ชีวิตคนเราไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นเสมอไป เมื่อความท้าทายที่คุณเผชิญอยู่ยากเกินกว่าที่จะรับมือ อาจทำให้สุขภาพทางอารมณ์ของคุณต้องเสียไปอย่างง่ายดาย อาจต้องถึงเวลาที่คุณควรจะหันมาดูแลร่างกายและจิตใจของตนเองเสียที
วิธีการดูแลตนเองนั้นไม่เหมือนกันทุกคน เพราะทุกคนต่างมีความชอบ และความต้องการที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือต้องคิดถึงความต้องการในปัจจุบันที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง และการดูแลตนเองที่เหมาะกับกิจวัตรประจำวัน
ทำความเข้าใจตัวเอง
หากคุณอยากหันมาให้เวลาใส่ใจร่างกายและจิตใจของตัวเองมากขึ้น แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร สิ่งแรกให้คุณลองตั้งคำถามกับตัวเอง ดังต่อไปนี้
1.ฉันเห็นด้วยกับวิธีที่คนอื่นใช้หรือไม่ ?
แผนการดูแลตัวเองของคุณจะไม่มีประโยชน์มากนัก หากคุณไม่นำไปปฏิบัติ บางทีคุณอาจได้อ่านเกี่ยวกับประโยชน์ของการทำสวนและต้องการเริ่มทำสวน แต่คุณไม่ชอบดิน ด้วง และหนอน แม้ว่าคุณจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องบังคับตัวเองให้ทำสิ่งที่คุณไม่ชอบ
โปรดจำไว้ว่าคุณมีตัวเลือกอื่นมากมายที่เหมาะสมสำหรับการทำกิจกรรมเพื่อบำบัดจิตใจตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องทำตามวิธีของคนอื่น
2.การเงินเป็นปัจจัยสำคัญหรือไม่ ?
สมมุติว่าคุณตัดสินใจจ่ายค่าฟิตเนส หรือโรงยิมราคาแพง โดยมีเป้าหมายเพื่อออกกำลังกายให้มากขึ้น แต่หากคุณหยุดออกกำลังกายไปเพียงสัปดาห์ละครั้ง แล้วคุณรู้สึกเครียดจากค่าใช้จ่ายที่เสียไป มากกว่าการเติมพลังจากกิจกรรมนี้ แปลว่าสิ่งนี้อาจไม่เหมาะกับคุณ
ในเวลาเดียวกัน ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่จะใช้เงินกับสิ่งที่ได้ผลจริง ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารกลับบ้านในคืนที่ทำงานอย่างหนัก แทนที่จะพยายามทำอาหารกินเอง จะเรียกว่าเป็นการใช้เงินแก้ปัญหาที่แลกมาด้วยความคุ้มค่า คือ ให้ร่างกายของคุณได้พักผ่อนจากความเหนื่อยล้าบ้าง
3.ฉันพยายามทำเกินไปหรือเปล่า ?
คุณสามารถทำลายตัวเอง ทั้งที่คุณตั้งใจจะดูแลตนเองแท้ ๆ การมีตารางกิจกรรมมากเกินไปเพื่อเสริมสร้างสุขภาพอาจทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายได้ แต่ขณะเดียวกันอะไรที่มากเกินไปก็อาจเป็นภาระได้เช่นกัน แม้กระทั่งเรื่องสนุก ๆ ก็อาจจะเพิ่มความเครียดให้คุณได้ เนื่องจากสิ่งนี้ทำให้คุณไม่มีเวลามานั่งคิดทบทวนความคิดของตัวเอง ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญของการดูแลตนเองเช่นกัน
4.ฉันมีเวลาไหม ?
เมื่อพูดถึงการดูแลตัวเอง แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดหมายถึงการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ การดูแลตัวเองควรเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เมื่อคุณรู้สึกเครียดที่สุดเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้วการดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยป้องกันไม่ให้คุณเกิดความเครียดสูงตั้งแต่แรก พยายามตั้งเป้าหมายการดูแลตัวเองที่คุณสามารถทำได้ควบคู่ไปกับงาน และความรับผิดชอบอื่น ๆ
5.อะไรที่ใช้ได้ผลในอดีต ?
สุดท้ายคุณอาจลองนึกถึงเวลาที่คุณรู้สึกมีความสุขและคิดบวกเกี่ยวกับชีวิต แม้ว่าคุณจะต้องย้อนกลับไปยังวัยเด็กหรือวัยรุ่นตอนปลายก็ตาม เมื่อคุณจำมันได้ว่าอะไรคือความสุขที่แท้จริงในช่วงวัยที่คุณไม่ต้องมีภาระหรือความกดดันต่าง ๆ เท่าตอนนี้ บางทีคุณอาจลองนำความสุขในวัยเด็กกลับมาเป็นตัวช่วยให้การฟื้นฟูจิตใจในวัยผู้ใหญ่นี้ได้
ทบทวนความต้องการทางกายภาพของคุณ
1.การนอนหลับ
โดยปกติผู้ใหญ่จะต้องการการนอนหลับประมาณ 7-9 ชั่วโมงในแต่ละคืน การนอนหลับที่มีคุณภาพไม่เพียงพอเป็นประจำอาจส่งผลต่ออารมณ์ สมาธิ และสุขภาพของคุณ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถนอนหลับได้ครบตามจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสม แต่คุณสามารถปรับปรุงทั้งปริมาณและคุณภาพของการนอนหลับได้ด้วยตัวคุณเอง โดยวิธีที่ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น เช่น การรับประทานอาหารที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และงดกินอาหารมื้อดึก เป็นต้น
2.ดูแลสุขภาพ
การดูแลตนเองที่ดีอาจเกี่ยวข้องกับการเลิกกลัวการไปพบแพทย์และตรวจข้อกังวลต่าง ๆ อย่างทันท่วงทีเพราะการไปพบแพทย์เป็นประจำสามารถช่วยให้คุณพบข้อกังวลด้านสุขภาพได้ตั้งแต่ระยะแรกก่อนที่จะลุกลามร้ายแรง ปัญหาที่เริ่มต้นเล็ก ๆ อาจแย่ลงอย่างรวดเร็วและส่งผลต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ เช่น การนอนหลับ และปัญหาเกี่ยวกับความอยากอาหาร
3.โภชนาการที่ดี
การรับประทานอาหารที่สมดุลและเลือกอาหารที่บำรุงร่างกายเป็นส่วนใหญ่มากกว่าอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพียงเล็กน้อยจะช่วยปกป้องสุขภาพของคุณได้อย่างแน่นอน
4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายอาจรู้สึกเหมือนเป็นงานที่น่าเบื่อเมื่อคุณไม่ชอบสิ่งนี้ ให้คุณลองหากิจกรรมที่ช่วยขยับร่างกายไม่ต้องหนักมากแต่เน้นการยืดหยุ่นร่างกายแทน เช่น โยคะ ก็จะสามารถช่วยผ่อนคลายร่างกายและทำให้คุณมีสติและสมาธิมากขึ้นด้วย
ความต้องการของจิตใจ
1.ลดความเครียด
ระดับความเครียดมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพจิต วิธีเริ่มต้นที่ดีคือสำรวจสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังทำให้คุณเครียด ค่อย ๆ คิดหาวิธีรับมือกับปัญหานั้น ๆ อย่างเป็นขั้นตอน พยายามมีสติอยู่เสมอจะช่วยให้คุณจัดการกับทุกปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
การใช้เวลาในการพัฒนาตัวเองเป็นอีกวิธีหนึ่งในการดูแลตัวเอง สิ่งนี้สามารถนำคุณไปสู่การมีชีวิตที่ดีและมีความหมายมากขึ้น คุณจะได้รับประโยชน์จากการเติบโต ที่สำคัญอย่าลืมที่จะปล่อยตัวเองและผ่อนคลายเป็นครั้งคราว เพื่อให้สมองของคุณมีพื้นที่ในการเติมพลัง
หากความสนใจของคุณหลุดลอยไปบ่อย ๆ นี่อาจบ่งบอกว่าคุณไม่ได้ผ่อนคลายทางจิตใจเพียงพอ การดูแลตัวเองสำหรับคุณจึงอาจรวมถึงการพักเทคโนโลยีเมื่อคุณรู้สึกว่าสิ่งนี้รบกวนจิตใจมากเกินไป ลองทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น วาดรูป เดินเล่นชมธรรมชาติ หรืองีบหลับสั้น ๆ เพื่อให้สมองได้พักผ่อน
3.การมีสติสัมปชัญญะ
เป็นเรื่องยากที่จะให้อารมณ์นำทางเมื่อคุณไม่รู้ว่ามันหมายถึงอะไร อย่างแรกให้ตั้งเป้าหมายที่จะใช้เวลาอยู่กับความรู้สึกของตัวเองให้มากขึ้น เพราะจะทำให้ง่ายต่อการรับรู้ความต้องการทางอารมณ์ของตัวเอง
หากคุณมีปัญหาในการเชื่อมต่อกับความรู้สึก การทำสมาธิหรือการเขียนบันทึกอาจเป็นส่วนเสริมที่ดีในแผนการดูแลตัวเองของคุณ รวมถึงการแบ่งปันความรู้สึกของคุณกับคนที่คุณไว้ใจก็สามารถช่วยได้เช่นกัน
5.มองหามิตรภาพ
หากคุณรู้สึกเหงาอยู่บ่อย ๆ คุณอาจต้องใช้เวลาเชื่อมต่อกับคนใกล้ชิดมากขึ้น คุณสามารถเติมเต็มความต้องการในการเข้าสังคมได้ด้วยการใช้เวลากับเพื่อนและคนที่คุณรัก รวมถึงการแยกตัวออกไปและสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ในชุมชนต่างถิ่นก็สามารถให้ประโยชน์ได้เช่นกัน
6.ความรัก
หากคุณคิดว่าตัวเองไม่มีคนรักอยู่ข้าง ๆ และคุณกำลังต้องการความรักมากขึ้นในชีวิต คุณอาจเริ่มจากการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสักตัว พวกเขาไม่เพียงให้ความรักและความเป็นเพื่อนเท่านั้น แต่บางครั้งพวกเขายังเป็นตัวช่วยที่ผลักดันให้คุณออกไปวิ่งเล่นตามสนามหญ้าที่ต่าง ๆ ได้ด้วย
7.หาเวลาส่วนตัวให้ตัวเอง
ทุกคนต้องการเวลาพักผ่อนของตัวเอง ใช้เวลาส่วนตัวจากการทำงานบ้าง รวมถึงให้เวลากับงานอดิเรกที่คุณชื่นชอบ ไม่ว่าคุณจะเลือกใช้เวลาอย่างไร ให้นึกเสมอว่าการหาเวลาส่วนตัวให้ตัวเองเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพทางอารมณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง
เมื่อไหร่ที่คุณควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
หากคุณมีอาการรุนแรงหรือน่าวิตกกินเวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป และส่งผลกระทบต่อร่างกายและอารมณ์ เช่น
- นอนหลับยาก
- การเปลี่ยนแปลงของความอยากอาหาร ที่ส่งผลให้น้ำหนักเปลี่ยนแปลงตามมา
- สะดุ้งตื่นบ่อย ๆ
- ไม่มีสมาธิ
- หมดความสนใจในสิ่งที่ปกติคุณมักจะสนุกกับมัน
- ไม่สามารถทำหน้าที่และรับผิดชอบหน้าที่ประจำวันตามปกติได้
อย่ารอจนอาการหนัก แนะนำให้คุณปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อการฟื้นฟูสภาพจิตใจของตนเอง
วิธีในการดูแลตัวเองของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และคำแนะนำนี้อาจไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด สิ่งสำคัญคือให้คุณลองสังเกตดูว่าในแต่ละวันเหตุการณ์ไหน หรืออะไรที่ทำให้คุณยิ้มและมีความสุขได้ พยายามนึกถึงสิ่งดี ๆ และพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ทำให้ร่างกายและจิตใจของตัวเองผ่อนคลายที่สุด อย่าลืมว่าการรักตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ห้ามปล่อยให้ร่างกายและจิตใจของตัวเองเหนื่อยล้าจนเกินไป
ที่มา healthline , nimh
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส