โรคมะเร็งตับเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 1 ในผู้ชาย และอันดับ 3 ในผู้หญิง โรคมะเร็งตับเป็นผลจากที่เนื้อเยื่อของตับมีเซลล์ที่เป็นมะเร็งฝังตัวอยู่ ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ โดยสามารถโตขึ้นได้เรื่อย ๆ และเซลล์มะเร็งสามารถลุกลามไปฝังตัวในเนื้อเยื่อของอวัยวะอื่น
พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ร่วมกับการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานานเป็นปัจจัยที่พบได้บ่อย ซึ่งมีวิธีรักษาหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรง ความพร้อมของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์
ตับเป็นอวัยวะที่อยู่ด้านในหน้าท้องด้านขวาส่วนบน ด้านหลังของชายโครงส่วนล่าง มีหน้าที่ในการกักเก็บสารอาหาร กรองของเสียออกจากร่างกาย และสร้างน้ำดีเพื่อย่อยไขมัน และสลายของเสีย
อาการของโรคมะเร็งตับ
โรคมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อระยะของโรคดำเนินไปอาจพบกับอาการต่อไปนี้
- ปวดท้องหรือรู้สึกอึดอัดท้องบริเวณด้านขวาส่วนบน
- ท้องบวม มีก้อนแข็งจนสัมผัสได้บริเวณท้องด้านขวาใต้ชายโครง
- ปวดร้าวบริเวณสะบักขวา ปวดหลัง
- ดีซ่าน ผิวเหลือง ตาเหลือง
- เกิดรอยช้ำหรือเลือดออกตามร่างกายได้ง่าย
- เหนื่อยล้ามากกว่าปกติ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- อุจจาระสีซีดขาว ปัสสาวะสีเข้มคล้ายโคลา
- เป็นไข้
หากพบอาการใดอาการหนึ่ง หรือหลายอาการรวมกันจนเริ่มผิดสังเกต รู้สึกไม่สบายใจ หรือกระทบต่อชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจ
สาเหตุและปัจจัยของการเกิดโรคมะเร็งตับ
โรคมะเร็งตับเกิดได้จากหลายสาเหตุและปัจจัย โดยสาเหตุและปัจจัยเหล่านั้นทำให้เซลล์ของตับได้รับความเสียหายและเกิดการอักเสบติดต่อกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นระยะเวลาหลายปี จนเซลล์บริเวณตับเกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง
สาเหตุและปัจจัยของโรคนี้พบได้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่
1. น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
2. ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือซีเป็นเวลานาน
3. สูบบุหรี่
4. ดื่มแอลกอฮอล์หนักเป็นประจำ
5. โรคตับแข็ง เกิดได้จากดื่มแอลกอฮอล์ และการติดเชื้อตับอักเสบ
6. ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (มักเกิดจากอาหารไขมันสูง น้ำตาลสูง ไม่ออกกำลังกาย)
7. โรคเบาหวาน
8. ภาวะเหล็กเกิน ภาวะที่ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กมากผิดปกติ
9. รับประทานอาหารที่มีอะฟลาทอกซิน เชื้อราที่มักมากับอาหารแห้งที่เก็บไว้นานหรือเก็บรักษาไม่ดี เช่น ถั่วลิสง ถั่วแห้ง ธัญพืช หอมหัวใหญ่ เม็ดมะม่วง ปลาแห้ง กะปิ มะพร้าวแห้ง และอื่น ๆ
การวินิจฉัยและวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับ
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งตับสามารถทำได้หลายวิธี โดยแพทย์อาจเลือกใช้วิธีต่อไปนี้ในการวินิจฉัย
ตรวจร่างกายและซักประวัติสุขภาพ เช่น การตรวจสัญญาณสุขภาพทั่วไป คลำหาก้อนแข็งบริเวณหน้าท้องด้านขวาส่วนบน ซักประวัติการเจ็บป่วยในอดีตที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งตับ อย่างประวัติการติดเชื้อ
ตรวจเลือด เพื่อหาสารเคมีที่อาจบ่งบอกถึงโรคมะเร็งและเพื่อเช็กการทำงานของร่างกาย
- อัลฟาฟีโตโปรตีน (Alpha-fetoprotein) ผ่านการตรวจเลือด อัลฟาฟีโตโปรตีนเป็นสารเคมีที่นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งภายในร่างกาย ทั้งโรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ รวมถึงบางโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง อย่างโรคตับแข็ง และตับอักเสบ ซึ่งเกี่ยวกับโรคมะเร็งตับ แต่บางกรณีในคนที่เป็นมะเร็งอาจมีอัลฟาฟีโตโปรตีนในระดับปกติได้เช่นกัน
- ตรวจค่าการทำงานของตับเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของตับว่ายังคงสามารถทำงาน อย่างการเก็บสารอาหาร และการกรองของเสียออกจากร่างกายเพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัย
การถ่ายภาพภายในร่างกายเพื่อหาก้อนมะเร็ง
- ซีทีสแกน หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography: CT scan)
- เอมอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging:MRI) หรือการคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
- อัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง
การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) เป็นการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อบริเวณตับเพื่อหาร่องรอยของโรคมะเร็ง โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่ มีตั้งแต่การใช้เข็มที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเจาะเข้าไปเพื่อเก็บตัวอย่าง หรือใช้วิธีผ่าตัดขนาดเล็กเพื่อส่องกล้อง และเก็บตัวอย่าง
PET scan (Positron Emission Tomography) เป็นการฉีดน้ำตาลกลูโคสที่ผสมรวมเข้ากับสารกัมมันตรังสีในปริมาณที่เหมาะสมเข้าไปภายในร่างกาย และเข้าเครื่อง PET เพื่อหาตำแหน่งที่มีการกระจุกตัวกันของน้ำตาลที่ผสมรังสี ซึ่งเป็นบริเวณที่มะเร็งอยู่
การรักษาโรคมะเร็งตับ
โรคมะเร็งตับรักษาได้หลายวิธี ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับระยะ ตำแหน่ง ความพร้อมของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้
- การเฝ้าระวังและติดตามอาการเมื่อตรวจพบก้อนเนื้อที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร
- การผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกออก
- การปลูกถ่ายตับ ซึ่งต้องรอการบริจาคตับจากผู้ที่มีสุขภาพดี และสามารถเข้ากันได้กับผู้ป่วย
- การทำลายเซลล์มะเร็ง (Alation therapy) ที่ตับด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การใช้คลื่นวิทยา การใช้ความเย็น การใช้รังสี การใช้คลื่นไมโครเวฟ การใช้คลื่นไฟฟ้า
- การอุดหลอดเลือด (Embolization therapy) เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งน้อยลง ส่งผลให้เซลล์หยุดเติบโต
- การรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) ด้วยการใช้ยายามีที่ไปออกฤทธิ์บริเวณเนื้องอกมะเร็งโดยเฉพาะ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง และผลข้างเคียงต่ำกว่าการฉายรังสี และการใช้ยาเคมีแบบปกติ
- การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunothrpy) เป็นการใช้ยาเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ไปโจมตีเซลล์มะเร็ง
- การฉายรังสี (Radiation therapy) เป็นการใช้รังสีที่มีความเข้มข้นฉายลงไปบริเวณที่เป็นมะเร็ง แต่วิธีนี้มักส่งผลต่อเซลล์ปกติในบริเวณใกล้เคียงเซลล์มะเร็ง และเกิดผลข้างเคียงตามมา
วิธีป้องกันโรคมะเร็งตับ
โรคมะเร็งตับเกิดได้จากหลายสาเหตุและปัจจัย ซึ่งการเลี่ยงและการลดสาเหตุและปัจจัยเหล่านี้อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งตับได้
- การรับวัคซีนตับอักเสบ
- งดหรือลดการสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไขมันต่ำ หวานน้อย
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- ลดการสัมผัสกับอะฟลาท็อกซินที่มาจากอาหารแห้ง
- เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งในความถี่ที่เหมาะสม ผู้ชายเริ่มตรวจเมื่ออายุ 40 ปี ผู้หญิงเริ่มตรวจเมื่ออายุ 50 ปี
ที่มา: cancer.gov, Cleveland Clinic
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส