลดคอเลสเตอรอลให้
- เลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสำหรับผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ที่สัมผัสกับควันบุหรี่มือสอง
- การจัดการโรคเบาหวาน อาหาร การออกกำลังกาย และการลดน้ำหนักสามารถช่วยให้คุณรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ดีต่อสุขภาพได้
- รักษาน้ำหนักให้เหมาะสม การมีน้ำหนักเกินทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคเบาหวาน
- การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยผักและผลไม้ อาหารที่มีผักหรือผลไม้อย่างน้อย 5 มื้อต่อวัน อาจลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายแบบแอโรบิคช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองได้ เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลที่ดี และทำให้สุขภาพโดยรวมของหลอดเลือดและหัวใจดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดน้ำหนัก ควบคุมเบาหวาน และลดความเครียดได้ด้วย
- ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักจะเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดสมองตีบ อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อยถึงปานกลาง เช่น 1 แก้วต่อวัน อาจช่วยป้องกันโรคเส้นเลือดสมองตีบ และลดแนวโน้มการแข็งตัวของเลือดได้
โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะฉุกเฉินที่คุกคามชีวิต ซึ่งทุก ๆ วินาทีมีความสำคัญ หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองให้รีบรักษาโดยด่วน เพราะยิ่งรักษาหลอดเลือดสมองได้เร็วเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งมีโอกาสฟื้นตัวและลดความรุนแรงของโรคได้มากขึ้นเท่านั้น
ที่มา mayoclinic , clevelandclinic
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส