‘ก้อนเมฆก้อนนั้นเหมือนยีราฟเลยอะ’ ‘ต้นไม้ต้นนั้นเหมือนคนเลยเนอะ’ วลีเหล่านี้มักปรากฏขึ้นเมื่อใครบางคนสังเกตเห็นวัตถุที่มีลักษณะคล้ายกับสิ่งมีชีวิต ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ‘Pareidolia’ (แพริโดเลีย)
Pareidolia เป็นกลไกตามธรรมชาติของสมองที่เชื่อมโยงภาพที่เราเห็นไปเทียบคลังของความทรงจำและกระบวนการคิดของเราแบบอัตโนมัติ และตีความออกมาเป็นผลลัพธ์ว่าอันนั้นเหมือนสิ่งนี้ สิ่งนี้เหมือนสิ่งโน้น โดยคนบางส่วนเชื่อว่าวิวัฒนาการของสมองสร้างกลไกนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นสัญชาติในการเอาตัวรอดจากอันตรายตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์
Para = ขนาน หรือ เทียบเคียง, Eidolon = รูปทรง หรือ รูปร่าง
Pareidolia = การเทียบเคียงระหว่าง 2 สิ่งที่มีรูปร่างคล้ายคลึงกัน
ปรากฏการณ์ Pareidolia ถูกนำมาใช้อธิบายเรื่องราวของมนุษย์ได้อย่างน่าสนใจ เพราะปรากฏการณ์นี้อาจทำให้สมองของเราสร้างความจริงเกี่ยวกับการเห็นใบหน้าของคนที่ฝังอยู่ในต้นไม้ วิญญาณในรูปถ่าย ปีศาจที่มุมห้อง หมู่ดาวบนท้องฟ้าที่ดูเหมือนตาชั่งหรือสิงโต กระต่ายในพระจันทร์ ตลอดจนสุนัขชิวาวาที่อยู่ในคุกกี้และคัปเค้ก
นอกจากนี้ Pareidolia ไม่ได้เกิดขึ้นกับภาพที่ตาเห็นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งที่คนเราได้ยินด้วย อย่างคนที่ได้ยินเสียงเด็กทารกร้อง ทั้งที่เป็นเสียงแมว หรือเสียงลมพัดใบไม้ที่ฟังหวีดหวิวยามค่ำคืนอาจถูกสมองตีความเป็นเสียงกรีดร้องโหยหวนของวิญญาณผีผู้หญิง
มนุษย์อาจใช้ประโยชน์ของ Pareidolia ในแง่ของการสร้างจินตนาการเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือทำให้รู้สึกกลัวเมื่อเข้าไปในที่ที่ดูไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจช่วยชีวิตเราได้ อย่างการเข้าไปในป่า หรือที่มืด ๆ ที่อาจมีสัตว์ป่า หรือสัตว์มีพิษซ่อนอยู่ไม่ใช่ผีหรือวิญญาณแต่อย่างใด ไปจนกระทั่งเอามาสร้างภาพตลกบนโลกออนไลน์ นอกจากนี้ เคยมีการประมูลขนมปังปิ้งที่มีรอยไหม้คล้ายกับพระแม่มารีในราคา 28,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 1 ล้านบาท
ที่มา: Psych Central, Futurism
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส