โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นโรคความผิดปกติทางอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบที่รุนแรง โดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมหรือจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้นได้ กลไกของโรคนี้เป็นผลมาจากสารเคมีในสมองมีผลต่ออารมณ์ผิดปกติไปจนเกิดเป็นอาการทางอารมณ์ และนำไปสู่อาการทางด้านร่างกาย รวมถึงพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของคนป่วยด้วย ซึ่งปัจจัยหลายอย่างส่งผลร่วมกัน
โดยประชากรโลกกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งผู้ป่วยต้องใช้ยาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยแต่ละคนอาจถูกกับยาคนละชนิด ยาบางชนิดอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย นอกเหนือจากยาแล้ว การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ดีต่อสุขภาพ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายให้มากขึ้นก็เป็นวิธีที่แพทย์แนะนำ
ล่าสุดมีการศึกษาขนาดใหญ่ที่ได้รวบรวมข้อมูลจากการศึกษาแบบรีวิว 97 ชิ้นที่มาจากงานวิจัยกว่า 1,039 งาน โดยมีกลุ่มตัวอย่างถึง 128,119 คน แก่นของการศึกษาที่ได้หยิบมาคือประสิทธิภาพของการออกกำลังกายต่อสุขภาพและการรักษาโรค โดยเฉพาะโรคทางอารมณ์ ซึ่งงานวิจัยเป็นพันชิ้นที่ผ่านการรีวิวนั้นมีตั้งแต่คนทั่วไปที่ไม่มีโรค คนสุขภาพดี คนที่มีโรคซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล และป่วยด้วยโรคต่าง ๆ อีกมากมาย
การศึกษาชิ้นนี้พบว่าการออกกำลังกายนั้นมีประสิทธิภาพสูงที่สุดหรือส่งผลดีอย่างมากในกลุ่มตัวอย่างที่มีโรคซึมเศร้า ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคไต คนท้อง ผู้หญิงหลังคลอด และคนทั่วไป การศึกษาชิ้นนี้ยังบอกด้วยว่าการออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นสูงหรือหนักขึ้นให้ผลลัพธ์ที่มากขึ้นด้วย
สำหรับโรคซึมเศร้า ข้อมูลจากงานวิจัยชี้ว่าการออกกำลังกายอาจส่งผลดีต่ออาการของโรคถึง 43 เปอร์เซ็นต์ โดยระยะเวลาออกกำลังกายที่ดีที่สุดอยู่ที่ 150 นาที/สัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที ซึ่งตรงกับข้อมูลเก่าที่แนะนำให้ทุกคนออกกำลังกายในระยะเวลาตามนี้ โดยจะเป็นการออกกำลังกายในรูปแบบไหนก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้มีเวลาในการออกกำลังกายมากเท่าที่ข้อมูลแนะนำ ก็ยังควรหาเวลาออกอยู่ดี เพราะข้อมูลชี้ว่าไม่ว่าจะออกมากหรือออกน้อยก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีได้เหมือนกัน แต่ต้องออกเป็นประจำ
โดยสรุปแล้ว การออกกำลังกายไม่ว่าจะรูปแบบไหน ใช้ระยะเวลาในการออกแต่ละครั้งเท่าไหร่ก็ล้วนดีต่อสุขภาพ ซึ่งอาจช่วยลดอาการที่ไม่รุนแรงถึงรุนแรงปานกลางจากโรคซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล และอารมณ์ด้านลบที่เกี่ยวข้องกับโรคทางอารมณ์ได้ตั้งแต่ 20–60 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว แต่ประสิทธิภาพจากการออกกำลังกายจะสูงที่สุดในช่วง 3 เดือนแรกและหลังจากนั้นจะลดลง เนื่องจากว่าอาการโดยส่วนใหญ่อาจดีขึ้นจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงที่น้อยลง
อย่างไรก็ตาม คนที่มีโรคทางอารมณ์จำเป็นต้องได้รับจากแพทย์และใช้ยารักษาอย่างต่อเนื่อง ลำพังการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถรักษาโรคได้ เพียงแต่เป็นส่วนที่ช่วยเสริมให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นเท่านั้น
ที่มา: BMJ, Cleveland clinic
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส