หนึ่งในพื้นที่ที่รวบรวมคนต่างวัยเอาไว้มากที่สุดนั่นก็คือ “พื้นที่ของการทำงาน” ซึ่งเป็นหนึ่งในสังคมที่รวบรวมคนต่างวัยเอาไว้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพนักงานระดับอาวุโส พนักงานระดับช่วงกลาง หรือแม้แต่พนักงานที่เป็นเด็กจบใหม่ และยังมีผู้คนจากหลากหลายตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นที่อีกพื้นที่หนึ่ง ที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย เกิดความแตกต่าง ทั้งทางด้านความคิด และทัศนคติที่แตกต่างกันไปได้ 

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำรงอยู่ด้วยกันก็คือ “แตกต่างแต่ไม่แตกแยก” ดังนั้นในวันนี้เราจะมาแนะนำวิธีจัดการบริหารช่องว่างระหว่างวัยในที่ทำงาน ให้มีความเป็นมิตรต่อกันมากขึ้น มีความเข้าใจในเรื่องของทัศนคติที่แตกต่างกัน ทำให้ก่อเกิดสังคมการทำงานที่มีคุณภาพ นอกเหนือไปจากการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว ก็ยังเป็นอีกหนึ่งการปรับตัวและทำความเข้าใจ ที่จะทำให้คุณไปทำงานอย่างมีความสุขในทุก ๆ วันอีกด้วย 

1. อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว 

การทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว จะนำไปสู่การปิดกั้นทางความคิดและทำให้เกิดความหมางใจกันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้อาวุโสกระทำต่อผู้ที่มีอายุน้อยกว่า หรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่า ทำตัวเป็นคนน้ำเต็มแก้วใส่ผู้อาวุโส ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำในที่ทำงานทั้งนั้นเพราะบุคคลในแต่ละช่วงวัยต่างก็มีความรู้มีประสบการณ์ แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงมีความรู้ดี ๆ ให้เรานำมาปรับใช้กับชีวิต และทำงานอยู่เสมอ

2. เปิดพื้นที่ให้คนต่างวัยได้ศึกษา และแชร์ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน 

คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ที่ทำงานอยู่ในวงการหรือธุรกิจนั้น ๆ มาอย่างยาวนาน จะมีประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ไม่สามารถสอนได้ในห้องเรียน ในทางกลับกัน คนรุ่นมิลเลนเนียลได้เติบโตขึ้นมาในโลกที่เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้านและทำให้ก่อเกิดการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ ซึ่งบุคคลทั้ง 2 วัยนี้ต่างก็มีเรื่องที่ตนเองถนัดและเรื่องที่ตนเองไม่ถนัด การแชร์ประสบการณ์ และแชร์ความรู้กัน นอกจากจะเป็นการเพิ่มเติมความรู้แล้ว ก็ยังเป็นการช่วยสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างเพื่อนร่วมงานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย 

3. รักษาทัศนคติที่ดีเอาไว้ 

องค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือการขับเคลื่อนธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ไม่อาจที่จะมีตำแหน่งหน้าที่หรือความถนัดเพียงด้านเดียวได้ ทุกคนต่างทำงานร่วมกันเพื่อนำพาเป้าหมายไปสู่จุดหมายที่ได้วางเอาไว้ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะมีอายุมากหรือมีอายุน้อย ก็ควรที่จะต้องให้ความเคารพแก่ผู้อื่นและเคารพกับผู้ที่ทำงานในทุกตำแหน่งหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน เจ้าของบริษัท หรือแม้กระทั่ง คุณป้าแม่บ้าน พี่ รปภ. เพราะทุกคนต่างทำงานและทำหน้าที่ของตัวเองที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด 

4. วัดผลจากการทำงาน และทัศนคติ

วัดผลการทำงานของพนักงาน หรือผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ จากประสิทธิภาพภาพการทำงาน และวัดผลจากทัศนคติที่บุคคลคนนั้นมี ไม่ตัดสินเพียงเพราะอายุ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีอายุมากเกินไป มีอายุน้อยเกินไปเพราะเพิ่งเรียนจบมาใหม่ ๆ เพราะคนเราทุกคนต่างมีศักยภาพที่ซ่อนอยู่แตกต่างกันไป แต่ถึงกระนั้นก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะตั้งใจทำงาน หรือพร้อมที่จะปรับตัวเรียนรู้ดังนั้นอย่าให้กำแพงในเรื่องของอายุมาเป็นตัวกั้น แต่ให้วัดผลจากการทำงานและทัศนคติที่บุคคลนั้นมีต่อผู้อื่น 

5. วิธีที่คนทำงานรุ่นใหม่ เข้าหาพนักงานที่มีอายุมากกว่า

และอีกหนึ่งปัญหาที่เด็กจบใหม่หรือคนทำงานรุ่นใหม่ มักจะมีความกังวลใจนั่นก็คือการเข้าหาพนักงานที่มีอายุมากกว่า โดยการเข้าหานี้อาจจะเป็นเพราะอยากสานความสัมพันธ์ในเรื่องของมิตรภาพที่ทำงาน หรือเป็นการละลายพฤติกรรมเพื่อที่จะทำให้การทำงานร่วมกันนั้นง่ายมากขึ้น คำแนะนำของเราก็คือ 

ให้คิดว่าเพื่อนร่วมงานที่มีอายุมากกว่าของคุณ เป็นเพื่อนร่วมงานนี่แหละ แค่มีอายุมากกว่าเท่านั้น การมองเพื่อนร่วมงานของคุณในฐานะ “เพื่อน” จะช่วยเปลี่ยนวิธีการเข้าหาภายในใจของคุณ และช่วยลดความกดดันที่คุณอาจรู้สึกว่าต้องทำให้พวกเขาประทับใจ เมื่อคุณเปลี่ยนมุมมองด้วยวิธีนี้ คุณอาจพบว่าการสนทนาจะมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น  

หรือวิธีที่ดีที่สุดในการเริ่มต้น ในการชวนคุยคือการถามคำถาม เช่น ถามว่าคุณทำงานที่นี่มานานเท่าไหร่แล้ว ร้านอาหารแถวออฟฟิสร้านไหนอร่อย วันหยุดเสาร์-อาทิตย์มีงานอดิเรกชอบทำอะไรบ้าง คำถามง่าย ๆ ที่ไม่เจาะลึกในเรื่องส่วนตัวมากเกินไปเป็นคำถามกว้าง ๆ ที่จะทำให้คุณนั้นเริ่มเปิดบทสนทนาได้ดี 

สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเจนเนอเรชั่นใด เบบี้บูมเมอร์ เจน-เอ็กซ์ มิลเลนเนียล หรืออื่น ๆ เราทุกคนคือมนุษย์ ดังนั้นจงปฏิบัติทุกคนด้วยความเคารพที่พวกเขาสมควรได้รับ และเราเชื่อว่าคุณเองก็จะได้รับความเคารพจากคนดี ๆ กลับมาเช่นเดียวกัน การเปิดใจให้กว้างไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่เปิดใจให้คนรุ่นเก่า คนรุ่นเก่าเปิดใจให้คนรุ่นใหม่ เป็นการปรับตัวที่มีความสำคัญทั้งสิ้น เพราะไม่อาจที่จะคาดหวังได้เลยว่า หวังให้คนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง ปรับตัวหาอีกฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อหาทางมาอยู่ตรงกลาง และก่อเกิดสังคมการทำงานที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส